พิจารณาวิบาก 7

พิจารณาวิบาก 7

    ก่อนที่เราจะทำการณ์สิ่งใด หรือหลังจากที่เรากระทำแล้วนำมาพิจารณาทบทวนสิ่งที่เรากระทำอยู่นั้น หรือพฤติกรรมที่เป็นนั้น เราจะต้องรู้จักการพิจารณาภาวะธรรมนั้นๆ ห้วงของภาวะนั้นๆ ของเหตุการณ์นั้นๆ  เรื่องนั้นๆ เป็นเช่นใด เราควรใช้หลักการพิจารณาวิบาก 7 อย่าง มีดังนี้

    "พิจารณา" แปลว่า ตรวจตรา ตริตรอง  สอบสวน เราต้องการสิ่งไหน ไม่เอาสิ่งไหน ได้แค่ไหน จะเอายังไง จะทำอย่างไรดี

    มหาพิจารณา คือ จะหาข้อมูล ธรรมะ ปรัชญา วิชาการ อื่นๆ มาสนับสนุนหรือบั่นทอน

    พิจารณาอย่างรอบคอบ คือ เอาสิ่งที่เราพิจารณานั้นมาทบทวนให้ละเอียดถี่ถ้วน จะส่งผลถึงปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ควรทำ แค่ไหน อย่างไร

    "วิบาก" แปลว่า "ผล" เคยหรือกำลังได้กระทำซึ่งกันและกัน สิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน ปฏิสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้อง เกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงกัน

    1. ชอบธรรม คือ การพิจารณาว่าถูกต้องตามครรลองครองธรรมหรือไม่ มีสิทธิหรือไม่ที่จะกระทำต่อบุคคลหรือเหตุการณ์นั้นๆ หรือไม่ คือ จะไม่ยึดว่าถูกต้องตามตนเอง ผู้อื่น หรือใครบุคคลคนหนึ่ง เช่น การขโมย เรามีสิทธิ์จับแต่ไม่มีสิทธิ์ขังเขา เพราะไม่มีความชอบธรรม แม้ตำรวจจับก็ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสิน ต้องเป็นศาลมีสิทธิ์ในการตัดสินว่าใครผิดใครถูก (Is it right)

    2. สมควร คือ การพิจารณาว่าสิ่งที่ทำนั้นสมควรทำหรือไม่ และหากสมควรทำเราจะทำอย่างไร สมควรในที่นี้ คือ สมควรแค่ไหน คือเรามีสิทธิแล้ว เช่น จะตีก้นเด็ก จะตีแรงแค่ไหน สมควรจะคาดโทษ ให้มีความพอเหมาะ พอดี

    แล้วเรามีสิทธิ์ในการทำเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด และทำได้แค่ไหน หากเราไม่มีคำว่า "สมควร" เราก็จะทำสิ่งเหล่านั้นมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผล แต่จะกลับกลายสร้างปัญหาตามมา เพราะว่ามันเกิน เราต้องทำให้มัน "พอดี" จึงจะเกิดคำว่า "สมควร" (Is it appropriate to do it)

    3. เหมาะสม คือ เหมาะสมกับภาวะการณ์นั้นๆ เช่น คนนี้เขาทำผิด แต่เขาป่วยก็ไม่เหมาะสมที่จะไปลงโทษเขา และถ้าเขาเป็นโจรแต่ได้รับบาดเจ็บต้องนำส่งโรงพยาบาลรักษาก่อน ก่อนที่จะส่งเข้าคุก

    การพิจารณาถึงความเหมาะสมเข้ากับเหตุการณ์นั้นๆ หรือเราทำสิ่งหนึ่งแล้วเรานำสิ่งนั้นมาผสมเข้ากับสิ่งนั้นหรือไม่ (Is this action ruitable)

    4. บุคคล คือ การพิจารณาถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในสิ่งที่เรากระทำ นิสัยบุคคล ความสัมพันธ์กับอุปนิสัย จริต และภาวะการณ์ของบุคคลนั้นๆ เช่น คนบ้าเราไม่ควรเอาความกับเขา และอีกกรณีหนึ่ง ถ้าเราเป็นเจ้านายจะด่า ตำหนิติเตียนลูกน้อง ถ้าเขาเป็นคนขี้โมโห ถ้าเราไปด่าเขาแรงๆ เราอาจจะถูกเขาฆ่าตายแน่นอน และอีกกรณีหนึ่ง ถ้าเขาเป็นคนไม่เอาไหนแล้วให้ไปเฝ้าของ เขาก็ไม่เฝ้าของ (Is it ruitable way for a person who you make contact it)

    5. สถานที่ คือ การพิจารณาถึงสถานที่ ที่นั้นๆ และสภาพแวดล้อมนั้นๆ เช่น คนคนนี้เขาผิดจริง แต่ว่าอยู่ในงานเลี้ยง เราไม่ควรไปด่าเขา เขาจะได้รับความอับอายอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่เลย (Place)

    6. กาล คือ การพิจารณาความเหมาะสมของ "เวลา" ก่อนทำ ขณะกระทำ หลังการทำ และกาลเวลาที่เลยผ่าน คือ กาลเทศะจะเหมาะสมหรือไม่ เช่น เวลานั้นเขากำลังโมโห หรือเขาเมา เราไปต่อว่าเขา แล้วเราจะเดือดร้อน (Is it right time)

    7. การณ์ คือ พิจารณาเรื่องราว ภาวะการณ์นั้นๆ เหตุการณ์ เช่น รถชนกันอยู่ เขาบาดเจ็บ แล้วไปถามเรื่องกุญแจว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งไม่ถูกกับเหตุการณ์ และอีกกรณีหนึ่ง ผัวเมียกำลังทะเลาะกัน เราเข้าไปพูดคุยอาจได้รับอันตรายได้ (Is it right situation)

    รวมความแล้ว ให้เห็นความสัปปายะว่าจะทำสิ่งนั้นเหมาะไหม มีสัปปายะไหม

^_^  ..._/\_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่