การไหว้แบบมลายู-ชวา หรือในโลกมลายู

ซัมบะห์ (Sembah) ในภาษามลายูและชวา มีความหมายถึงการพนมมือไหว้แบบอย่างไทย ลาว เขมร พม่า แต่แน่นอนว่าไม่ได้มีไว้เพื่อไหว้พระกันแล้ว
ซัมบะห์ ในภาษามลายู มีความหมายตรงตัวคือ การบูชาเทพเจ้า คล้องจองกับคำว่า ซัมบะห์ยัง (Sembahyang) คือการบูชาพระผู้เป็นเจ้าก็คือ อัลลอฮ์ 
ในบางวัฒนธรรม เช่น บาหลี จะมีความหมายถึงการบูชาเทพเจ้าฮินดู หรือในกลุ่มชาวคริสต์ จะหมายถึงการบูชาพระเยซูหรือพระเจ้า หรือการสรรเสริญ
ในทีนี้ จะพูดถึงการซัมบะห์ ที่เป็นการไหว้ ในรูปแบบการแสดงความเคารพนับถือ หรืออาจจะเป็นการทักทายกันโดยปกติธรรมดาในโลกมลายูบางส่วน
โดยมากในปัจจุบัน ในมาเลเซีย การไหว้จะใช้สำหรับสุลต่านหรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ส่วนการทักทายโดยทั่วไปจะใช้การจับมือสลามกันแบบมุสลิมปกติ

การไหว้องค์สุลต่านหรือเชื้อพระวงศ์ ภาษามลายูเรียกว่า มะงังกัต ซัมบะห์ (Mengangkat Sembah) หรือการไหว้แบบยกมือสูงๆ เพื่อแสดงความเคารพ
สำหรับการไหว้องค์สุลต่านหรือพระราชา นิ้วโป้งอยู่เหนือคิ้ว การไหว้พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ นิ้วโป้งอยู่หว่างคิ้ว การไหว้พระราชวงศ์ผู้น้อย นิ้วโป้งอยู่ที่จมูก
เมื่อต้องทำความเคารพต่อสุลต่าน จะต้องพนมมือยกเหนือคิ้ว มือตรงไม่เอียง ในบางกรณีเช่นการรับเสด็จฯ ไหว้เสร็จแล้วจะต้องทำการจูบพระหัตถ์ด้วย
ในอดีต การไหว้แบบมะงังกัตนั้น อาจจะต้องทำการคุกเข่าทั้ง 2 ข้าง หรือทำการคุกเข่าข้างหนึ่ง แล้วทำการไหว้ แต่ปัจจุบัน จะนิยมยืนแล้วไหว้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมมลายูไม่มีการกราบพระบาท เพราะเป็นท่าเดียวกับการสุญูด ซึ่งในศาสนาอิสลาม ท่านี้ได้สงวนไว้เฉพาะกับองค์อัลลอฮ์เท่านั้น

ปัจจุบัน ในหลายๆ รัฐของมาเลเซียที่มีสุลต่านหรือราชาปกครองอยู่ ก็นิยมเคารพด้วยวิธินี้นี้เพื่อแสดงความเคารพต่อองค์สุลต่านหรือพระบรมวงศานุวงศ์
ยกเว้นในบางรัฐ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงประเพณีไปนานแล้ว เช่น ยะโฮร์ ที่ได้เปลี่ยนการเคารพมาเป็นการคำนับหรือการจูบพระหัตถ์แทนการไหว้ซัมบะห์
ส่วนในโยกยาการ์ต้า ก็ยังมีการนิยมไหว้สุลต่านอยู่ โดยยังมีการคุกเข่าไหว้เพื่อทำความเคารพต่อองค์สุลต่านแห่งโยกยาการ์ต้ากันอยู่เหมือนในยุคก่อน
ในหลายครั้ง เมื่อซูการ์โน ผู้นำเอกราชอินโดนีเซีย ได้พบกับแม่นั้น เขาก็จะทำการย่อเข่าพร้อมกับทำซัมบะห์ต่อแม่เขาเอง เพื่อแสดงความเคารพรัก
ส่วนชาวบาหลี ไม่แน่ใจว่าทำการซัมบะห์อย่างไร แต่ในพิธีกรรมฮินดู ชาวบาหลีจะนิยมนั่งขัดสมาธิแล้วทำการยกมือเหนือคิ้วพร้อมเอียงมือไปข้างหน้า

สำหรับทัศนะของอิสลามนั้น โดยปกติถือว่าเป็นเรื่องที่อนุโลมได้เพราะถือเป็นการแสดงความเคารพที่ไม่เหนือพระเจ้ามากนัก จึงไม่ได้มีการพูดถึงใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของอิสลามสายเคร่ง มองว่าการไหว้ เป็นวัฒนธรรมยุคเก่าของฮินดู เป็นการแสดงความเคารพที่มาจากศาสนาอื่น จึงเป็นฮารอม
โดยปกติ การแสดงความเคารพของชาวมลายูนั้น จะนิยมทำการสลามกันตามวิถีทางของมุสลิมโดยทั่วไป คือการแตะมือกันหรือมือแตะอกเพื่อทักทาย
ส่วนวัฒนธรรมชวา เนื่องจากยังมีอิทธิพลฮินดูอยู่มาก จึงยังทำการไหว้แบบวัฒนธรรมโบราณได้ ยกเว้นพวกซันติ (Santri) ที่นิยมทักทายแบบมุสลิม
ส่วนบาหลีนั้น จะนิยมยกมือไหว้ทักทายกันเลย พร้อมทั้งกล่าวคำว่า "โอม สวัสตีอัสตู" (ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับ สวัสดี) หรือ "ขอให้มีสวัสดิภาพจากพระเจ้า" 

ย้ำอีกทีว่า คำว่า ซัมบะห์ ความหมายกว้างมาก เพราะความหมายจริงๆ คือการบูชา ก็คือเป็นการแสดงความเคารพของพระเจ้าหรือเทพเจ้าตามศาสนา
หากเป็นอิสลาม ซัมบะห์ จะหมายถึงการทำละหมาด ดุอาอ์ หรือทำสิ่งอื่นใดที่บ่งบอกว่ากำลังทำการแสดงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าของตัวเองกันอยู่
หากเป็นคริสต์ ซัมบะห์ จะหมายถึงการแสดงความรักต่อพระเยซูหรือพระเจ้า หรือเป็นการสรรเสริญ นมัสการต่อพระเจ้า หรือวิธีการอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกัน
หากเป็นคนเชื้อสายไทย จะหมายถึงการไหว้ศาลพระภูมิ ปู่ย่าตายาย หากเป็นคนเชื้อสายจีน จะหมายถึง การไหว้เจ้า คนอินเดีย จะหมายถึงไหว้เทพเจ้า
ภาษามลายูแบบปัตตานี-กลันตัน เรียกว่า ซือมาแย ความหมายตรงตัวคือการละหมาด แต่ความหมายจริงๆ กว้างมาก โดยรวมไปถึงการไหว้ด้วยเช่นกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่