งานนิทรรศการหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า “นวนิยายที่คนอ่าน มากที่สุดในโลก”


วันนี้ผมขออนุญาตพาท่านไปชมงานนิทรรศการหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า “นวนิยายที่คนอ่าน มากที่สุดในโลก”  จัดโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ นำทีมโดยอาจารย์มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์   นิทรรศการครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จนถึง วันที่ 10 มีนาคม 2563 ณ ห้องวชิรญาณ 2  อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี  

โดยเรื่องราวในกระทู้นี้ผมขอนำภาพบรรยายกาศและรายละเอียดบางส่วนในวันเปิดงานนิทรรศการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เวลา 13.00 - 16.00 น.  ณ ห้องประชุมใหญ่ (ห้องดอกไม้สด)  สำนักหอสมุดแห่งชาติ  โดยงานในวันนั้นมีบุคคลสำคัญให้เกียรติมาร่วมงานมากมายหลายท่าน โดยฝ่ายไทยมี ฯพณฯ อิทธิพล  คุณปลื้ม  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  ให้เกียรติกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน  และมี ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสเปน H.E. Emilio de Miguel Calabia เป็นเจ้าภาพฝ่ายสเปน  รวมทั้งมีตัวแทนจากสถานทูตต่างๆ อีก 4 ประเทศมาร่วมงานด้วย

 


เพื่อให้ท่านที่เข้ามาเยี่ยมชมกระทู้นี้เห้นภาพโดยรวมของงานในวันนั้น  ผมจึงขออนุญาตอาจารย์สว่างวัน  ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า  นำเอาข้อความที่ท่านอาจารย์สว่างวันเขียนขอบคุณไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวของท่าน  โดยผมขอคัดลอกมาลงบันทึกไว้ในกระทู้นี้ด้วย  หวังว่าท่านพอจะเห็นภาพรวมโดยคร่าว ๆ ของงานได้ครับ

@@@@@@@@@

นิทรรศการดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า
นวนิยายที่มีคนอ่านมากที่สุดในโลก
 
จำเนียรกาลล่วงเลยไป 13 ปี

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2020 เรากลับมาพบกันอีกครั้ง ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี คุ้นหน้าคุ้นตากันหลายคนในงานนิทรรศการดอนกิโฆเต้ฯ หนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดในโลก
 
หลายคนสงสัยคุณไปเอาความมั่นใจจากไหน ก็ search เอาใน google นี่แหละค่ะ ทุกๆ ปี เขาก็ทำรายการหนังสือขายดี หนังสือยอดนิยม ดอนกิโฆเต้ ก็ติดอันดับตลอด ขายไปแล้วกว่า 500 ล้านเล่ม
 
หลายคนมาถามอีก ทำไมคนแปลไม่ค่อยพูดในเวทีเสวนา คือ คนแปลอยากฟังผู้อ่านค่ะ โดยเฉพาะ ผศ. ดร. ปณิธิ หุ่นแสวง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม และยังเป็นอาจารย์สอนวิชาอารยธรรมตะวันตกบางช่วงบางตอนซึ่งผู้แปลได้เข้าเรียน กราบขอบคุณอาจารย์ ผู้แปลอยากทราบว่า ผู้อ่านคิดอย่างไร เราแปลถูกไหม ไม่เอาความคิดของตนไปครอบงำใคร ปล่อยให้ผู้อ่านคิดเองอย่างที่ผู้ประพันธ์ตั้งใจหรือไม่ ใครอยากฟังผู้แปล ก็ลองอ่านงานแปลดูนะคะ ใช้เวลาเรียนรู้ และอ่านมาเกือบทั้งชีวิตเพื่อต้นฉบับนี้
 
ขอขอบคุณบุคคลที่ไม่เคยรู้จักกันเลยอย่าง ฯพณฯ รมต. อิทธิพล คุณปลื้ม ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีฝ่ายไทย ท่านคุยด้วยอย่างเป็นกันเอง และสนใจหนังสือ วรรณกรรมอย่างยิ่ง ขอขอบคุณผู้อำนวยการหอสมุด อธิบดีกรมศิลปากร อธิบดีส่งเสริมวัฒนธรรม ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ และร่วมงานด้วยความใส่ใจ
 
ขอขอบคุณ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตสเปน H.E. Emilio de Miguel Calabia เป็นเจ้าภาพฝ่ายสเปน ทั้งอนุเคราะห์สนับสนุนการเงิน อาหาร ธงประดับฯ และร่วมประชาสัมพันธ์ ให้แพร่หลาย

นอกจากนี้ ยังมีสถานเอกอัครราชทูตที่ใช้ภาษาสเปนอย่าง ประเทศโคลอมเบีย เปรู กัวเตมาลา และเม็กซิโกให้เกียรติมาร่วมงาน อันเป็นโอกาสกระชับมิตรระหว่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสถานทูตต่างๆ มากขึ้น
 
สำหรับหน่วยงานสุดท้ายที่เอ่ยถึง แต่มิได้หมายความว่าสำคัญน้อยกว่า ตรงกันข้าม เป็นสถานที่อาศัยได้ทำงานที่รักยิ่ง คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ขอขอบคุณท่านอธิการบดี ผศ. วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ที่กรุณามอบหมาย ผศ.ดร. บุญชาล ทองประยูร (ผอ. สถาบันนานาชาติ) มาร่วมแสดงความยินดี แต่สำหรับดิฉัน อ.บุญชาล ไม่เพียงเป็นผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย แต่เป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้ดิฉันไปเรียน ป.เอก ในครั้งที่อาจารย์บุญชาลเป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการของคณะ
 
สำนักพิมพ์ผีเสื้อ บรรดามดงานที่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อย โดยเฉพาะอาจารย์มกุฏ อรฤดี ความรักและหลงใหลในผลงานของเซร์บันเตสทำให้งานต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนักประพันธ์ผู้นี้งดงามประทับใจทรงคุณค่า มิเกล เด เซร์บันเตสในสุคติภพคงปลาบปลื้ม
 
ทีมงานสาขาสเปนน่ารักเหมือนเช่นเคย ผศ. ดร. โอฬาร น้องชายที่รักยิ่ง และวางใจได้ตลอดงาน สาวๆ สเปนมาร่วมรับรองแขกตั้งแต่เช้า
 
เพื่อนรักชาวอักษร วันนี้เป็นมินิรียูเนียนทีเดียว ขอบคุณ หน่อย พิ้ง เล็ก เอก โป้ย อัลเล่ย์ และลิ้ม
 
เพื่อนชาวธรรมศาสตร์ก็มา
 
พี่สาวและน้องสาว ที่เป็นแรงใจและเป็นสติยามเราลนลาน เสบียงกรังยามเหนื่อยอ่อน และเหนืออื่นใด เชื่อว่าแม่คงดูเราอยู่เบื้องบนเช่นทุกครั้ง
 
ขอบคุณผู้ฟังจากใจจริง

(จาก FB อาจารย์สว่างวัน  ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า)

รศ.ดร.สว่างวัน  ไตรเจริญวิวัฒน์
ผู้แปลหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า


@@@@@@@@@


สำหรับรายละเอียดของงานนิทรรศการหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า “นวนิยายที่คนอ่าน มากที่สุดในโลก”  ในครั้งนี้มีอะไรบ้างนั้น  ผมขอยกเอาข้อความที่ได้ระบุไว้จากแฟนเพจของ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ  มาลงไว้ให้ท่านได้ทราบกันครับ


นี่คือบางส่วนอันเกี่ยวข้องกับหนังสือ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน
ผลงานของผู้ประพันธ์เลื่องชื่อ มิเกล เด เซรบันเตส ซาเบดร้า
 
ความเป็นมาในเรื่องเหล่านี้ดำเนินมาอย่างไร หาคำตอบได้ในงาน นิทรรศการหนังสือ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า “นวนิยายที่คนอ่าน มากที่สุดในโลก”
 
วันพฤหัสบดี ที่ 20 กุมภาพันธ์ - 10 มีนาคม 2563
 
- ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับภาษาไทย หนังสือเล่มประวัติศาสตร์
- สถิติการพิมพ์ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่าฯ จวบจนวันนี้
- โลกบันทึก ดอนกิโฆเต้ฯ ผู้ประพันธ์และผลงาน
- ตามหาใบหน้าแท้จริงของ เซร๎บันเตส
- ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับแรกในประเทศสเปน
- ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับเถื่อน
- คู่แข่งของ ดอนกิโฆเต้ฯ หนังสือขายดี (Bestseller) ในยุคเดียวกัน
- “ไม่มีชาติใด ภาษาใด มิได้แปลหนังสือเรื่องนี้”
- หนึ่งดอนกิโฆเต้ฯ หนึ่งยูโร
- รัฐบาลเม็กซิโกแจกดอนกิโฆเต้ฯ หนึ่งล้านเล่ม4
- นวนิยายที่มีคำ เกือบสี่แสนคำ !
- ใช้เวลานานเท่าใด เพื่ออ่านดอนกิโฆเต้ฯ
- สี่ร้อยปี มรณกาลของเซร๎บันเตส
- เมื่อเซรบันเตส ใช้ Twitter
- เมืองกวานาฆวาโต้ เมืองหลวงแห่งเซร๎บันเตส ในเม็กซิโก
- ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับภาษาไทย ในพิพิธภัณฑ์บ้านเซรบันเตส
- พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับดอนกิโฆเต้ฯ
- บุหรี่แลกหนังสือ แรงบันดาลใจจากการอ่าน ดอนกิโฆเต้ฯ
- “ดอนกิโฆเต้ฯ หนังสือที่นักเขียนควรอ่าน”
- ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับเยาวชนและฉบับการ์ตูน
- ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับจักรวาล
- ดอนกิโฆเต้ฯ สู่ดวงดาว
- เส้นทางการผจญภัยในนวนิยายดอนกิโฆเต้ฯ สู่เส้นทางท่องเที่ยวสำคัญของสเปน
การเดินทางครั้งแรก
การเดินทางครั้งที่สอง
การออกเดินทางครั้งที่สาม
- คารวาลัย เซร๎บันเตส

 
(ซ้าย) อาจารย์มกุฏ อรฤดี , รศ.ดร.สว่างวัน  ไตรเจริญวิวัฒน์ (ขวา)



พาพันชอบพาพันเคลิ้มพาพันขยัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่