The Devil Wears Prada 14 ปีของนางมารที่เรารัก


ปี 2003 ลอว์เรน ไวส์เบอร์เกอร์ ตีพิมพ์ The Devil Wears Prada นิยายเรื่องแรกที่ติดอันดับหนังสือขายดีที่สุดหลายสัปดาห์ของนิตยสาร New York Times และสร้างปรากฏการณ์หลายอย่างโดยเฉพาะการที่มันเป็นนิยายต้นธารของหนังสือชุด chic-lit ซึ่งแผลงมาจากชื่อเต็ม chick literature ที่เล่าผ่านตัวละครหญิงสาวชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ด้วยน้ำเสียงจิกกัดและสนุกสนาน โดยในหนังสือเล่าเรื่องของ แอนเดรีย หญิงสาวจากเอกภาษาอังกฤษมหาวิทยาลัยบราวน์ มั่นอกมั่นใจกับทักษะการใช้ภาษาและการเขียนของตัวเอง และดันไปได้งานเป็นผู้ช่วยของ มิแรนดา เพรสต์ลีย์ บรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นชื่อก้องโลกอย่าง Runway ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของเธอนับตั้งแต่วันแรกที่เธอย่างก้าวเข้าไปทำงาน


หนังสือประสบความสำเร็จถล่มทลาย แจ้งเกิดไวส์เบอร์เกอร์ในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ สามปีหลังจากนั้น มันถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นหนังชื่อเดียวกันที่กำกับโดย เดวิด แฟรงค์เคล -และยังเป็นหนังหัวขบวนของสกุล chick flick ด้วย- จับจ้องไปยังเรื่องราวของ แอนเดรีย (แอนน์ แฮธาเวย์) สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่พกความมั่นใจมาเต็มขีดจำกัด สมัครเข้าทำงานในนิตยสารแฟชั่น Runway ของ มิแรนดา (เมอรีล สตรีป) จอมระเบียบจัด เย็นชาและวางตัวห่างเหินกับทุกคน เธอกลายเป็นลูกระเบิดร้อนๆ ที่แอนเดรียต้องคอยรับมือทุกเช้าขณะที่ เอมิลี (เอมิลี บลันต์) เลขาสาวของมิแรนดาก็ดูไม่เต็มใจให้ความช่วยเหลือเธอเท่าไหร่ หนำซ้ำยังทับถมให้เจ็บช้ำน้ำใจอยู่เป็นระยะ อาจจะมีก็แค่ ไนเกล (สแตนลีย์ ทักกี) ดีไซเนอร์ที่ช่วยประคบประหงมเธอยามห้วงอารมณ์พังทลายเท่านั้น


มีหลายองค์ประกอบว่าทำไม The Devil Wears Prada เวอร์ชั่นภาพยนตร์ถึงประสบความสำเร็จไม่แพ้หนังสือ และแม้เวลาจะผ่านมาร่วม 14 ปีแล้วนับจากวันที่มันออกฉาย กระแสแฟชั่นผลัดเปลี่ยนไม่มีหยุด มันก็ยังเป็นหนังแซ่บที่หยิบเอามาเปิดดูในวันที่เราอยากพักผ่อนจากเรื่องจุกจิกกวนใจมากมายได้ นอกเหนือจากมันจะเต็มไปด้วยนักแสดงเบอร์ต้นๆ อย่างสตรีป, แฮธาเวย์และบลันต์ มันยังเต็มไปด้วยน้ำเสียงการเล่าเรื่องที่เข้าอกเข้าใจสาวออฟฟิศเป็นอย่างดี เราล้วนเข้าใจอาการสติแตกของแอนเดรียเมื่อต้องเผชิญกับ ‘นางมาร’ ที่เสมือนว่าไม่มีวันเข้าใจและเอาใจได้ ข้อเรียกร้องสารพัดทั้งตารางนัดหมายหยุมหยิม กาแฟที่ต้องมาเสิร์ฟตรงเวลาทุกเช้า ความเย็นชาและผกผันของห้วงอารมณ์ ตลอดจนการที่เธอแทบไม่บอกว่าเธออยากได้อะไร (บอกแต่ว่าไม่อยากได้สิ่งไหน) จนทีมงานต้องหัวหมุนกันทุกเช้าเพื่อเดาใจมิแรนดา เพรสต์ลีย์


แต่ขณะเดียวกัน มันก็ห้อมล้อมไปด้วยบรรยากาศชวนฝันของเมืองใหญ่ แสงสีและงานหรูหราแบบที่เอมิลีแทบจะยอมถวายชีวิตเพื่อให้ได้เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของงาน แวดวงคนดังตามหน้าสื่อที่คนทั่วไปจากสาขาอาชีพอื่นคงไม่มีโอกาสได้เห็น และเสื้อผ้ามากมายที่รอให้เราหยิบเอาไปใส่เสมือนว่านิวยอร์คคือรันเวย์ใหญ่ในชีวิต แอนเดรียกลายเป็นตัวละครที่คนดูหลายคนซ้อนทับภาพตัวเองลงไปและเอาใจช่วยให้เธอประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อันหมายรวมถึงชนะใจมิแรนดา เพรสต์ลีย์ได้ด้วย

ตัวสตรีปคือเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หนังประสบความสำเร็จ การสวมบทบาทเป็นมิแรนดาที่แสนน่าสะพรึงได้อย่างหมดจด ชวนให้นึกถึงเจ้านายจอมเxี้ยบที่เราเลี่ยงการเผชิญหน้าเพราะไม่ได้อะไรขึ้นมานอกจากโดนถากถางให้ปวดหัวใจเล่นซ้ำๆ กับฉาก ‘เปิดตัว’ อันแสนสะพรึงและน่าจดจำ เมื่อมิแรนดาก้าวขาลงจากรถลงบนถนนเฉอะแฉะกลางเมืองใหญ่ อาลีน บรอช แม็กเคนนา เขียนฉากนี้ไว้ว่า:


ล็อบบี:
เรามองตามมิแรนดาเดินตรงเข้าไปในล็อบบี้ และเมื่อผู้คนเห็นเธอต่างก็แสดงปฏิกิริยาแบบนี้ — ยาม, พนักงาน, เลขา, ผู้บริหารชื่อดังต่างก้มหัวแสดงความเคารพเธอ มิแรนดายังคงก้าวเดินด้วยความเร็วเท่าเดิมตรงไปยังลิฟต์ เธอเข้าไปข้างใน หญิงสาวในลิฟต์เดินออกมาทันที

หญิงสาว
ขอโทษค่ะ, มิแรนดา

มิแรนดาทำราวกับว่าเธอไม่มีตัวตน

ออฟฟิศ, ห้องทำงาน:
เอลิลี่วิ่งไปที่ห้องครัว (ติดกับโต๊ะทำงาน) คว้าแก้วน้ำ ตรงไปยังตู้เย็น รินน้ำแร่เพลลีกรีโน พุ่งไปที่ห้องมิแรนดา วิ่งกลับออกมาที่โต๊ะตัวเองแล้วคว้านิตยสารและหนังสือพิมพ์กลับไปเต็มอ้อมแขน วิ่งกลับไปยังห้องมิแรนดา

ออฟฟิศ, โถงทางเดิน:
มิแรนดาก้าวออกมาจากลิฟต์ เงยหน้าขึ้นให้เราเห็นเป็นครั้งแรก เธอโดดเด่นมากจนเราเห็นเธอได้จากระยะไกล ไม่เหมือนผู้หญิงสวยๆ คนอื่นๆ เธอคือมิแรนดา

ออฟฟิศ, ห้องทำงาน:
เอมิลีตาลีตาเหลือกพิมพ์ข้อความลงในคอมพิวเตอร์ กดพิมพ์และยืนรออยู่ข้างเครื่องปรินต์ คว้ากระดาษออกมาจากเครื่องและยัดใส่คลิปบอร์ด เขียนไว้ว่า แอนดี

เอมิลี
ตายละ นี่เธอยังอยู่นี่อีกเหรอเนี่ย ไป!
แอนเดรีย
(เตรียมตัวไป)
เอมิลี

ไม่ๆ อยู่นี่แหละ ฉันไม่อยากให้เธอเดินผ่านหล่อนเข้า นั่งอยู่เฉยๆ 
ตรงนี้ซะแล้วฉันจะภาวนาให้หล่อนไม่ทันสังเกตว่าเธออยู่ตรงนี้ก็แล้วกัน
แอนเดรีย
(นั่งลง)


นี่คือหนึ่งในฉากเปิดที่น่าจดจำอย่างยิ่ง มันสะท้อนให้เห็นความโกลาหลของทีมงานนิตยสาร Runway ที่พร้อมรับมือกับพายุมิแรนดา ซึ่งสตรีปถ่ายทอดอย่างเฉียบขาดโดยไม่ต้องพูดอะไรสักคำ ผ่านท่าเดินแน่วแน่ หลังตรง และสายตาเย็นชาใต้แว่นกันแดดทึบ

“อันที่จริงฉันหวังให้เธอมีความสุขกับชีวิตมากกว่านี้นะ แต่มันอาจไม่เหมาะกับเธอทั้งในแง่กายภาพ อารมณ์และสิ่งต่างๆ แบบที่ฉันสุขกับชีวิตตัวเอง” สตรีปว่า “อย่างนึงที่ฉันชื่นชมเธอมากๆ คือเธอแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาว่าเธออยากได้อะไร และคาดหวังเต็มที่ว่าต้องได้มันมา นี่ไม่ใช่ผู้หยิงแบบที่เราจะเห็นจากสังคมทุกวันนี้ได้ง่ายๆ นะคะ คนไม่มีทางทนอะไรแบบนี้หรอก

“ตัวฉันเองเคยเจอผู้กำกับ และได้ยินประโยคแบบเดียวกันนี้จากผู้ชายแบบที่ว่า ‘ผมอยากได้แบบนี้’ ลองถ้าเป็นผู้หญิงพูดสิ คงถูกมองว่าหยาบคายและไม่มีใครรับได้แน่ๆ และนี่แหละเป็นเหตุผลที่ทำให้ฉันประทับใจมากจริงๆ”


ขณะที่ฉากจำอีกฉากคือการ ‘เปลี่ยนแปลง’ ครั้งสำคัญของแอนเดรีย เมื่อเธอเปลี่ยนจากสาวเนิร์ดไม่สนใจเรื่องแต่งเนื้อแต่งตัวมาสู่หญิงสาวท่าทางมั่นใจกับเสื้อผ้าเข้าสมัย เธอรับมือกับมิแรนดาได้ดีจนขึ้นแท่นเป็นคนโปรดแทนที่เอมิลี ทั้งยังเข้าใจความเป็นแฟชั่นมากกว่าการที่มันเป็นเรื่องฉาบฉวยอย่างที่มองไว้ตอนแรก มอนตาจที่เธอเดินอยู่กลางกรุงนิวยอร์คในชุดหลากหลายจึงเป็นฉากที่หลายๆ คนรักเพราะมันแสนจะเก๋และน่าตื่นตาไม่แพ้ฉากเปิดตัวมิแรนดาทีเดียว

แน่นอนว่าทุกวันนี้มีหนังสกุล chick flick เกิดขึ้นมามากมาย หลายต่อหลายเรื่องก็ยอดเยี่ยมและเปี่ยมอารมณ์ขัน หากแต่สิ่งที่ทำให้ The Devil Wears Prada และเหล่านางมารยังโลดแล่นอยู่ในหัวใจผู้คนได้ ก็อาจเพราะเอกลักษณ์เฉพาะตัวบางอย่าง ทั้งตัวละครเปี่ยมสีสัน การแสดงอันยอดเยี่ยม และท่าทีการเล่าเรื่องที่เข้าอกเข้าใจสาวๆ เหลือเกิน ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด


ติดตามรับชม

The Devil Wears Prada : นางมารสวมปราด้า
วันเสาร์ที่ 4 เมษายน เวลา 08.10 น. ทางช่อง MONO29

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์
: Bioscope Magazine
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่