วางแผนการเงินอย่างไรให้มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน

วางแผนการเงินอย่างไรให้มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน

17 ตุลาคม ค.ศ. 1987 ประชาชนกว่า 100,000 คนมารวมตัวกัน ณ จัตุรัสสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้เกียรติแก่เหยื่อของความยากจน ความอดอยาก ความรุนแรงและความกลัว หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1992 องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันที่ 17 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันเพื่อการขจัดความยากจนระหว่างประเทศหรือวันยุติความยากจนสากล (International Day for the Eradication of Poverty)
การพึ่งพาตนเองและรู้จักความพอเพียงเท่านั้นที่จะเป็นหนทางการขจัดความยากจนอย่างยั่งยืน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”
 
บันได 4 ขั้นที่เป็นแนวทางการขจัดความยากจนแบบง่ายๆ ที่ทุกคนเริ่มต้นทำได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ชีวิตมีความมั่งคั่งมีความมั่นคงและยั่งยืนมีดังนี้

1. การสร้างความมั่งคั่ง การขจัดความยากจนต้องเริ่มต้นจากการรู้จักประกอบสัมมาชีพให้ได้รายได้มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว แต่การหารายได้ให้สร้างความมั่งคั่งเพื่อขจัดความยากจนให้หมดลงอย่างสิ้นเชิง ก็จะต้องเป็นการประกอบอาชีพที่เรารักและถนัด รวมทั้งเป็นอาชีพที่ยังอยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน การทดสอบความถนัดทางอาชีพรวมไปถึงการค้นหาแนวทางในการประกอบธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ในปัจจุบันสามารถค้นหาได้อย่างง่ายดายผ่านทางอินเตอร์เน็ตในยุคประเทศไทย 4.0 เพียงแค่ว่าเรามุ่งมั่นที่จะตั้งต้นค้นหาวิถีการสร้างรายได้ที่เหมาะกับเราหรือยังเท่านั้นเอง

2. การปกป้องความมั่งคั่ง บางครั้งความยากจนอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความขี้เกียจ หากแต่บางครั้งก็เกิดขึ้นเพราะโชคชะตา หลายคนหลายครอบครัวอาจยากจนจากเหตุที่ไม่คาดฝันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆที่ทำให้ต้องเสียทรัพย์ เสียสุขภาพที่จะรายได้ในอนาคต เสียชีวิตของเสาหลักที่ค้ำจุนครอบครัว การวางแผนการประกัน ไม่ว่าจะเป็น การทำประกันชีวิต การทำประกันสุขภาพ และการทำประกันวินาศภัยที่อาจเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินมีค่าต่างๆ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้สามารถขจัดความยากจนแบบที่ไม่คาดฝันได้

3. การต่อยอดความมั่งคั่ง การขยันประกอบสัมมาชีพในปัจจุบันก็อาจไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะเป็นการขจัดยากจนได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากในปัจจุบันราคาสินค้า/บริการต่างๆ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือเกือบจะเป็นศูนย์ นอกจากนั้นแล้วคนไทยก็ยังมีอายุขัยยืนยาวมากขึ้น รวมทั้งบางคนก็อาจไม่มีลูกหลานดูแลยามแก่ชรา ซึ่งอาจส่งผลทำให้หลายคนต้องกลายเป็นคนยากจนในวัยหลังเกษียณ การขจัดความยากจนในช่วงอายุขัยที่เหลือที่แต่ละคนอาจไม่มีงานทำ อาจไม่มีลูกหลานดูแล แต่ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี จึงต้องอาศัยการวางแผนการลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งไว้ใช้ในวัยหลังเกษียณ

4. การถ่ายโอนความมั่งคั่ง การขจัดความยากจนอย่างยั่งยืนเพื่อให้มั่นใจว่าลูกหลานจะไม่กลายเป็นผู้ยากไร้ ก็ต้องรู้จักถ่ายโอนความมั่งคั่งไปยังทายาทให้เสียภาษีให้ถูกสตางค์และถูกกฎหมาย รวมทั้งวางแนวทางในการจัดการมรดก เขียนธรรมนูญครอบครัวเพื่อเป็นแนวทางในการขจัดความยากจนไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

บันได 4 ขั้นเพื่อขจัดความยากจนอาจเคยได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ทำไมหลายคนก็ยังไม่สามารถขจัดความยากจนได้อย่างสิ้นเชิงเสียที นั่นก็เพราะหลายคนเพียงแค่ฟังและคิด แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เคล็ดลับความสำเร็จของการขจัดความยากจนจึงอยู่ที่ประโยคสั้นๆว่า “Just Do It” เริ่มต้นค้นหาความรู้และแนวทางในการขจัดความยากจน และทำมันเดี๋ยวนี้ครับ

ดร.ธนาวัฒน์ สิริวัฒน์ธนกุล CFP®
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และ กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย
www.thaipfa.co.th
ศูนย์อบรม ThaiPFA
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่