อดอยาก! ตกงาน! มาดูตัวอย่างกันว่า คำว่า "ไม่มีอันจะกิน" นั้นเป็นอย่างไร?

***เนื้อหาในกระทู้นี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้และนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำหรือสร้างความขัดแย้งในสังคมแต่ประการใด***

         สำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านบทความยาวๆ ก็สามารถไปฟังคลิปกันได้นะครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

         หลายๆ คนอาจเคยได้ยินสำนวนที่ว่า "ไม่มีอันจะกิน" แต่ก็นึกภาพไม่ออกว่ามันเป็นอย่างไร แต่เมื่อคุณได้รู้เรื่องราวนี้คุณจะเห็นภาพของความไม่มีอันจะกินได้อย่างชัดเจน!

         ในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศไอร์แลนด์ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ความอดอยากยาวนานครั้งใหญ่ ผู้คนต้องตกงานและหิวโหยขนาดที่ไม่มีอาหารจะกิน ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า "วิกฤตการณ์มันฝรั่งในไอร์แลนด์" หรือ "ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์"

         จากชื่อก็คงบ่งบอกให้รู้ว่า สาเหตุของวิกฤตการณ์ความอดอยากในครั้งนี้ก็มาจาก "มันฝรั่ง" นั่นเอง!

         ในช่วงศตวรรษที่ 15 ชาวสเปนที่ได้เดินทางไปล่าอาณานิคมที่ทวีปอเมริกาได้นำมันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของที่นั่นกลับมาปลูกในยุโรป ด้วยความที่เป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และให้พลังงานแก่ร่างกายได้ดี จึงเหมาะต่อการนำมาใช้เป็นอาหารในการยังชีพของชาวยุโรปที่อยู่ในสภาพภูมิอากาศที่มีฤดูการเพาะปลูกเพียงระยะเวลาสั้นๆ โดยหลังจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา มันฝรั่งก็ได้กลายเป็นอาหารหลักของชาวยุโรปรวมทั้งพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปในหลายๆ ประเทศ ซึ่งไอร์แลนด์ก็นับเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น

         อย่างไรก็ตาม ชาวไอร์แลนด์ได้เลือกที่จะปลูกมันฝรั่งเพียงอย่างเดียวเพื่อนำมาใช้ในการยังชีพและเป็นพืชเศรษฐกิจในการค้าขาย จนแทบจะไม่มีการผลิตอาหารอย่างอื่นเลย มันฝรั่งจึงได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีพของชาวไอร์แลนด์ หรือจะเรียกว่าเป็น ชีวิต ของชาวไอร์แลนด์เลยก็ว่าได้
 
         และแล้วในปี ค.ศ.1846 เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อโรคระบาดในพืชที่เรียกว่า "โรคใบไหม้" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วประเทศไอร์แลนด์ และมันได้ส่งผลให้มันฝรั่งที่ปลูกในปีนั้นถูกทำลายจนหมด!
 
         ด้วยเหตุนี้ ชาวไอร์แลนด์ที่รับประทานมันฝรั่งเป็นอาหารหลักจึงประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร รวมทั้งปัญหาความยากจนเพราะไม่มีมันฝรั่งสำหรับค้าขาย มีเกษตรกรมากมายที่ต้องตกงานและเป็นหนี้จากการค้างค่าเช่าที่ดินเพื่อเพาะปลูก เหล่าเจ้าของที่ดินซึ่งส่วนมากเป็นเศรษฐีชาวอังกฤษก็ไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ อีกทั้งยังคงเรียกเก็บค่าเช่าที่ดินจากเกษตรกรชาวไอร์แลนด์ต่อไป แม้ทางรัฐบาลไอร์แลนด์จะพยายามแก้ปัญหาด้วยการออกนโยบายช่วยเหลือต่างๆ เช่น การก่อตั้งหน่วยงานเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ เพื่อจ้างงานผู้ที่ตกงาน หรือการแจกจ่ายอาหารและข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ ทว่ามันก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรเทาความอดอยากและขาดแคลนในครั้งนี้ได้
 
         ความอดอยากภายในประเทศได้บีบคั้นให้ชาวไอร์แลนด์เป็นจำนวนมากต้องอพยพข้ามน้ำข้ามทะเลหนีออกนอกประเทศเพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ยังประเทศอื่น โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักก็คือประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เรือที่ใช้สำหรับการอพยพนั้นก็เป็นเรือเก่าที่ใช้สำหรับขนส่งทาสซึ่งนำมาปรับแต่งให้รับจำนวนคนได้มากขึ้นแต่ก็มีความแออัดมากเช่นกัน มีผู้อพยพหลายชีวิตที่ต้องตายจากการขาดแคลนอาหารและโรคร้ายต่างๆ ขณะอยู่บนเรือ จนเรือเหล่านี้ได้ถูกตั้งชื่อว่า "เรือหีบศพ"
 
         วิกฤตการณ์ความอดอยากในไอร์แลนด์นั้นกินเวลานานถึง 6 ปีกว่าจะเริ่มบรรเทาลง และผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็คือ การเกิดกระแสชาตินิยมขึ้นในประเทศไอร์แลนด์ โดยชาวไอร์แลนด์ได้เริ่มมีความคิดที่จะปลดแอกตัวเองจากการปกครองโดยประเทศอังกฤษ เนื่องจากได้เห็นความเห็นแก่ตัวของเศรษฐีชาวอังกฤษที่เป็นเจ้าของที่ดิน และการเอารัดเอาเปรียบชาวไอร์แลนด์ในเรื่องต่างๆ จนนำไปสู่การทำสงครามประกาศอิสรภาพไอร์แลนด์ในเวลาต่อมา อีกทั้งยังเป็นที่มาของคำศัพท์ที่เราคุ้นหูกันดีนั่นก็คือคำว่า "บอยคอต" (Boycott) นั่นเอง!
 
         คลิปด้านล่างนี้จะเป็นการเล่าถึงที่มาของคำว่าบอยคอตนะครับ
 
 คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
         ที่มาของคำว่า "บอยคอต" ที่แปลว่า การคว่ำบาตร นั้นไม่ได้มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาละตินเหมือนกับศัพท์ภาษาอังกฤษคำอื่นๆ แต่มีที่มาจากชื่อนามสกุลของเศรษฐีอังกฤษคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของที่ดินในไอร์แลนด์นั่นคือ ชาร์ลส์ บอยคอต (Charles Boycott) ที่ได้ทำการกดขี่ข่มเหงแรงงานชาวไอร์แลนด์ในที่ดินของเขาด้วยการไม่ยอมลดค่าเช่าหรือผ่อนผันการจ่ายค่าเช่าที่ดินในขณะที่ไอร์แลนด์กำลังประสบกับปัญหาความขาดแคลนในปี ค.ศ.1880
 
         นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1846 ชาวไอร์แลนด์ที่เริ่มตื่นตัวเรื่องชาตินิยมก็ได้ทำการตั้งกลุ่มและองค์กรต่างๆ ของตนเองขึ้นเพื่อพิทักษ์สิทธิต่างๆ ของชาวไอร์แลนด์ไม่ให้ชาวอังกฤษมาเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ได้โดยง่าย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่ม "สันนิบาตที่ดิน" ที่จะคอยทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้แก่เกษตรกรชาวไอร์แลนด์ที่ต้องทำมาหากินบนที่ดินที่มีชาวอังกฤษเป็นเจ้าของ
 
         วิธีการที่กลุ่มสันนิบาตที่ดินใช้ในการต่อสู้กับเจ้าของที่ดินชาวอังกฤษนั้นไม่ใช่การใช้กำลังประทุษร้าย แต่เป็นการคว่ำบาตร ซึ่งคำศัพท์ที่ใช้ก่อนหน้าจะมีคำว่า boycott นั้นก็คือ excommunication (รากศัพท์คือ excommunicatus ในภาษาละติน) นั่นก็คือการไม่ยอมทำกิจกรรมใดๆ ร่วมกับผู้ที่ถูกคว่ำบาตรทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การซื้อขายสินค้า ไปจนกระทั่งการพูดคุย (เหมือนที่ชาวอินเดียกระทำกับพวกวรรณะจัณฑาล)
 
         เมื่อถูกคว่ำบาตรโดยชาวไอร์แลนด์ ครอบครัวของชาร์ลส์ ก็ไม่อาจจะดูแลบริหารกิจการต่างๆ บนที่ดินของตนเองในไอร์แลนด์ได้อีก เพราะไม่มีแรงงานที่จะมาทำงานให้ สุดท้ายพวกเขาก็จำเป็นต้องเดินทางออกจากประเทศไอร์แลนด์ไปในที่สุด และนับแต่นั้นเป็นต้นมา คำว่าบอยคอตจึงได้ถูกนำมาใช้เป็นคำศัพท์ที่แปลว่า การคว่ำบาตร นั่นเองครับ
--------------------
 
         จากเรื่องราวทั้งหมดในข้างต้นเป็นบทเรียนที่สอนให้รู้ว่า บางคนมีชื่อเสียงขึ้นมาจากการทำความดี ในขณะที่บางคนก็มีชื่อเสียงขึ้นมาจากการทำความชั่ว และบางครั้งชื่อเสียงของพวกเขาก็อาจจะถูกจดจำไปชั่วกาลนานจากผลของการกระทำของพวกเขาเอง
 
         ดังนั้นจงจำไว้ว่า คนเราจะมีชื่อเสียงเป็นที่จดจำในฐานะ "คนดี" หรือ "คนชั่ว" ก็อยู่ที่การกระทำของตนเองเองนะครับ
 
         ก็ขอขอบคุณทุกๆ ท่านนะครับที่มารับชมกระทู้นี้ หากมี comment อะไรก็เชิญพูดคุยกันได้เลยนะครับ ยิ้ม
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่