หลังผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจในผู้ป่วยอายุน้อย จะเป็นอย่างไรบ้างคะ?

หลังจากรับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ หรือ การผ่าตัดอื่นๆเกี่ยวกับหัวใจ อยากทราบว่าผู้ป่วยมีอาการเป็นอย่างไรบ้างบ้างคะ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 
- หายขาดไหม ในภายภาคหน้าจะกลับมาเป็นอีกหรือเปล่า
- ต้องทานยาตลอดชีวิตไหมคะ หรือ ตอนทานยานานมากไหมกว่าจะหายเป็นปกติ
- ยังมีอาการเหนื่อยง่าย หรือ อาการอื่นๆที่เป็นก่อนผ่าตัดอยู่ไหมคะ
- เสี่ยง หรือ มีโอกาสหัวใจวายอีกหรือเปล่า

ขออนุญาตเปิดกระทู้ถามผู้รู้หรือผู้ที่มีประสบการณ์ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจค่ะ ขอบคุณจริงๆนะคะสำหรับพื้นที่และทุกๆการตอบกลับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
จากที่เจ้าของกระทู้ถามมา พี่หมอไปสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจมาแล้วได้รับคำตอบมาดังนี้ครับ ค่อนข้างยาวซักหน่อย แต่น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวผู้ป่วย รวมถึงคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยด้วยครับ

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว อาการที่สังเกตได้ ก็คือ จะเหนื่อยเร็วมากกว่าปกติ บางคนนั่งอยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย  สาเหตุก็มาจากการที่เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ เพราะลิ้นหัวใจเริ่มเสื่อมสภาพ  เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ นอกเหนือจากการซักประวัติแล้ว แพทย์ก็จะทำการตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจหัวใจโดยเฉพาะ โดยใช้วิธีเช่น ตรวจคลื่นฟ้าหัวใจ (EKG) ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram) เพื่อประเมินระดับการตีบแคบของลิ้นหัวใจ ก่อนพิจารณาว่าจะต้องมีการผ่าตัดหรือไม่

ซึ่งสาเหตุความผิดปกติของลิ้นหัวใจ มีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุครับ
     - ความพิการของลิ้นหัวใจแต่กําเนิด (Congenital Valve Disease) เช่น ลิ้นหัวใจตีบ ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่แรกคลอดและมักต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
     - โรคลิ้นหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease) ซึ่งเป็นโรคลิ้นหัวใจผิดปกติชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย สาเหตุก็มาจากการติดเชื้อ
สเตรปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ทําให้เกิดไข้รูมาติก มีผลทําลายลิ้นหัวใจของผู้ป่วย และเมื่อลิ้นหัวใจถูกทำลายก็จะมีพังผืดและหินปูนเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจเปิด-ปิดได้ไม่ดีเหมือนปกติ หัวใจจึงต้องทำงานหนัก ผู้ป่วยส่วนมากจะเริ่มแสดงความผิดปกติของหัวใจในช่วง 5-10 ปี หลังจากเป็นไข้รูมาติก
     - โรคลิ้นหัวใจผิดปกติจากการเสื่อมสภาพ (Degenerative Valve Disease) ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ สาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจผิดรูปและมีการเปิด-ปิดที่ไม่สนิท ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการโรคลิ้นหัวใจรั่วได้เช่นกันครับ
     - โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Infective Endocarditis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด (Bacteremia) ทำให้ตัวเชื้อโรคไปเกาะกินที่ลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเฉียบพลันและหัวใจวายรุนแรงรวดเร็วมาก ยิ่งหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมัน
ในเลือดสูง และโรคอ้วน
     - โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ สาเหตุจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีหินปูนเกาะสะสมที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิด-ปิดได้น้อยลง โรคนี้พบได้มากในผู้สูงอายุ แต่คนทั่วไปก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นเช่นกันนะครับ คุณหมอแนะนำให้สังเกตอาการของตัวเอง เช่น เหนื่อยง่าย แม้ในขณะที่ทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน เป็นลมหมดสติ มีอาการแน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้ ก็ควรรีบมาพบแพทย์เลยนะครับ

ปัจจุบันมีการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วหลายวิธี คือ
    - การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม (Valve Replacement) เพื่อทดแทนลิ้นหัวใจเดิม เป็นวิธีที่ให้ผลในการรักษาที่ดีมาก ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยลิ้นหัวใจเทียมนี้จะเป็นโลหะ มีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี แต่ผู้ป่วยที่รักษาโดยวิธีนี้จะต้องทานยาเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว อย่างต่อเนื่อง และต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือกระทบกระเทือนจนเลือดออกง่าย ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์หรือมีลูกได้
    - การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) ซึ่งมีหลายแบบ เช่น
o  การตกแต่งส่วนที่ผิดปกติของลิ้นหัวใจ เพื่อลอกหินปูนที่จับตัวออก และนําเยื่อหุ้มหัวใจของผู้ป่วยมาซ่อมแซมลิ้นหัวใจ
o  การผ่าตัดขยายลิ้นหัวใจที่ตีบให้เปิดกว้างได้อย่างปกติ
o  การซ่อมแซมส่วนที่รั่วของลิ้นที่ปิดไม่สนิท

ซึ่งหลังผ่าตัด ผู้ป่วยอาจไม่จําเป็นต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด โดยปัจจุบันนี้แพทย์สามารถใช้วิธีผ่าตัดแบบแผลเล็ก เจ็บน้อยได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

     - การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด หรือ TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation) ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ อาจเลือกใช้การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณขาหนีบ (คล้ายการทำบอลลูน) เมื่อสายสวนไปถึงบริเวณของลิ้นหัวใจเอออร์ติกที่ตีบแล้ว แพทย์จะทำการปล่อยให้ลิ้นหัวใจเทียมที่มีการม้วนพับอยู่กางออก กลายเป็นลิ้นหัวใจอันใหม่ และเนื่องจากไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 5-7 วัน
และจะมีแผลเล็กๆ เฉพาะบริเวณที่เจาะสอดสายสวนเท่านั้น

ดังนั้น สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการซ่อมลิ้นหัวใจแล้วผลการผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจก็จะสามารถใช้งานได้ถึง 80-90 %ในช่วง 10-20 ปีแรก ถ้าหากมีความเสื่อมเกิดขึ้นอีกโอกาสเสี่ยงหัวใจวายก็จะมีน้อยและการผ่าซ้ำก็มักไม่เป็นอันตรายและมีเปอร์เซ็นต์ที่จะสําเร็จสูงด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับอายุและโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย  โดยหลังจากที่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมของตนเองเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น ควบคุมอาหาร
โดยเฉพาะน้ำตาล งดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อชะลอความเสื่อมของลิ้นหัวใจและป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำอีกนะครับ

คำตอบของพี่หมอ น่าจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของกระทู้นะครับ 🙂
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่