งานรวมตัวของคนรักงานไม้ ตอนที่ 1 : แหลงใต้ ไทย ฝรั่ง_Siam Woodworker



ผ่านมาหมาดๆ กับงาน Thailand Woodworking Fair 2020 ที่จัดขึ้นวันเสาร์ที่ 7-8 มีนาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ งานนี้จัดขึ้นโดยพี่จ๊อด (คมเพชร ไม้จตุรัส) เป็นแม่งาน ที่อยากจะรวบรวมเอาคนมีฝีมือ และครูบาอาจารย์ทางด้านสายงานไม้ในแขนงต่างๆ เข้ามารวมกันในงานเดียว พร้อมร้านรวงจำหน่ายเครื่องมืองานไม้ให้แก่ผู้ที่สนใจได้เดินดูครบจบในที่เดียว

เนื่องด้วยสถานการ์ณ COVID-19 ที่อาจจะทำให้ผู้ที่เข้ามาเดินงานปีนี้ (จัดขึ้นเป็นปีที่ 3) ดูบางตาไปบ้าง แต่ลูกค้าขาประจำ ก็ยังแวะเวียนมาสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเองเหมือนทุกๆปีครับ ผมอาจจะไม่ได้ถ่ายรูปบรรยากาศงานมาให้ดูครบทุกๆบูธ แต่ก็พอมีเวลาไปวิ่งถ่ายบูธที่น่าสนใจมาเกือบครบ หวังว่าคนที่ไม่ได้ไปเดินงานจะได้เอาไว้ดูเพลินๆ ที่บ้านในช่วงที่พวกเราไม่ค่อยอยากจะออกนอกบ้านเท่าไรแบบนี้ครับ
  


พามาชมสองบูธแรกในตอนที่ 1 เป็นบูธของกบไทย และ กบฝรั่งมาชนกัน คนขายก็เป็นคนบ้านเดียวกันด้วยครับ ตอนที่เดินเข้าไปถ่ายก็แหลงใต้กันอยู่อย่างสนุกสนาน บุธแรกเป็นกบไทยฝีมือปราณีตของ อาจารย์ ประพัฒน์ ไหมศรี ที่ขนเอากบไม้ไทยที่ทำด้วยมือของอาจารย์ทุกชิ้นมาวางจำหน่ายในงาน ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่วางเรียงรายกันอยู่ชวนน่าสัมผัสและซื้อหากลับบ้านมากครับ
 


กบไทยไสตล์ฝรั่งตัวนี้แปลกตาดีครับ เป็นกบแบบไทยๆที่ผสมเอาด้ามจับแบบฝรั่งเข้าไป ทำให้น่าใชังาน และน่าจะจับถนัดมือมากขึ้น ส่วนของใบสังเกตุดูว่าจะหนากว่ากบทุกตัวที่อาจารย์ทำขาย เพราะเป็นใบรุ่นพิเศษที่สั่งทำขึ้นมาสำหรับกบพรีเมียมโดยเฉพาะ ใบแบบนี้เจอได้ตามกบของ Veritas ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้กับกบประเภท Bevel-Up ที่ไม่มีเหล็กประกับ การที่ทำใบหนาขึ้นจะช่วยลดแรงสะท้านเวลาไสทำให้ไสได้ลื่นมือขึ้นครับ
 

 
กบตัวเล็กๆที่อาจารย์ตกแต่งขึ้นมาอย่างปราณีต ถ้าได้จับของจริงจะทราบว่ามันถือได้สบายมือขนาดไหน พื้นผิว และขอบมุมที่ลบจนมนกลึง ยิ่งตัวเล็กยิ่งเรียบง่าย รายละเอียดเล็กๆน้อยจึงสำคัญมากครับ


 
กบที่ทำมาจากปุ่มไม้ สวยแปลกตา ได้ผิวสัมผัสที่แปลกดีครับ แต่ละชิ้นก็ไม่เหมือนกัน เพราะมาจากธรรมชาติสร้างล้วนๆ ใครที่ชอบพวกงานไม้แนวธรรมชาติน่าจะชอบมากครับ
 


กบตัวนี้ทำมาจากกระสวยทอผ้าโบราณที่ทำมาจากไม้ และมีรูปทรงที่น่าสนใจอยู่แล้ว อาจารย์จับกบยัดเข้าไปตรงกลาง เลยเป็นกบตัวเล็กๆยาวๆหน้าตาแปลกๆออกมา ส่วนพื้นผิว Texture ตะปุ่มตะป่ำที่ด้านหลังใบกบจะเป็นส่วนที่ใช้สว่านคอตรงอย่าง Dremel ใส่ดอกกัดทรงเม็ดมะยมเล็กๆ ค่อยเจียรพื้นผิวออกให้ได้ผิวสัมผัสอย่างที่เห็นในรูปครับ
 
 

บูธข้างๆกันเป็นของพี่ศึกษา แกถนัดเรื่องประมูลกบมือสองทั้งของอเมริกา และยุโรปมาซ่อมแซมและปรับให้ใช้งานได้ ท่านไหนที่สนใจเรื่องของกบเหล็กเก่าๆ หรือชอบสินค้าพวกของ Vintage น่าจะถูกใจบูธนี้ครับ
 


กบที่วางเรียงรายมาจากหลายที่ มีอายุความเก่าและสภาพที่แตกต่างกัน พี่ศึกษาประมูลกบพวกนี้มาจากอินเตอร์เน็ต ด้วยสภาพกบที่มานั้นแตกต่างกันบางชิ้นก็เก่ามาก มีสนิมจับเขรอะจนเกือบใช้งานไม่ได้ บางอันก็สภาพดีแต่ชิ้นส่วนขาดหาย หน้าที่ของพี่ศึกษาคือการชุบชีวิตกบให้กลับมาใช้งานได้ปรกติอีกครั้ง เป็นงานที่ต้องอาศัยประสบการ์ณและความชำนาญเฉพาะตัว เพราะการที่เอากบเก่ามาล้างสนิมออกก็ไม่ได้แปลว่ามันจะใช้งานได้นะครับ ต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องความเรียบและการปรับท้องกบ หรือกลไกการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆพอสมควรเลย ยี่ห้อหลักๆที่เป็นที่นิยมคือ Stanley รุ่นสมัยสงครามโลก และอีกหลายๆยี่ห้ออย่าง Record, Keen Cutter, Millers Falls หรือแม้แต่กระทั่ง Lie-Nielsen
 


กบรุ่นรอยต่อ Transition Plane ระหว่างกบไม้และกบเหล็กของ Stanley ซึ่งมีวิธีการปรับเหมือนกับกบเหล็กทุกอย่าง แต่ส่วนของตัวบอดี๊กบเป็นไม้ ซึ่งสามารถปรับแต่งท้องได้กรณีที่เกิดอาการบิดงอเสียรูปไประหว่างการใช้งาน
 

 
กบหน้าตาแปลกๆจากปี 1820 (ตามเลข US Patent 2-17-20) เป็นรุ่นที่มีเหล็กประกับเชื่อมติดอยู่กับฝาครอบ ส่วนของทรงบอดี๊เหมือนกบ Custom Bench Plane ของ Veritas มากๆครับ ถ้าไม่ได้มาที่บูธพี่ศึกษาก็คงไม่ได้เจอ ของจริงแบบนี้เหมือนกันครับ

ตอนนี้จบแล้วพบกันใหม่ตอนต่อไปนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่