การพยายามเชื่อมโยงราชวงศ์จักรี ว่าสืบทอดมาจากราชวงศ์สุโขทัย และราชวงศ์พระร่วง เริ่มขึ้นมาในตอนไหน

ที่ศึกษามาเหมือนจะมีหลายตำราที่มีการบอกถึงต้นตระกูลของ ร.1 ว่า
สืบทอดมาจากโกษาปาน ที่มีแม่เป็นเจ้าแม่วัดดุสิต
โดยมีต่อว่า เจ้าแม่วัดดุสิตนั้น เป็นเชื้อสายพระเอกาทศรถ แห่งราชวงศ์อู่ทอง
โดย พระเอกาทศรถ นั้นเป็นลูกของ พระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ) ที่สืบทอดเชื้อสายมาจาก ราชวงศ์พระร่วงแห่ง สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-พิษณุโลก ที่เป็นใหญ่ในหมู่เจ้านายฝ่ายเหนือ

ดังนั้น ราชวงศ์จักรี = เสมือนว่า สืบทอดความชอบธรรมในการครองแผ่นดินมายาวนานตั้งแต่ราชวงศ์พระร่วง ถ้านับตามมาตรฐานการสืบบัลลังค์แบบดั้งเดิมที่คุณสมบัติแค่การเป็นเชื้อพระวงศ์ และมีบุญญาธิการ ที่คนร่วมสนับสนุนให้ขึ้นเป็นพ่ออยู่หัวได้ ก็เป็นอันสำเร็จ

แต่หาไม่ได้จริงๆว่า ใครเป็นคนเริ่มแนวคิดสมมติฐานนี้ตามหนังสือประวัติศาสตร์และพงศาวดารต่างๆ ทั้งที่เราก็ยังไม่ได้มีข้อพิสูจน์จริงๆว่า เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นเจ้าหรือเป็นสามัญชน
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
หลักฐานที่เก่าแก่ที่ที่กล่าวถึงเรื่องนี้น่าจะเป็น พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง ระบุเรื่องบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีไว้ไกลสุดเพียงว่า ต้นตระกูลของพระองค์เป็นขุนนางชาวมอญจากเมืองหงสาวดีที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศมาอยู่ที่กรุงศรีอยุทธยา สืบสกุลมาจนถึงโกษาเหล็กและโกษาปาน   ไม่ได้ทรงอ้างเลยว่าบรรพชนของพระองค์เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์กรุงศรีอยุทธยา

พระราชนิพนธ์ "ปฐมวงศ์" ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ได้ระบุเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม มีข้อสันนิษฐานว่าเจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของโกษาเหล็กและโกษาปานอาจมีเชื้อสายราชวงศ์จริง  เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ร ตอนพระราชมารดาเลี้ยงของพระเจ้าเสือกราบทูลลาไปอยู่วัดดุสิต เรียกที่อยู่ของเจ้าแม่วัดดุสิตในวัดดุสิตว่า "พระตำหนัก"

        "ในขะณะนั้นสมเดจ์พระอัคมเหษีเดีมแห่งสมเดจ์พระพุทธิเจ้าหลวงในพระบรมโกฎ ซึ่งเปนพระราชมารดาเลยี้งของสมเดจ์พระเจ้าแผ่นดีน ได้อะภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่ยังทรงพระยาวนั้น ครั้งสมเดจ์พระพุทธิเจ้าหลวงเสดจ์สวรรคตแล้ว จึ่งทูลลาสมเดจ์พระเจ้าแผ่นดีน  เสดจ์ออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใก้ลพระอารามวัดดุสิต  แลที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เปนที่พระตำหนักมาแต่ก่อร  ครั้งแผ่นดีนสมเดจ์พระณรายเปนจ้าว  แลเจ้าแม่ผู้เถ้าซึ่งเปนพระนมเอกฃองสมเดจ์พระณรายเปนจ้าว แลเปนมารดาเจ้าพญาโกษาเหลก โกษาบ์าน ซึ่งได้ขึ้นไปช่วยกราบทูลฃอพระราชทานโทษสมเดจ์พระเจ้าแผ่นดีน ขะณะเมื่อเปนที่หลวงสุรศักดิ์  แลชกเอาบ์ากพญาวิไชยเญนครั้งนั้น  แลเจ้าแม่ผู้เถ้านั้นก็ได้ตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี้ ะ" - พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม (ชำระเสร็จก่อน พ.ศ. ๒๓๕๐ รัชกาลที่ ๑)

อย่างไรก็ตาม การที่เรียกว่า "พระตำหนัก" นี้อาจเป็นเพียงการยกย่องเพื่อให้เกียรติในฐานะพระนมก็ได้ ทั้งนี้ปรากฏในจดหมายเหตุของแกมป์เฟอร์สมัยสมเด็จพระเพทราชาว่า แม่นมได้รับความเคารพเสมือนกับแม่แท้ๆ  แม้แต่งานศพแม่นมของโกษาปานก็จัดอย่างยิ่งใหญ่มาก

หากเจ้าแม่วัดดุสิตเป็น "พระนมเอก" ตามที่พงศาวดารระบุไว้ ก็น่าเชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักสูง เพราะผู้ที่จะเป็นพระนมให้พระราชกุมารไม่ใช่ว่าจะเอาใครมาเป็นก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและเป็นที่ไว้วางพระทัย


หลักฐานที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นเชื้อสายราชวงศ์ปรากฏในงานเขียนสมัยหลังของราชสกุลราชวงศ์จักรีเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา   เช่น หนังสือ "ราชินิกูลรัชกาลที่ ๕" พระนิพนธ์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ระบุว่า  "พระบุรพชนทางพระชนก พระบุรพชนเป็นพระบรมราชวงศ์จักรี มาแต่หม่อมเจ้าบัว คือที่สมญาว่า "เจ้าแม่วัดดุสิต" เป็นราชตระกูลครั้งกรุงทวารวดี (กรุงเก่า)"


หนังสือ อภินิหารบรรพบุรุษ ซึ่งเชื่อว่าเป็นงานนิพนธ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ แต่งราวรัชกาลที่ ๕ กล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตว่า "...พระนมองค์หนึ่ง ซึ่งเปนหม่อมเจ้าหญิง ในราชนิกูลเปนพระนมเอก..."  เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์  "...จึ่งทรงตั้งหม่อมเจ้าพระนมนางขึ้นเปนพระองค์เจ้า แล้วจึ่งทรงสร้างวังตำหนักตึก ณ ที่ริมวัดดุสิดารามนอกกำแพงพระนคร ถวายพระองค์เจ้าพระนมนาง ให้เสด็จประทับอยู่เปนที่สำราญพระทัย ฯ  ครั้งนั้นชาวพระนครเรียกว่า เจ้าแม่วัดดุสิตตามที่สมเด็จพระนารายน์ทรงเรียกว่า เจ้าแม่..."  

อย่างไรก็ตามงานนิพนธ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบนั้นมักถูกวิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถืออยู่ในหลายประเด็น   และส่วนตัวผมเห็นว่าธรรมเนียมการยกหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้านี้เพิ่งมีในสมัยรัตนโกสินทร์   ยศพระองค์เจ้าก็เพิ่งปรากฏในช่วงรัชกาลพระเพทราชาเป็นต้นมา พงศาวดารฉบับเก่าๆ เดิมก็เรียกว่า "เจ้าพระองค์" มาปรากฏเรียก "พระองค์เจ้า" ในราวรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครับ


โครงกระดูกในตู้ ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๔ ระบุว่า "เจ้าพระยาโกศาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย"


ประวัติตระกูล "อิศรางกูร"  พิมพ์ในงานฌาปนกิจ ม.ล.ปุย อิศรางกูร พ.ศ. ๒๕๑๗ ระบุว่า  "เจ้าแม่วัดดุสิตจะมีนามว่ากระไรแน่นั้น หลักฐานกล่าวไว้ไม่ตรงกัน บางแห่งกล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงบัว มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางหลักฐานก็กล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘ ถึง ๒๑๖๓) ได้เป็นพระนมของสมเด็จพระนารายน์มหาราช  บางหลักฐานยังกล่าวต่อไปอีกว่า  ต่อมาเจ้าแม่วัดดุสิตยังได้เป็นพระอภิบาลของพระเจ้าน้องนางเธอของสมเด็จพระนารายน์มหาราช คือ พระราชกัลยาณี อีกด้วย ส่วนที่เรียกกันว่าเจ้าแม่วัดดุสิตนั้น น่าจะเป็นด้วยมีพระตำหนักอยู่ข้างหรือใกล้วัดดุสิต จะเป็นได้หรือไม่เพียงไร ? และภัสดาของเจ้าแม่วัดดุสิตที่เล่ากันว่าชื่อหม่อมเจ้าชายดำ ก็ยังเป็นที่สงสัยว่าจะเป็นการถูกต้องหรือไม่ บางหลักฐานก็ว่าชื่อหม่อมเจ้าอำไพ"


ในหนังสือเรื่อง "สมเด็จพระนารายณ์และโกษาปาน" ของ ม.ล.มานิจ ชุมสาย  ระบุว่ามีสมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษ มีบันทึกว่า "บรรพบุรุษคนแรกคือพระยาเกียรติ แม่ทัพมอญ ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมารับราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติ ได้แต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต สตรีสูงศักดิ์ของราชสำนัก"


ควรสังเกตว่าหลักฐานที่อ้างว่าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัยเพิ่งปรากฏในงานเขียนยุคหลัง  ในขณะที่งานเขียนเก่าๆ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเชื้อสายราชวงศ์ใด  ดังนั้นก็ควรพิจารณาความน่าเชื่อถืออย่างระมัดระวังครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่