นิทานธรรมมะ

กระทู้คำถาม
นิทานธรรมบท
เรื่องบุพเพสันนิวาส(ตอนที่ ๑)
โดย  พระมหาภูวนาท  สุนฺทรสิทฺธิ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
ในแคว้นอัลละกัปปะเกิดกลียุค  ข้าวยากหมากแพง  ประชาชนเดือดร้อนกันไปทุกหย่อมหญ้า
ชายผู้หนึ่ง  นามว่า"โกตุหลิก"ร้องไห้โกตุหะลิกะ)
ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้  จึงได้พาเอาศรีภรรยาผู้มีลูกน้อย นามว่า"นางกาลี"
จัดแจงเสบียงอาหารเสร็จสรรพแล้ว  จึงพากันหนีออกจากเมืองไป
ด้วยมุ่งหมายว่าจะไปทำมาหากินในเมืองโกสัมพี
สองสามีภรรยานั้น
เมื่อเดินทางไปหลายวันเข้าๆ  เสบียงอาหารที่ตระเตรียมมาก็หมดสิ้น
ทั้งสองถูกความหิวครอบงำอย่างหนัก
ฝ่ายนายโกตุหลิกผู้ซึ่งเป็นสามี  ทนความหิวต่อไปไม่ได้
จึงได้กล่าวกะนางกาลีผู้เป็นศรีภรรยาว่า
"นี่เธอ  ถ้าเราทั้งสองยังมีลมหายใจอยู่  ก็สามารถมีลูกไว้สืบสกุลได้อีก  เพราะฉะนั้น  เธอจงทิ้งลูกน้อยคนนี้ไว้เสียตรงนี้นี่แหละ"
แต่ว่า
ธรรมดาผู้เป็นมารดา  มักมีหัวจิตหัวใจอ่อนโยนเสมอ
เพราะฉะนั้น
นางจึงพูดว่า
"คุณพี่  ดิฉันไม่สามารถทิ้งลูกน้อยของตัวเองได้ลงคอหรอก  เจ้าค่ะ"
นายโกตุหลิก
"เมื่อไม่ยอมทิ้งลูกน้อย  แล้วจะให้ทำอย่างไร"
นางกาลี
"เราทั้งสอง  ก็ผลัดเปลี่ยนกันอุ้มสิเจ้าคะ"
นายโกตุหลิกก็ไม่รู้จะทำประการใด  จึงต้องตามใจผู้เป็นภรรยา  อุ้มลูกน้อยของตัวเองเดินไป
หิวก็หิว  เหนื่อยก็เหนื่อย
(แต่ไม่รู้จะทำประการใดได้  เรียกว่าอุ้มลูกน้อยของตัวเองไปแบบไม่เต็มใจนั่นเอง)
สวนทางกับนางกาลีผู้เป็นมารดา
เมื่อถึงคราวที่ตนจะต้องอุ้มลูกน้อยบ้าง  นางก็อุ้มด้วยความเต็มใจที่จะอุ้ม
ประหนึ่งว่าอุ้มพวงมาลัยดอกไม้  ฉะนั้น
ทั้งๆที่สภาพร่างกายของนาง  ก็มิได้ต่างอะไรกับนายโกตุหลิก  แต่หัวจิตหัวใจของนางนั้น
กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความกรุณา
กลับมาที่นายโกตุหลิก
นายโกตุหลิกนั้น  บังเกิดทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส
จึงพยายามที่จะพูดรบเร้านางกาลีให้ทิ้งลูกน้อยของตนเอง
ประมาณว่าทิ้งลูกน้อยของเราไว้ตรงนี้นี่แหละ  เธอ  ถ้าเราทั้งสองยังมีลมหายใจอยู่ไซร้  ก็สามารถมีลูกไว้สืบสกุลได้อีก
แต่นางกาลีผู้เป็นมารดา
แม้ว่าตนเองจะยากลำบากสักเพียงใด  นางก็ไม่ยอมที่จะทิ้งลูกน้อยของตัวเอง
ฝ่ายลูกน้อยของสองสามีภรรยานั้น
เมื่อถูกผลัดเปลี่ยนกันอุ้มตามวาระ  ก็เหนื่อยล้านอนหลับไปในมือของผู้เป็นบิดา
นายโกตุหลิกนั้น
พอทราบว่าลูกน้อยของตัวเองนอนหลับไป
จึงสบช่องได้โอกาส  ทำอุบายว่าตนเองนั้นอุ้มลูกน้อยมานาน  ก็อยากจะพักเหนื่อยใต้ร่มไม้
จึงปล่อยให้นางกาลีเดินนำหน้าตนเองไปก่อน
แล้วตนเองก็หาใบไม้มาทำเป็นที่นอนให้ลูกน้อยของตนเองได้นอน  เสร็จแล้วจึงเดินตามนางกาลีไป
ฝ่ายนางกาลี
เมื่อเห็นแต่นายโกตุหลิก  แต่ไม่เห็นลูกน้อยของตนเอง  จึงถามว่า
"คุณพี่  ลูกน้อยของเราไปไหนเจ้าคะ"
นายโกตุหลิก
"ฉันทิ้งมันไปแล้ว"
นางกาลี
"คุณพี่เจ้าคะ  ได้โปรดอย่าทำร้ายดวงใจของดิฉันเลย  ดิฉันไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้  หากปราศจากลูกน้อย"
ดังนี้แล้วจึงร้องให้คร่ำครวญ  เอาฝ่ามือทุบตีที่หน้าอกของชายผู้เป็นสามี
นายโกตุหลิก
เมื่อไม่สามารถจะทำประการใดได้  จึงจำใจเดินกลับไปอุ้มลูกน้อยของตนเอง
แต่อนิจจา
ลูกน้อยของสองสามีภรรยานั้น
กลับสิ้นใจลงในระหว่างทาง
นายโกตุหลิก  ได้ทอดทิ้งลูกน้อยของตนเองในชาตินี้
เพราะฉะนั้น
นายโกตุหลิกนี้
จะต้องได้รับผลกรรมที่ตนเองได้กระทำลงไป  ถึง ๗ ครั้ง  ในชาติภพต่อไป  ด้วยประการฉะนี้
เพราะเหตุนั้น
สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  จึงตรัสไว้ว่า
"ขึ้นชื่อว่าบาปกรรมนี้  อันบุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่าน้อย  ดังนี้"
สองสามีภรรยานั้น
เมื่อเดินทางรอนแรมไปด้วยความยากลำบากหลายวันเข้าๆ
ในที่สุด
ก็เดินทางไปถึงตระกูลของคนเลี้ยงโคตระกูลหนึ่ง
เผอิญในวันนั้น
มีการทำขวัญแม่โคนมของนายโคบาล
นายโคบาลนั้น
ได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งให้ฉันภัตตาหารอยู่ในเรือนของตนเป็นประจำ
นายโคบาลนั้น
ครั้นเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ากระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว  จึงได้ประกอบพิธีทำขวัญแม่โคนม
ขณะประกอบพิธีอยู่นั้น
นายโคบาลเหลือบไปเห็นสองสามีภรรยา(นายโกตุหลิก กับนางกาลีนั่นแหละ)มายืนเกาะอยู่ที่รั้ว  จึงถามว่า
"ท่านทั้งสอง  มาจากที่ใดกันรึ"
ครั้นได้ฟังเรื่องราวแล้ว  ก็เกิดความสงสารในสองสามีภรรยานั้น
เผอิญในวันนั้น
ข้าวปายาสและเนยใสมีเป็นจำนวนมาก
นายโคบาล  จึงได้แบ่งข้าวปายาสและเนยใสให้แก่สองสามีภรรยานั้น
ฝ่ายนางกาลีผู้เป็นศรีภรรยา
ก็ได้กล่าวกะนายโกตุหลิกผู้เป็นสามีว่า
"คุณพี่เจ้าคะ  เราทั้งสองต่างก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาอย่างช้านาน  คุณพี่ทั้งหิวทั้งเหนื่อยมามาก  ขอจงรับประทานตามความต้องการเถิด  เจ้าค่ะ"
ดังนี้แล้วก็ได้วางข้าวปายาสพร้อมกับเนยใส  ไว้ข้างหน้านายโกตุหลิกผู้เป็นสามี
ส่วนตนเองนั้น
ได้รับประทานเนยใสเหลว  แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ฝ่ายนายโกตุหลิกนั้น
เพราะความที่ตนเองไม่ได้กินข้าวปลาอาหารมาถึง ๘ วัน  จึงไม่สามารถที่จะตัดความอยากในอาหารได้
ส่วนนายโคบาลนั้นเล่า
ครั้นให้ข้าวปายาสและเนยใสแก่สองสามีภรรยานั้นแล้ว  ตนเองก็เริ่มที่จะรับประทานบ้าง
นายโกตุหลิกนั้น
ในขณะที่กำลังนั่งรับประทานข้าวปายาสอยู่นั้น
ก็เหลือบไปเห็นนายโคบาลกำลังปั้นข้าวปายาสให้เป็นก้อนแล้วให้แก่นางสุนัขซึ่งนอนหมอบอยู่ใต้ตั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้า  จึงคิดว่า
"แหม  นางสุนัขตัวนี้  มีโอกาสได้ลิ้มรสโภชนาหารเห็นปานนี้  ช่างโชคดีเสียจริงๆ"
ในคืนของวันนั้นนั่นเอง
(โปรดติดตามตอนต่อไปในวันพรุ่งนี้)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่