เงินเยียวยา Covid-19

ได้ยินข่าวข้อมูลเรื่องการแจกเงินเยียวยาภัยพิบัติ Covid-19 โดยใช้วิธีการแจกเงินรวมหัวละ 2,000 บาท แล้วไม่สบายใจ ถ้าข้อเท็จจริงตามข่าวจะแจกเงินให้ประชาชน 20,000,000 คน เท่ากับ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับผลกระทบการท่องเที่ยวที่ซบเซาที่ตัวเลข 4.6 หมื่นล้านบาท

ความเห็นส่วนตัว คิดว่าเงินเยียวยาน่าจะมาจากตัวเลขเรื่องการท่องเที่ยวเอามาอัดฉีดลงในระบบ แต่วิธีการแบบนี้ การแจกเงินรับไม่ค่อยได้ ผมได้ไปดูตัวเลข จำนวนหมู่บ้านในประเทศไทยข้อมูลปี 2562 จำนวนทั้งหมด 75,032 หมู่บ้าน ตกได้งบประมาณเฉลี่ยหมู่บ้านละประมาณ 500,000 บาท ซึ่งควรนำเงินนี้ไปเป็นงบประมาณลงทุนให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้านมากกว่า อยู่ที่ว่าจะทำอะไรในหมู่บ้านนั้น

ด้วยปัจจัย ณ ปัจจุบัน และ ฤดูกาล
1. การท่องเที่ยวซบเซา
2. ภัยแล้ง น้ำน้อย
3. พืชผลทางการเกษตรขายไม่ออก ไม่มีการเพิ่มมูลค่า
4. การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เกิดขึ้น
5. ปิดเทอม เข้าสู่ฤดูร้อน
6. งานสังสรรค์ยกเลิกหลายแห่ง จากพิษเศรษฐกิจ ภัยแล้ง และ Covid-19
7. แล้งมากไม่ได้เพาะปลูกอยู่แล้ว เหมาะกับการสำรวจ และปรับปรุงให้ดีขึ้น

รัฐบาลน่าจะนำงบประมาณเหล่านี้ให้เกิดการจ้างงานในแต่ละหมู่บ้านได้นะ ได้งบตั้ง 5 แสนต่อหมู่บ้าน แบบงบไม่ผูกพันจ่ายคืนเหมือนเงินกู้

1. ถ้าภัยแล้ง ก็สำรวจบ่อบาดาลให้ชาวบ้านใช้ไหม หรือ ทำชลประทาน สำรวจแหล่งเสื่อมโทรมที่จะทำแก้มลิงต่อเนื่อง?

2. การท่องเที่ยว เช่น จ้างงานนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยมีที่ปรึกษาหรืออาสาสมัคร นักวิจัย ให้สำรวจความเห็นชาวบ้าน ความเข้าใจ แต่ละหมู่บ้านเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อรวบรวมทำร่าง พ.ร.บ. การปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอสภา จะได้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นซะที ตาม รธน. 60 ที่ได้อ่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมันคล้าย ๆ กับระบบสหพันธรัฐ แต่ไม่ใช่ ดูแล้วเกือบเหมือน ๆ กัน เขาให้ประชาชนมีส่วนร่วม และแต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบต่างกันได้ (น่าจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นซะที แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่าไม่น่าใช่รูปแบบ อบต. อบจ. ที่เคยใช้กันอยู่)
หากมีการจ้างแรงงานจริง คนก็จะไปยังท้องถิ่นนั้น ๆ รถทัวร์ได้ใช้งานแน่นอน เหมือนตอนไข้หวัดนกช่วงหนึ่งที่ผมเป็นนักศีกษาก็ใช้วิธีการนี้ ดีกว่ารถจอดไว้เฉย ๆ มีการใช้รถทัวร์ รถบัส มีคนลงในพื้นที่ โรงแรมก็มีรายได้ พอคนลงพื้นที่ ร้านอาหารก็ต้องขายอาหาร เป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวที่ซบเซา และคนว่างงานจะได้มีงานทำด้วย การทำวิจัย รับรองอยู่เป็นเดือน งบ 500,000 ต่อหมู่บ้าน จะได้แรงงานหนึ่งเดือนที่ประมาณ 50 คน หากใช้อัตรา 10,000 บาท ต่อ เดือน ต่อ คน (ค่ายสร้างใช้เงินบริจาค คนไปก็ไม่มีค่าแรงยังหาคนไปได้ตั้งหลายคน นี่มีรายได้สนับสนุนจากภาครัฐ และปิดเทอมแล้วด้วย) นี่ไม่รวมงบประมาณท้องถิ่น และอื่น ๆ นะ

3. การเพิ่มมูลค่าทางผลผลิต อันนี้เคยโพสต์ในกระทู้ก่อนหน้าเรื่อง 3 สารพิษ ถ้ามีการลงพื้นที่จริงก็ต้องเหนื่อยหน่อย เพราะ ต้องทดสอบแหล่งน้ำ ดิน ว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ อยากให้มีการรับรองว่านาแปลงไหน ไม่มีการปนเปื้อน 3 สารพิษ ทำเป็น Brand ของพื้นที่นั้น ๆ ติดลงถุงข้าวสารเลย (แต่สถาบันที่รับรองก็ต้องมีการติดตามผล) ก็เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ผัก ผลไม้ organic กับ ผัก ผลไม้ ทั่วไป ราคาแตกต่างกันถึง 2-3 เท่า พอขึ้นโต๊ะร้านอาหารอาจถึง 10 เท่า (Organic ไม่เหมาะกับสายขี้เกียจ) พืชผลไทยควรเป็นสาย Organic ทั้งหมดทั้งประเทศได้แล้วจริง ๆ นะ ถ้าสู้ราคาเพื่อนบ้านไม่ได้ ต้องสู้ด้วยคุณภาพ

4. การระบาดของเชื้อ Covid-19 ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนพอดี การระบาดไม่น่าจะมากมายขนาดนั้น แต่ก็ต้องไม่ประมาท เคยอ่านงานวิจัยว่าเชื้อจะแพร่กระจายไม่ดีในภาวะอากาศร้อน การเดินทางในช่วงหน้าร้อนหรือทำงานในช่วงหน้าร้อนน่าจะปลอดภัยที่สุดของภาวะเช่นนี้

เหล่านี้คือความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ถ้าดูจากงบประมาณแจกเงินละลายแม่น้ำ เอาเงินไปเป็นงบลงทุนของแต่ละหมู่บ้านดีกว่า ตั้ง 4 หมื่นล้าน แต่ละหมู่บ้านน่าจะได้ประโยชน์ และความต้องการของตัวเองจริง ๆ ถ้าอยากแจกเงินมากโดยไม่สนใจอะไรเลย แนะนำให้ซื้อเรือดำน้ำดีกว่า ยังได้ของ แจกเงินแบบนี้ละลายเปล่า ๆ

เคยโพสต์ไว้ในกระทู้เก่าว่าปัญหาของรัฐบาลคือการสื่อสาร และการขอความร่วมมือกับภาคประชาชน อันนี้ห่วยจริง ๆ จัง ๆ โฆษกแต่ละคนออกมาทีไรหาเรื่องทะเลาะกับประชาชน ต้องคิดสิว่าต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนไม่ว่าฝ่ายเห็นด้วยหรือเห็นต่าง

ใครมีอะไรดี ๆ ก็เสนอแนะไว้ดีกว่า เผื่อคนในรัฐบาลมาอ่านจะได้ใช้เป็นข้อสังเกตบ้าง ไม่เอา Negative Comment นะ ให้ Comment เชิง เสนอแนะดีกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่