ศุภชัยยืนยันพร้อมทำไฮสปีดเชื่อมสนามบินให้สำเร็จ มั่นใจเป็นตัวจุดประกายอีอีซีดันไทยสู่เกตเวย์ของเอเชียแปซิฟิก

Forbes Thailand ลงบทสัมภาษณ์ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เกี่ยวกับความพร้อมในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
------------------------------- 

รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินโครงสร้างธุรกิจใหม่ “เครือซีพี”

องค์กรมูลค่าล้านล้านอย่าง “เครือซีพี” กำลังแตกไลน์จากธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมการเกษตร-อาหารไปสู่ บริการขนส่งมวลชน-อสังหาริมทรัพย์
ด้วยการคว้าสิทธิ์โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อปลาย ปี 2562 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่เครือซีพีกำลังจะเริ่มต้นขึ้น

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นสัญญาการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่ากว่า 2.2 แสนล้านบาท

นับเป็นเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่สุดในโครงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน-ออก (EEC) หลังจากใช้เวลาเตรียมการก่อนการประมูลโครงการไม่ต่ำกว่า 2 ปี โดย คณะทำงานมั่นใจว่า ‘รถไฟความเร็วสูง’ สายแรกของไทยนี้จะเริ่มก่อสร้างได้ใน 12 เดือนหลังเซ็นสัญญา และจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปี หรือภายในปี 2566 ข้อมูลข้างต้นคือเนื้อหาที่เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์อีอีซีในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลโครงการนี้โดยตรง
 
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร (CEO) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวถึงความพร้อมในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเครือซีพีและพันธมิตรในกลุ่ม CPH คว้าสิทธิ์เป็นผู้ได้สัมปทานการพัฒนาว่ากรอบเวลาตามหลักคือทางกลุ่มต้องได้สิทธิ์ที่ดินได้เริ่มก่อสร้างภายในปีนี้

โดยรัฐบาลมีแผนงานว่า 1 ปี หลังลงนามต้องเริ่มก่อสร้างได้ หลังจากนั้นใช้เวลา 5 ปีในการสร้าง ซึ่งการแล้วเสร็จอาจไม่ทันปี 2566 ตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ แต่อาจจะได้ในปี 2568 เนื่องจากภายในปีนี้คาดว่าจะมีการมอบที่ดินได้บางส่วน

“รัฐเร่งอยากให้เริ่มสร้างเร็วทีมเราก็ค่อนข้างพร้อมเรามี operating partner จากอิตาลี เรามีบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ ทั้งอิตาเลียน-ไทย, ช.การช่าง และซีอาร์ซีซี ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟไฮสปีดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเรามีพาร์ตเนอร์จากญี่ปุ่นด้านหัวรถไฟ” ศุภชัยเล่าโดยสรุปแต่ยังขอไม่ระบุชื่อพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่น บอกแต่เพียงความพร้อมของทีมงานที่เครือซีพีได้รวมพันธมิตรหลายบริษัทเข้ามาร่วมในกลุ่ม CPH ที่ค่อนข้างมั่นใจว่าพร้อมสำหรับการพัฒนาโครงการ 2.2 แสนล้านบาทนี้อย่างไม่ต้องกังวล

“รถไฟเราเซ็นสัญญาเมื่อ 24 ตุลาคม 2562 อยากเห็นภายใน 12 เดือน เริ่มก่อสร้างได้ก็ปลายปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า เรื่องเม็ดเงินก็อยู่ในขั้นเตรียมการ ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นี่ก็ผ่านมา 3 เดือนแล้ว (กุมภาพันธ์ 2563) เรามีสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศที่พร้อมสนับสนุน เรามีความตั้งใจทำให้กับประเทศ รถไฟเกิดโอกาสอีอีซีเป็นฮับได้สูง” ศุภชัยยืนยันและยอมรับว่า อีกเรื่องสำคัญที่ต้องทำคือต้องสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่มีผลกระทบจากการก่อสร้างเป็นอีกส่วนงานที่ต้องทำร่วมกับภาครัฐและภาคประชาสังคม

“เราพยายามเอาผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมา ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอยู่ตรงนี้ แน่นอนรถไฟมันมีผลด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว ไม่งั้นก็คงไม่เกิดตรงนี้ รถไฟความเร็วสูง ด้านสังคมเราต้องวางแผนผลกระทบที่ดีตลอดเส้นทาง ด้านสิ่งแวดล้อมต้องไม่เสียหายหรือกระทบน้อยที่สุด” ศุภชัยย้ำ
โครงการนี้มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ไม่รวมมักกะสัน ซึ่งมีพื้นที่พัฒนาที่ดินอีกต่างหาก มูลค่าเบื้องต้น 1.4 แสนล้านบาท อยู่ภายใต้สัญญานี้ด้วย จะแยกเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินต่างหาก ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการออกแบบซึ่งต้องให้บริษัทสถาปนิกระดับโลกมาช่วยออกแบบ โดยวางไว้ว่าจะใช้เวลาทำมาสเตอร์แพลนมักกะสัน ไม่เกิน 6 เดือน
 
แม่ทัพเครือซีพียังบอกด้วยว่า “เรามีความพร้อมและอยากทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ เพราะเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นตัวจุดประกายอีอีซี ซึ่งเรามั่นใจว่าอีอีซีจะเป็น gateway ของโลกที่จะเปิดเข้าสู่เอเชีย อาเซียน และเอเชียแปซิฟิก” เขายังเชื่อมั่นว่าตัวอีอีซี หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกนั้นมีศักยภาพพอที่จะทำให้ไทยเป็นฮับ หรือเป็นเกตเวย์ของเอเชียแปซิฟิก หรืออย่างน้อยก็เป็นหนึ่งใน major hub ของเอเชียแปซิฟิก

“ศักยภาพอีอีซีไม่มีข้อไหนเลยที่ด้อยกว่า สิงคโปร์หรือฮ่องกง อยู่ที่ความร่วมมือและความตั้งใจระหว่างภาครัฐและเอกชน”

โดยเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการส่งเสริมมีอยู่หลายด้าน เช่น เรื่องภาษีและ incentive ต่างๆ ที่รัฐบาลต้องดึงมาใช้ เพราะหากใช้กระบวนการบีโอไออาจช้าเกินไป ดังนั้นจึงต้องใช้กฎหมายอีอีซี และต้องพยายามดึงผู้ประกอบการระดับโลกเข้ามาลงทุน “ต้องมีโรงงานระดับ regional factory, regional office, regional cloud มาอยู่ในไทย ผู้ประกอบการเหล่านี้เขาต้องการ incentive ต้องการ one stop service ซึ่งเวียดนามตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ ไทยต้องพยายามทำให้ได้เช่นกัน

“การเปลี่ยนแปลงของโลกและดิสรัปทีฟ เทคโนโลยีมาพร้อมโอกาสมากมายทางเศรษฐกิจและวิกฤตที่ปรับตัวไม่ได้ ความผันผวนมาพร้อมศักยภาพในการบริหารจัดการความยั่งยืน ทำให้เกิด circular economy เศรษฐกิจที่หมุนเวียน” ศุภชัยย้ำและว่าการดิสรัปต์ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจแต่กระทบในทางบวกต่อกระบวนการความยั่งยืน และกระบวนการด้านสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยขับเคลื่อน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่