การมองเห็น ข้างนอกและข้างในจิตวิญญาณ

การมองเห็น ข้างนอกและข้างในจิตวิญญาณ

    ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น และบางคนได้รับรู้สิ่งต่างๆ แล้วแสดงอาการออกไป แสดงว่าเขามีความคิดเห็นบางประการจึงแสดงออกไป ความเห็นนี้มีด้วยกัน ๒ ประการ คือ

    ๑. สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นที่ถูกต้อง

    ๒. มิจฉาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นที่ผิด ไม่ถูกต้องตามครรลองครองธรรม

    สิ่งที่เป็นสื่อให้เรามีความคิดเห็นที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องนั้น มีด้วยกัน ๒ เส้นทาง คือ

    ๑. ปรโตโฆสะ คือ ได้ยินได้ฟังจากบุคคลอื่น อาจจะเป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอน เพื่อนฝูง รายการทีวี หนังสือพิมพ์ ฯลฯ แล้วเราเข้าใจ มีความเห็นถูกหรือผิด ถ้าสิ่งที่เรารับรู้นั่นถูกต้อง เราเข้าใจสิ่งนั้น ก็เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่หากว่าเขาไม่เข้าใจสิ่งนั้นจริง เป็นการเข้าใจที่ผิดพลาด แล้วมาพูด หรือชี้แนะให้เราฟัง เราเชื่อคล้อยตาม เราจึงผิดพลาดไปด้วย เราเรียกว่า เป็นความเห็นที่ผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ

    ๒. โยนิโสมนสิการ คือ การคิดพิจารณาโดยแยบคลาย แยบยล รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การคิดเอาเองแต่คิดแล้วใช่ ถูกวิธี คิดอย่างเป็นไปตามธรรม ถูกต้องตามธรรม คนที่จะคิดได้วิเคราะห์ พิจารณาได้อย่างนี้ ต้องได้รับการฝึกฝนเรียนรู้การคิดวิเคราะห์อย่างหยาบไปจนถึงละเอียด วิธีคิดอย่างโยนิโสฯ นี้คือ เราจะทำอะไรต้องพิจารณาถึงความถูกต้อง เหมาะสม เรียกว่าพิจารณาวิบาก ๗ ประการ ได้แก่ ชอบธรรม สมควร เหมาะสม บุคคล สถานที่ เหตุการณ์ และกาลเวลา ถ้าเราพิจารณาทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว ประพฤติ กระทำลงไป ย่อมไม่มีผิดพลาดเลย เพราะเราได้อุดช่องโหว่นั้นแล้ว

    บางครั้งเราคิดว่าเรามีความเห็นที่ถูกต้องต้องแล้ว แต่ทว่าข้างในจิตใจเราส่วนลึกนั้น กลับมีความเห็นที่ผิดก็มี เช่นเป็นการไม่ยอมรับในคำสั่งสอนของปราชญ์หรือผู้รู้ที่แนะนำเรา บางครั้งเราบอกว่าเราเข้าใจในสิ่งที่ผู้รู้ได้บอกเราแล้ว ปากก็บอกเออออไปตามนั้น และใจก็เห็นคล้อยตาม แต่ในความเป็นจริง จิตส่วนลึกของเราไม่ยอมรับสิ่งเหล่านั้นก็อาจเป็นได้

    ฉะนั้น หากแบ่งแยกในการแสดงออกของทิฏฐิทั้งทางกุศลและอกุศลมี ๓ อย่าง คือ

๑. ทิฏฐิโดยตรง คือ การแสดงอาการออกมาเลย ทำให้คู่กรณีของเราทราบทันทีว่า เขามีความคิดเห็นอย่างไร เชื่อตามนั้นหรือไม่ อย่างไร

๒. ทิฏฐิหลบ คือ การหลบไว้ ไม่แสดงออกมา

๓. ทิฏฐิแฝง คือ แฝงเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึก

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่