ภาพโมเสคสุดท้ายของการยุติภารกิจกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์





5 วันก่อนที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ขององค์การนาซาจะสิ้นสุดภารกิจเมื่อ 30 ม.ค.2563 นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้กล้องอินฟราเรดของสปิตเซอร์ถ่ายภาพหลายภาพภูมิภาคของเนบิวลาแคลิฟอร์เนีย (California nebula) คือเนบิวลาชนิดเรืองแสงในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส และเป็นเป้าหมายการศึกษาและปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของเจพีแอล หรือห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory-JPL) และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือแคลเทค (California Institute of Technology-CalTech) ในสหรัฐอเมริกา ภาพโมเสคนี้ทำจากภาพถ่ายเหล่านั้น เป็นภาพชุดสุดท้ายของกล้องสปิตเซอร์ 

เนบิวลาแคลิฟอร์เนีย ตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,000 ปีแสง รูปทรงดูยาวและแคบโค้งไปทางขวาใกล้ด้านล่าง แสงที่มองเห็นมาจากก๊าซในเนบิวลาที่ถูกทำให้ร้อนโดยดาวฤกษ์มวลมากที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งชื่อว่า Xi Persei หรือ Menkib มุมมองอินฟราเรดของสปิตเซอร์ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติที่แตกต่าง นั่นคือฝุ่นอุ่นคล้ายเขม่าผสมกับก๊าซ ฝุ่นได้ดูดซับแสงที่มองเห็นและรังสีอัลตราไวโอเลตจากดาวฤกษ์ใกล้เคียงแล้วปล่อยพลังงานที่ดูดกลืนกลับมาเป็นแสงอินฟราเรด
อย่างไรก็ตาม เนบิวลาแคลิฟอร์เนียไม่เคยได้รับการศึกษาโดยกล้องสปิตเซอร์มาก่อน แต่เนื่องจากมันมีแนวโน้มจะมีคุณสมบัติอินฟราเรดที่โดดเด่นและมีศักยภาพในการส่งมอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้มาก ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์บางคนก็อาจใช้ข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์ต่อได้.

 

แคลิฟอร์เนียเนบิวลา (NGC 1499)



แคลิฟอร์เนียเนบิวลา (NGC 1499) คือเนบิวลาเปล่งแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) ค้นพบโดย E. E. Barnard ในปี ค.ศ. 1884 ชื่อของมันมาจากรูปร่างที่เห็นจากภาพถ่ายที่ดูคล้ายรัฐแคลิฟอร์เนีย มันมีขนาดใหญ่มากประมาณ 2.5° บนท้องฟ้าแต่ความสว่างต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่น้อยทำให้มองเห็นได้ยากแต่ถ่ายภาพติดไม่ยาก



กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope)


 
 กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือนาซา ได้ยุติภารกิจศึกษาจักรวาลด้วยแสงอินฟราเรดหลังจากใช้งานมานานกว่า 16 ปี วิศวกรที่ดูแลภารกิจสปิตเซอร์ยืนยันว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ถูกวางในเซฟโหมดหรือเครื่องจะอยู่ในสถานะถูกจำกัดทำงาน โดยยุติการปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด

กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยจรวด ณ แหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2546 เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ศึกษาเอกภพในช่วงคลื่นอินฟราเรด (Infrared) มีชื่อเดิมคือ “กล้องสังเกตการณ์อินฟราเรด (Space Infrared Telescope Facility : SIRTF)”
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์สามารถสังเกตแหล่งกำเนิดรังสีอินฟราเรดที่เบาบางได้อย่างดีเยี่ยม เนื่องจากไม่มีชั้นบรรยากาศโลกมารบกวน และยังอยู่ในสภาวะเย็นจัดได้ถึงอุณหภูมิ -267 องศาเซลเซียส สามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าที่มีอุณหภูมิต่ำได้ เช่น ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ดาวแคระน้ำตาล วัตถุอวกาศเก่าแก่ และกลุ่มแก๊สและฝุ่นในอวกาศ  สปิตเซอร์มีวงโคจรเป็นแบบ Heliocentric ซึ่งโคจรตามโลกไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ใช้เวลา 1 ปี

เมื่อทำงานร่วมกับ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) สามารถตรวจพบกาแล็กซีห่างไกลถึง 13,400 ล้านปีแสง และพบว่ากาแล็กซีเก่าแก่เหล่านี้มีมวลมากกว่าที่นักดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้มาก อีกทั้งยังสามารถสังเกตฝุ่นแก๊สในกาแล็กซีได้ดี ประกอบกับการใช้เทคนิคทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า “สเปกโทรสโคปี (Spectroscopy)” ช่วยให้สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นแก๊สเหล่านี้ได้

หลังจากภารกิจพุ่งชนดาวหาง (Deep Impact) ในปี พ.ศ. 2548 กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์เป็นส่วนสำคัญใช้ศึกษาเศษฝุ่นที่ฟุ้งกระจายหลังจากการชน และยังค้นพบวงแหวนบาง ๆ บนดาวเสาร์ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลไม่สามารถสังเกตได้

นักดาราศาสตร์รวมข้อมูลภาพถ่ายฝุ่นหนาแน่นในอวกาศในช่วงคลื่นอินฟราเรดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ กับภาพในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และข้อมูลในช่วงคลื่นเอ็กซ์เรย์ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติของวัตถุเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

นอกจากภารกิจหลักแล้ว กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ยังค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะถึง 5 ดวง ด้วยวิธีการเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ (Transit Method) และสามารถศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเหล่านี้ได้ด้วย

ตลอดเวลากว่า 16 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ช่วยให้นักดาราศาสตร์ค้นหาและไขปริศนาของระบบสุริยะ ศึกษากระบวนการก่อตัวของกาแล็กซีและวิวัฒนาการของเอกภพ รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ทางฟิสิกส์หลายด้าน และปฏิวัติองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก

กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์มีกำหนดปลดประจำการตั้งแต่ปี 2561 แต่เลื่อนกำหนดการ เนื่องจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ยังไม่พร้อมปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลานั้น จึงใช้งานกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์มาถึงปัจจุบัน และปลดประจำการในวันที่ 30 มกราคม 2563

ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์มีกำหนดปล่อยตัวในปี 2564 ใช้ศึกษาเอกภพในช่วงคลื่นอินฟราเรดเช่นเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ คาดว่าจะเป็นกล้องที่มีประสิทธิภาพ ช่วยปฏิวัติความความรู้ทางดาราศาสตร์ได้ไม่น้อยกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์อย่างแน่นอน
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง :
https://www.nasa.gov/…/nasa-celebrates-the-legacy-of-the-sp…






ผลงานชิ้นแรก  คือภาพที่ส่งมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2546 คือ ดาราจักรรูปเกลียว M 81 ซึ่งอยู่ทางเหนือของกลุ่มดาวหมีใหญ่ ไกลจากโลก 12 ล้านปีแสง แสดงความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ในการถ่ายภาพอวกาศที่ถูกปกคลุมด้วยกลุ่มก๊าซที่หนาแน่นซึ่งกล้องโทรทรรศน์แสงไม่สามารถมองเห็นได้ ทำให้เห็นการก่อกำเนิดของดาวฤกษ์และเห็นใจกลางของดาราจักร





ผลงานสร้างชื่อของสปิตเซอร์  ก็คืออาจตรวจจับดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลก 7 ดวงในระบบดาวแทรปพิสต์-วัน (TRAPPIST-1) 





ทางช้างเผือกสีแดงจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ โดยระบุ “ศูนย์กลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราซ่อนอยู่ในกลุ่มเมฆฝุ่นและแก๊ส ไม่สามารถสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น แต่จากมุมมองของ "กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์" ที่ศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดสามารถส่องผ่านฝุ่นจำนวนมาก เผยให้เห็นดวงดาวที่อยู่กันอย่างหนาแน่นบริเวณใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก 
Cr.https://siamrath.co.th/n/116437
 




ภาพโมเสคของท้องฟ้าขนาดใหญ่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา แสดงภาพครอบครัวดาวฤกษ์  กลุ่มดาวหลายดวงที่เกิดจากกลุ่มก๊าซและฝุ่นหนาแน่น รวมถึงกระจุกดาวบางแห่งที่มีอายุเก่าแก่และมีวิวัฒนาการอย่างมาก


(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่