Jupiter-3...นอมอลเลนส์ตัวเดียว ก็เที่ยวได้!!!

กระทู้สนทนา

 สวัสดีครับพี่ ป้า น้า อา แห่งห้องคนบ้ามือหมุนอันแสนเงียบเหงา เปล่าเปลี่ยว และเดียวดายของโลกออนไลน์
..........
..........
“ความจริงแล้วผมไม่ค่อยอยากจะขยับกระทู้แนะนำเลนส์ตัวนี้เท่าไหร่นักครับ เพราะไม่ค่อยมีสมาชิกผู้ทรงเกียรติเข้ามาอ่านมากนัก
แต่เพื่อประโยชน์ของวงการมือหมุนแห่งชาติ ผมขอขยับกระทู้นี้ก็แล้วกัน
เนื่องจากผมพบว่าไม่เคยมีการแนะนำเลนส์ตัวนี้แบบจริงจังในภาคภาษาไทยกันเลยครับ หารีวิวยากมากๆ”
 
มีนอมอลเลนส์ระยะ 50 มิลลิเมตร จากค่ายรัสเซียอยู่รุ่นหนึ่ง ที่ผมเฝ้ามองมานานแสนนาน ตลอดห้าถึงหกปีที่ผ่านมา
แต่ก็ไม่เคยคิดซื้อหามาใช้งาน ทั้งๆที่อยากได้มาก เนื่องจากราคาที่ถือว่าแพงเอาเรื่องสำหรับเลนส์ห้าสิบมิลลิเมตร
ค่าตัวของมันในสภาพใช้งานวิ่งอยู่ห้าพันบาทขึ้นไปทั้งนั้นครับ แต่ถ้าสภาพสวยๆอาจต้องมีถึงเจ็ดแปดพัน
ยิ่งถ้าเป็นเวอร์ชั่นหายาก อาจต้องเตรียมแบงค์พันถึงสิบใบโน่นเลย
..........
..........
มันคือ Jupiter-3  1.5/5cm ครับ
นอมอลเลนส์เมาท์ M39 ของกล้องเรนจ์ไฟน์เดอร์ ที่มีค่าเอฟกว้างสุดถึง 1.5
ถ้าเป็นสมัยนี้ เอฟกว้างสุดที่ 1.5 ก็คงถือว่า “งั้นๆ” แต่หากมองย้อนกลับไปในยุคที่มันออกสู่ท้องตลาดในปลายยุค 40
ก็ถือว่าค่าเอฟ 1.5 นี่มัน “ว้าว” มากๆครับ
..........
..........
จากการหาข้อมูลต่างๆตลอดหลายปีที่ผ่านมา
พบว่า Jupiter-3 ถูกผลิตขึ้นจากหลายโรงงานในโซเวียต ซึ่งผมไม่ขออธิบายเพิ่มเติมนะครับ
แต่บรรดาเซียนที่เล่นกับเลนส์รัสเซีย โดยเฉพาะในต่างประเทศต่างลงความเห็นกันว่า เจ้า Jupiter-3 ตัวที่น่าใช้ 
หรือน่าเก็บมากที่สุดต้องผลิตโดยโรงงาน KMZ เท่านั้นครับ เนื่องจาก KMZ เป็นโรงงานแรกที่ผลิตเลนส์รุ่นนี้
โดยที่ KMZ ผลิตเลนส์ Jupiter-3 ตั้งแต่ปี 1948 ไปจนถึงปี 1956 หลังจากนั้นก็ย้ายไปผลิตที่โรงงานอื่น
 ..........
..........
สมาชิกท่านหนึ่งในห้องมือหมุนพันทิป คือน้า johnnie walked ยังเคยให้ข้อมูลกับผมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558
แกบอกว่า Jupiter-3 ปีที่ดีที่สุดก็คือตัวที่ผลิตในปี 1953 ซึ่งถือว่าคุณภาพเทียบเท่า War time sonnar
ซึ่งความเห็นในประเด็นนี้ก็ตรงกับความเห็นของเซียนเลนส์รัสเซียในเว็ปไซต์ของต่างประเทศครับ
นอกจากนี้น้าแกยังย้ำอีกว่า ถ้าเป็นเลนส์รัสเซีย หากเจอตัวที่ดีๆ จงอย่าปล่อยให้หลุดมือ ผมจำคำนี้ได้ดีครับ
 
และหลังจากที่ตามเก็บรัสซียนเลนส์มาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จนมีเลนส์รัสเซียกองอยู่ในตู้ที่บ้านเกือบ 90 รุ่นเข้าไปแล้ว
แต่ยังไม่มีเจ้า Jupiter-3 สุดคลาสสิคตัวนี้ ซึ่งก็ถือว่ายังไม่ครบสูตร มันยังคาใจลึกๆ HA HA HA!!!
ผมจึงออกตามล่าหาตัวเจ้าจูสาม โดยอาศัยข้อมูลที่ได้รับทั้งจากในเว็ปไทยและในเว็ปต่างประเทศเหล่านี้
โดยตามล่าเฉพาะตัวที่ผลิตจาก KMZ เท่านั้น ตัวที่ผลิตจากโรงงานอื่นก็ปล่อยผ่าน
..........
..........
ในที่สุดก็ได้มาจนได้ ที่สำคัญคือเป็น Jupiter-3 ปี 1953 ตามตำราซะด้วย
แต่ที่น่าเหลือเชื่อมากๆก็คือ ราคาไม่ถึงห้าพันบาทครับ อย่างนี้แถวๆบ้านเขาเรียกว่า “ฟลุ๊ค” ชัดๆ

Jupiter-3 เป็นเลนส์ระยะทำการ 50 มิลลิเมตร เอฟกว้างสุดที่ 1.5 ผลิตออกมา 2 เมาท์ คือ M39 กับเมาท์ contax RF
ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ทั้งสิ้น 7 ชิ้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 13 เบลด น้ำหนักตัวโดยประมาณ 160 กรัม
มันได้รับแรงบันดาลใจ หรือเรียกแบบตรงไปตรงมาว่า “ก๊อปปี้” นั่นแหละ 
โดยใช้พื้นฐานจาก Carl Zeiss Sonnar 1.5/5cm อันโด่งดัง
มันถูกนำเสนอสู่สายตาประชาชีเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1948 ซึ่งในสมัยนั้นทีมชาติเยอรมันยังไม่ได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกเลยนะครับ

จากการทดลองถ่ายภาพโดยใช้กล้อง Sony A7 mark II และ Fuji X-Pro1 ประกบกับเฮลิคอยด์อแดปเตอร์
พบว่าความคมที่เอฟกว้างสุดไม่ค่อยดีนักครับ พบความฟุ้งพอสมควร แต่เป็นความฟุ้งที่นุ่มนวลชวนฝันดีนักแล
ความคมจะเริ่มดีขึ้นเมื่อใช้ค่าช่องรับแสงที่ f2 แต่ก็ยังไม่ถือว่าดีนัก
ความคมจะเริ่มดีแบบ “หวังผลได้” ก็ต่อเมื่อใช้ค่าช่องรับแสงที่ f2.8 ครับ
หรือหากจะเล่นกับโบเก้ที่ค่าเอฟกว้างสุดก็ย่อมได้ ภาพจะออกแนว “นวลๆ ฟุ้งๆ” เล็กน้อยพอประมาณ

แต่หากต้องการนำไปใช้งาน ถ่ายภาพแนวประกอบสัมมาอาชีวะแล้วละก็ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ค่าเอฟกว้างสุด 
ให้เริ่มที่ค่า f2.8 ขึ้นไปจะดีที่สุดครับ ขอบอก!!!

หากเราใช้ค่าช่องรับแสงที่หวังผลด้านความชัดที่ f2.8 อย่างที่ผมบอกนั้น
ความคมที่ได้จะเป็นลักษณะ “คมกลาง เบลอขอบ” 
เพราะบริเวณขอบภาพนั้น เรายังเห็นความไม่คมได้บ้าง แต่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่านะครับ
ต้องซูมดูจากจอคอมพิวเตอร์ครับ จึงจะเห็นอาการที่เรียกว่าเบลอขอบ แต่เป็นการเบลอที่นุ่มละมุนมาก
แต่หากไม่ซูมดูภาพ เราก็แทบไม่พบอาการเหล่านี้แต่อย่างใด

ซึ่งผมทดลองขยายภาพออกมาในขนาด 10x15 นิ้ว
ผลลัพธ์ที่ได้ขอบอกว่ามันให้คุณภาพด้านความคมอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่า “ดีมาก”
กล่าวโดยสรุปก็ถือได้ว่ามันให้คุณภาพด้านความคมชัดที่ดีมาก โดยเฉพาะหากเราเข้าใจว่ามันเป็นเลนส์ในยุคปลายทศวรรษ 1940
..........
.......... 
การถ่ายถาพย้อนแสงนั้น จะพบอาการแสงฟุ้งเข้าหน้าเลนส์ได้หากย้อนแสงตรงๆครับ
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด ไม่ต้องวิตกกังวล เลนส์ที่ผลิตในยุคสมัยนั้นก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น

แต่หากไม่ถ่ายภาพย้อนแสงแรงๆ หรือย้อนตรงๆ  มันสามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีครับ
ไม่มีอาการฟุ้งขาวในส่วนที่เป็น Highlight และในส่วนมืดของภาพก็ยังคงเก็บรายละเอียดได้เป็นอย่างดี ไม่ดำสนิทจนเกินไป

เมื่อทดสอบได้ผลลัพธ์ดังนี้ ผมจึงหาโอกาสนำไปทดลองแบบถ่ายภาพท่องเที่ยว โดยใช้เจ้า Jupiter-3 เพียงตัวเดียวตลอดทริป
ในสโลแกนที่ว่า “นอมอลเลนส์ตัวเดียว เที่ยวได้ทั้งวัน” โดยไปทำการถ่ายทำถึง “เกาะสีชัง” ครับ
พบว่าความคมชัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก เนื่องจากผมใช้ค่าเอฟเริ่มต้นที่ f4 ขึ้นไป
การละลายฉากหลังทำได้นุ่มนวล มีมิติที่ “เด้งดึ๋งดั๋ง” ออกมาให้เห็นประปราย 

อาการฟุ้งแสงจากการถ่ายภาพย้อนแสง แทบไม่มีให้เห็นครับ เพราะผมไม่ถ่ายภาพแบบย้อนแสงตรงๆ
สีสันมีความอิ่มตัว สดใส แต่ไม่ถึงกับจัดจ้าน ออกแนวขรึมๆ แบบผู้ใหญ่
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมขอยกนิ้วให้เลยก็คือ “น้ำหนัก” ที่เบาสบายครับ
ขนาดที่เล็ก พกพาสะดวก หน้าตา หรือ Image ที่เหมือนเป็นเลนส์ราคาแพง เงาวาววับ เรียกความสนใจจากเด็กวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี

สรุปได้ว่า หากคุณเป็นแฟนพันธ์แท้ของเลนส์รัสเซีย ก็ถือได้ว่าเจ้า Jupiter-3 เป็นเลนส์ที่ “ห้ามพลาด” ด้วยประการทั้งปวง
แต่ถ้าไม่ใช่ ก็จงปล่อยผ่านไป แล้วไปหาเลนส์มือหมุนญี่ปุ่น 50mm f1.4 ที่ราคาไม่ถึงสามพันบาทมาใช้จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ
..........
.......... 
ขอให้มีความสุข เดินทางด้วยความไม่ประมาทเสมอครับ
     สวัสดี!!!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่