ตามภาพ ตามฝัน ไปปีนัง (ตอน 6)


ตอน 6
 
          เมื่อเข้าสู่ถนน Lebuh Cannon ที่เชื่อมต่อกับถนน Lebuh Armenian ก็ต้องตกใจกับจำนวนนักท่องเที่ยวแน่นขนัด จักรยานได้กลายเป็นส่วนเกินไร้ประโยชน์ไปเสียแล้ว ถนนที่เต็มไปด้วยคนมากขนาดนี้ ไม่สามารถปั่นต่อไปได้ ผมจึงตัดสินใจจอดจักรยานเอาไว้ตรงบริเวณศาลเจ้า Yap Kongsi ที่ตั้งอยู่ตรงมุมถนน โดยไม่ลืมที่จะล็อคกุญแจเอาไว้ก็รั้วเหล็ก คิดว่ายังไงก็น่าจะปลอดภัย ไม่หายแน่นอน เมื่อมั่นใจอย่างนั้นก็เดินเล่นอย่างสบายใจ บนถนนแห่งความสุขแห่งนี้ เริ่มต้นด้วยภาพ boy on Chair เป็นสตรีทอาร์ตที่ได้รับความนิยมมากอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพของเด็กวัยกำลังซนที่พยายามปีนเก้าอี้เอื้อมหยิบอะไรบางอย่าง นักท่องเที่ยวหลายคนต่อแถวรอถ่ายภาพ บ้างอารมณ์ดีเล่นสนุกโพสต์ท่าด้วยการดันก้นเด็ก ไม่ว่าจะท่าทางไหนๆ ก็ทำให้หลายคนมีรอยยิ้มได้ ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นสาวน้อยนั่งปิ้งย่างอะไรสักอย่าง คงเป็นเพราะนักท่องเที่ยวไม่รู้จะโพสต์ท่าเล่นอะไรกับสาวน้อยคนนี้ จึงได้เพียงแต่ถ่ายภาพและปล่อยให้สาวน้อยนั่งปิ้งย่างแบบเหงาๆ ไปตามลำพัง ว่าแล้วก็เดินไปสตรีทอาร์ตภาพต่อไป ซึ่งมีอยู่อีกหลายภาพบนถนนเส้นนี้
          
          ถนนสายเดิม อาคารเก่าก็ยังคงเดิม แต่กาลเวลาเท่านั้นที่ผันเปลี่ยนไป ไม่รู้ว่าในอดีตผู้คนมากหน้าหลายตาต่างภาษาต่างเชื้อชาติจะเดินกันจนเต็มท้องถนนมากมายแบบนี้มั้ย เรือลำแล้วลำเล่าแล่นจากตะวันตกมุ่งหน้าสู่ตะวันออกแวะจอดพักที่เกาะปีนัง พร้อมด้วยสินค้าหลากหลายเต็มลำเรือ แล้วก็จากไปเป็นเรื่องปกติ ทิ้งความร่ำรวยมั่งคั่งเอาไว้ให้กับจอร์จทาวน์ และด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ชาวต่างชาติอพยพเข้ามาอาศัยอยู่บนเกาะปีนัง โดยเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่ต่างเข้ามาลงทุนทำธุรกิจกอบโกยเงินทองร่ำรวยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ก่อร่างสร้างตัวจนมีอาณาจักรเล็กๆ ของตนเอง หลายตระกูลถึงขนาดมีศาลเจ้าประจำตระกูลขนาดใหญ่ภายในบริเวณบ้าน สร้างเรือนพักใหญ่โตโออ่าราวคฤหาสน์ เสาะหาวัสดุตกแต่งอย่างเริดหรู กระเบื้องปูพื้นสีสันแปลกตาจากประเทศอังกฤษ ราวเหล็ก บันไดวน นำเข้าจากสก็อตแลนด์ กระจกสีสันสวยงามสั่งตรงจากหลายประเทศแถบยุโรป สีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาคารตามแบบอินเดีย ต่างแข่งขันอวดร่ำอวดรวยกันอย่างคึกคัก โดยไม่มีใครเชื่อว่าทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาเหล่านี้สักวันจะเหือดหายไปพร้อมกับกาลเวลา 
จนเมื่อวันหนึ่งสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง เกาะปีนังเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรืองก็จริง แต่ด้วยเส้นทางภูมิศาสตร์ถือว่าไม่เหมาะสมกับการเดินเรือเอาเสียเลย เป็นเรื่องที่อังกฤษตระหนักดีมาตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากขณะนั้นไม่มีทางเลือกมากนัก จึงจำเป็นต้องเช่าเกาะปีนังเอาไว้ แล้วทุกอย่างก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริง เกาะปีนังที่เจริญรุ่งเรืองกลับไม่สามารถทำกำไรให้กับเจ้าของอาณานิคมอย่างอังกฤษได้เลย และเมื่อเรือทุกลำมีเป้าหมายอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ แหลมมาลายูจึงมีสภาพเป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น การเดินทางจากตะวันตกมุ่งสู่ตะวันออกย่อมต้องหาเส้นทางที่ดีที่สุด ระยะทางสั้น สะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และเกาะปีนังก็ไม่ได้มีจุดเด่นเหล่านั้นเลย ประกอบกับประเทศอาณานิคมอื่นเริ่มอ่อนแอลง ทำให้อังกฤษสามารถขยายอำนาจเข้าสู่แหลมมลายูได้อย่างเบ็ดเสร็จ อังกฤษเริ่มมองหาเมืองท่าแห่งใหม่ที่จะใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์การเดินเรืออย่างแท้จริง และสามารถทำกำไรได้มากกว่าเกาะปีนัง จนที่สุดก็ลงเอยที่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักมากนักในช่วงเวลานั้น ชื่อว่า “เกาะเทมาเสก” (Temasek) ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมมลายู อังกฤษเริ่มพัฒนาเกาะแห่งนี้อย่างจริงจัง ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ และจากเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรใดเลย ก็ไม่ทำให้อังกฤษต้องผิดหวัง เทมาเสกเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด สามารถทำกำไรให้กับอังกฤษอย่างมหาศาล จนกลายมาเป็นประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน
          เกาะปีนังถูกทอดทิ้งเสียแล้ว เงินทองมากมายมหาศาลที่หลายคนคิดว่าไม่มีวันหมด เรือสินค้าที่คิดว่าจะต้องกลับมาที่เกาะปีนัง บัดนี้ทุกอย่างไม่หวนคืนกลับ ล่มสลายไปในพริบตา เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่พังพินาศยับเยิน ไม่มีเรือ ก็ไม่มีการค้า เมื่อไม่มีการค้า ก็ไม่มีเงินทอง ความมั่งคั่งร่ำรวยไม่ยั่งยืนอย่างที่คิด ชาวจีนบางตระกูลต้องอพยพไปหาแหล่งการค้าแห่งใหม่ คฤหาสน์เริดหรูบัดนี้ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป หลายหลังถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ไม่มีเงินดูแลซ่อมแซม บ้างถูกขายทิ้ง บ้างปล่อยให้รกร้างไร้คนอาศัย ผู้คนต่างอพยพไปอยู่ที่อื่นปล่อยทิ้งอาคารบ้านเรือนให้ทรุดโทรมไปกาลเวลา นี่คือความจริงของโลกใบนี้ 
          เกาะปีนังได้กลับสู่เมืองที่เงียบสงบตามที่ควรจะเป็นแล้ว

          เดินต่อมายังถนน Lebuh Armenian ศูนย์กลางของสตรีทอาร์ตที่มีหลายภาพตลอดสองฝั่งถนน ถ้าหากรวมกับถนน Lebuh Cannon แล้ว จะมีสตรีทอาร์ตเกือบยี่สิบภาพเลยทีเดียว จึงเป็นเหตุผลทำให้บริษัททัวร์นำนักท่องเที่ยวมาหย่อนลงให้เดินเล่นบนถนนแห่งความสุขแห่งนี้ หลายภาพถึงขนาดต้องต่อคิวยาวรอถ่ายภาพ ทันใดนั้นเอง ก็แว่วเสียงดังโหวกเหวกโวยวายละคล้ายคนกำลังทะเลาะกัน แต่ความจริงกลับไม่ใช่อย่างที่คิด ภาพที่เห็นเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัยชาวจีนกำลังพูดคุยสนุกสนามกับการถ่ายภาพสตรีทอาร์ตที่ชื่อว่า Lion Dance สิงโตของชาวจีน ถือว่าเป็นภาพที่ได้รับความนิยมมากจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ตามความเชื่อที่ว่าสิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในเทพนิยายที่จะดลบันดาลโชคลาภมาให้กับทุกคน และไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่มุงกันอยู่ทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาติไหน เป็นชาวจีนทั้งสิ้น ยืนต่อแถวรอถ่ายภาพกันยาวเหยียด ส่งเสียงดังลั่นได้ยินกันทั้งซอย 
          สำหรับของที่ระลึกก็มีมากมาย หลากหลายชนิด ทั้งเป็นร้านและแผงลอย โดยส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นโปสการ์ด สมุดบันทึก เสื้อยืด พวงกุญแจ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีภาพของสตรีทอาร์ตปรากฏอยู่ทั้งสิ้น นอกจากสตรีทอาร์ตจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกหลากหลายชนิดได้อีกด้วย ถือว่าเป็นการต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างยอดเยี่ยม ผมเดินถ่ายภาพสตรีทอาร์ตอีกหลายภาพ ซึ่งตอนนี้แผนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป พับเก็บใส่กระเป๋าไปได้เลย เพียงแค่เห็นคนมุงอยู่ตรงไหน ก็รู้ได้ทันทีว่าสตรีตอาร์ตอยู่ตรงนั้น และระหว่างที่เดินต่อมาจนเกือบจะสุดถนน ผมสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่กำลังยืนมุงบางอย่างอยู่ จนมองไม่เห็นเลยว่ากำลังมุงดูอะไร ในใจคิดว่าก็คงเป็นสตรีทอาร์ตอีกภาพที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมากเป็นพิเศษเท่านั้น แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้สิ่งที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจก็เริ่มปรากฏ เป็นภาพสตรีทอาร์ตที่คุ้นตา
          และเป็นภาพอื่นไปไม่ได้!
 
          ตอนที่เปิดหาข้อมูลก่อนเดินทางมายังเมืองจอร์จทาวน์ มีเว็บไซด์หนึ่งให้นิยามสตรีทอาร์ตภาพนี้เอาไว้ว่า 
          “ภาพวาด ภาพเดียว แต่สร้างความสุขได้อย่างมากมาย”
          แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ 
          เมื่อภาพปรากฏอย่างชัดเจน ทุกอย่างก็ดูเหมือนจะหยุดนิ่ง ทั้งที่ผู้คนกำลังสนุกสนานหัวเราะกันเสียงดัง ผมยืนนิ่งจับจ้องไปที่ภาพสตรีตอาร์ต ด้วยหัวใจที่ตื่นเต้น
          เป็นเพราะสตรีทอาร์ตภาพนี้... ที่ทำให้ผมเดินทางมาถึงที่นี่

Kids on Bicycle อยู่ตรงหน้าของผมแล้ว ณ ตอนนี้
 
by 
กบในกะลาแก้ว








แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่