บันทึกการเดินทางเที่ยวกำแพงเมืองจีน ซือหม่าไท่: Simatai Great Wall and Gubeikou water town, China



“ท้องฟ้าอยู่สูง หมู่เมฆสีจาง
เห็นห่านป่าลงใต้ลับตา
หากไปไม่ถึงกำแพงเมืองจีน
ย่อมไม่ใช่วีรชน
ผ่านมาไกล วัดได้สองหมื่นลี้”

เหมาเจ๋อตุง
............

มีผู้คนจำนวนหนึ่ง เชื่อว่า ‘กำแพงเมืองจีน’ สามารถมองเห็นได้จากนอกโลก


ในความเป็นจริงแล้ว จากอวกาศเราไม่สามารถมองเห็น กำแพงหมื่นลี้แห่งนี้ได้ด้วยตาเปล่า …


แต่ความจริงข้อนี้ ก็ไม่อาจปฏิเสธความยิ่งใหญ่ ของกำแพงที่ยาวที่สุดในโลกแห่งนี้ไปได้… 

กำแพงเมืองจีนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? 
มีความสำคัญอย่างไร? ทำไมจึงต้องสร้าง?
สร้างแล้วมีประโยชน์อย่างที่ต้องการจริงหรือไม่? 

มาเรียนรู้ และออกเดินไปพร้อมกันเลยครับ 
..........


วันนี้ CrossCutting Journey ออกเดินทางกันแต่เช้ามืดจากที่พักย่าน ตงซื่อ หูทง 
ไปสถานีรถบัส ตงจื่อเหมิน 


อาหารเช้าวันนี้ กินกันง่ายๆ สั่งเจียนปิ่ง หรือจะเรียกว่าเครปจีนก็ได้
เป็นเสบียงอาหารเช้าก่อนออกเดินทาง



วันนี้จุดหมายของพวกเรา คือ เดินทางไปชมกำแพงเมืองจีน... หนึ่งในไม่กี่ด่านที่ยังคงสภาพดั้งเดิม 

นั้นคือ ด่านซือหม่าไท่ และเมืองริมน้ำ กู๋เป่ยโคว ที่อยู่ใกล้ๆ กันในเขตเมือง หมี่หยุน 
ซึ่งใช้เวลาบนรถบัสประมาณ 2 ชั่วโมงจากปักกิ่ง แล้วไปหารถ Taxi จากท่ารถหมี่หยุนต่อเข้าไปอีกที …


กำแพงเมืองจีน ด่านซือหม่าไท่ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปักกิ่ง 
 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 120 กิโลเมตร

 
แต่ถ้าจะพูดถึงระยะทางความยาวทั้งหมดของกำแพงเมืองจีน 
ตามที่มีการตรวจวัดล่าสุด มีการบันทึกไว้ที่ 21,196 กิโลเมตร 
ครอบคลุมพื้นที่ 15 มณฑลทั่วประเทศ

ตอกย้ำความเป็นสิ่งก่อสร้าง จากฝีมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เป็นกำแพงที่มีการก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม ซึ่งใช้เวลายาวนานหลายราชวงศ์
เป็นระยะเวลา 2000 กว่าปี 

และแน่นอนว่า ความยิ่งใหญ่อลังการของกำแพงหมื่นลี้แห่งนี้ 
ย่อมต้องแลกมากับหยาดเหงื่อ หยาดเลือด และหยาดน้ำตา
จากประชาชนที่เป็นแรงงานในการก่อสร้าง ... 
……….

The Great Wall of China หรือที่คนจีนเรียกว่า ‘ว่านหลี่ฉางเฉิง’ ’
หมายถึง กำแพงหมื่นลี้ ที่อยู่เคียงข้างกับประวัติศาสตร์จีนมาทุกยุคสมัย

โดยต้นกำเนิดการริเริ่มสร้างกำแพงเมือง ตามที่มีบันทึกนั้น 
เริ่มต้นราว 700 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยราชวงศ์โจว 


ซึ่งกษัตริย์ผู้ครองเมืองเริ่มมีความคิดที่จะสร้างกำแพงเมือง เพื่อปิดกั้นพรมแดนจากชนเผ่าเร่ร่อนนอกเมือง 
รวมถึงป้องกันการแข็งข้อบุกรุกจากแคว้นต่างๆ 


ต่อมาเมื่อถึงปลายยุคราชวงศ์โจว เข้าสู่ยุคจ้านกว๋อ ช่วง 475 ถึง 221 ปีก่อนคริสตศักราช จีนแตกเป็นแคว้นรัฐ 


โดยมี 7 รัฐใหญ่ คือ เยียน จ้าว ฉี เว้ย หาน ฉู่ และฉิน 
ส่งให้แผ่นดินมีแต่ความวุ่นวาย เกิดสงครามห่ำหั่นกัน 
แต่ละแคว้นต่างหวังครอบครองแผ่นดิน

กำแพงเมือง จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องเมืองของตน

ภายหลังช่วง 221 ปีก่อนคริสตศักราช
อิ๋งเจิ๋ง กษัตริย์รัฐฉิน สามารถรวบรวมรัฐต่างๆ มาเป็นแผ่นดินเดียวได้ 


และได้เปลี่ยนพระนามพระองค์เป็น ฉินสื่อหวงตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้
หมายถึง องค์ปฐมจักรพรรดิกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฉิน


การศึกภายในสงบ แต่ภายนอกข้าศึกยังคงอยู่

เพื่อเป็นการรักษาอาณาจักรอันกว้างใหญ่
จากการรุกรานของชาว ซงหนู ชนเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือ


และเพื่อเป็นการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่
พระองค์จึงได้สั่งให้มีการเชื่อมต่อกำแพงเมืองของแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน 
ให้เป็นกำแพงเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ! 


……….........

รถบัสจากปักกิ่ง ก็พาพวกเรามาถึงที่เมืองหมี่หยุน
และไม่ต้องห่วงนะครับว่า จะหารถแท็กซี่ต่อไปที่กำแพงเมืองจีนไม่ได้ 
ลงรถบัสมาก็เจอรออยู่เต็มเลย … 


สิ่งสำคัญคือ ต่อรองราคากันดีๆ ก็แล้วกันครับ 

พวกเราได้คนขับรถเป็นพี่ผู้หญิงคนหนึ่ง ราคารับได้
ดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรตุกติก ก็ออกเดินทางกันเลย

ติดอย่างเดียว … คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องน่ะสิครับ 





หมี่หยุน เป็นเขตชานเมือง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง
เป็นเขตที่มีธรรมชาติสวยงามและมีประวัติศาสตร์มากมาย

และจุดที่สำคัญ ที่ทำให้พวกเรามาที่นี่ ก็คือ ซือหม่าไท่ และ กูเป่ยโคว
สถานที่ซึ่งจะทำให้พวกเราได้อินไปกับ
เรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวจีน...



แต่พี่สาวของเรา ดันขับไปส่งผิดจุด… 

แต่ไหนๆ ก็มาแล้ว ลงไปสำรวจหน่อยดีกว่า


ระหว่างเดินก็หาข้อมูลไปด้วย หาเจอว่า ที่นี่เป็นด่านกำแพงเมืองจีนชื่อว่า Panlongshan 
เป็นด่านโบราณที่ไม่มีการอนุรักษ์ 

ท่ามกลางซากโบราณและวิวธรรมชาติ ผมว่ามันเป็นด่านที่สวยงามมากๆ 

 

แต่น่าเสียดายเวลามีจำกัด เดินเล่นถ่ายรูปไม่ถึงชั่วโมง
ก็ต้องรีบไปต่อ เพราะจุดหมายของเรารออยู่ เดี๋ยวจะหมดวันเสียก่อน … 


ติดตามอ่านต่อในคอมเมนต์ด้านล่างนะครับ 
และถ้าสนใจชมบันทึกในรูปแบบวีดีโอ สามารถกดชมตามลิ้งช่องยูทูปนี้ได้เลยนะครับ (^ __^)
ขอบคุณครับ 
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่