คนไทยสมัยก่อนเข้าใจภาษาต่างประเทศได้อย่างไร?

ผมสงสัยว่า ในสมัยที่ชาวต่างชาติเข้ามาไทยแรกๆ คนไทยเราเข้าใจได้อย่างไรครับว่าคำๆนี้แปลว่าอะไร เพราะสมัยนั้นก็ยังไม่มีพจนานุกรม และคนไทยสื่อสารกับชาวต่างอย่างไร รู้ได้อย่างไรว่าฝรั่งพูดคำนี้แล้วหมายถึงอย่างนี้ในภาษาไทย
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
- ชาติตะวันตกและสยามจะคุยกันผ่าน "ล่ามมลายู" ครับ สาเหตุน่าจะเริ่มมาจากการติดต่อกันครั้งแรกระหว่างโปรตุเกสกับอยุธยา เนื่องจากในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรตุเกสเข้ายึดเมืองมะลากาซึ่งเคยเป็นประเทศราชของอยุธยา แต่เมื่อโปรตุเกสทราบเลยกลัวจะต้องทำสงครามกับอยุธยา จึงรีบส่งทูตเข้ามาอยุธยาพร้อมด้วยคนพื้นเมืองมะลากา โดยล่ามมะลายูสามารถพูดได้ทั้งภาษาโปรตุกีสและภาษาไทย  จึงสามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง
- ต่อมาขุนนางสยามกรมท่าขวา เริ่มมีการเรียนภาษาโปรตุกีสกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ขุนนางสยามบางคนสามารถพูดภาษาโปรตุกีสได้ และใช้เป็นภาษากลางในการติดต่อกับชาติตะวันตกเรื่อยมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว
- เมื่อฮอลันดา เข้ามามีอิทธิพลทางการค้ากับอยุธยา ภาษาดัชต์ กลายเป็นภาษาที่สำคัญของราชสำนักสยามไปโดยปริยาย พระราชสาส์นและอักษรสาส์นที่มีไปมาระหว่างอยุธยาและปัตตาเวีย ล้วนแต่เขียนเป็นภาษาดัชต์
- เมื่อตั้งกรุงเทพเป๋็นราชธานีได้ ๔ ปี โปรตุเกสเป็นชาติแรกที่สยามส่งทูตไปติดต่อ โดยในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ รัชกาลที่ ๑ โปรดฯ ให้คณะราชทูตเข้าไปถวายเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย ที่ ๑ ณ กรุงลิสบอน โดยในครั้งนี้ได้พบพระราชหัตถเลขาหรอืจดหมาย (ไม่ใช่พระราชสาส์นที่เป็นทางการ) จากรัชกาลที่ ๑ เป็นเป็นภาษาโปรตุกีสจากสยามโดยตรง พูดถึงเรื่องสยามทำสงครามกับพม่า (สงครามเก้าทัพ) พูดถึงสยามช่วยพระเจ้าแผ่นดินเวียดนามรบกบฏ พูดถึงการขอซื้อปืน และอวยพรการเป็นพันธมิตรกับระหว่างโปรตุเกสและสเปน แสดงว่าแม้จะเสียกรุงแต่ราชสำนักสยามใหม่ยังใช้ภาษาโปรตุกีสเป็นภาษาหลักในทางการทูต และในกรมท่าคงมีขุนนางที่รู้ภาษาโปรตุกีสรับราชการเหมือนในสมัยอยุธยา (มีหลักฐานพบว่ามีคนเชื่อสายโปรตุเกสหลงเหลือจากการกวาดต้อนของพม่าในคราวเสียกรุง อยู่พอสมควร)
- เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ภาษาดัชต์ได้หายไปจากกรมท่าของสยามพร้อมอิทธิพลทางการค้าเริ่มหายไปจากภูมิภาคนี้ (ซึ่งจะแทนที่ด้วยอังกฤษในอีกสิบปีต่อมา) แต่ภาษาโปรตุกีสกับคงอยู่ในสยามอย่างน่าประหลาด
- เมื่อครั้งอุปราชอินเดียของอังกฤษส่งราชทูตจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เข้ามาเป็นทูตในสมัยรัชกาลที่ ๒ พบว่าในสยาม "ไม่มีใครเข้าใจภาษาอังกฤษ" และฝ่ายอังกฤษก็ไม่มีใครเข้าใจภาษาโปรตุกีส จึงต้องย้อนกลับไปใช้วิธีการแบบโบราณครั้งพระรามาธิบดีที่ ๒ นั้นคือ "ภาษามลายู" โดยแปลภาษาอังกฤษเป็นมลายูและแปลมลายูเป็นไทย กลับไปกลับมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงเริ่มมีล่ามภาษาอังกฤษ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 15
ในยุคแรกๆ นิยมใช้ชาวมลายูตามที่ด้านบนกล่าวไว้ครับ  เนื่องจากมีชาวยุโรปเข้ามาตั้งนิคมการค้าในคาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซียหลายชาติ  ทำให้ชาวตะวันตกมักจะรู้ภาษามลายู  ในขณะที่สยามมีขุนนางชวามลายูในสังกัดกรมอาสาจามอยู่จำนวนมาก  ภาษามลายูจึงกลายเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างสยามและชาวยุโรป โดยเริ่มจากโปรตุเกสที่เป็นชาติยุโรปชาติแรกที่เข้ามีอำนาจในแถบนี้ด้วยการยึดครองมะละกา

ด้วยเหตุที่โปรตุเกสมีอำนาจทางทะเลอยู่ในภูมิภาคอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานาน ทำให้ภาษาโปรตุเกสกลายเป็นภาษากลาง (lingual franca) ของชาวยุโรปในภูมิภาคนี้ แม้ว่าโปรตุเกสจะเสื่อมอิทธิพลทางทะเลไปหลังจากถูกดัตช์ยึดครองมะละกาใน ค.ศ. ๑๖๔๑ ภาษาโปรตุเกสก็ยังคงใช้งานในภูมิภาคนี้มาอีกยาวนานรวมถึงในสยามด้วย

สันนิษฐานว่าคนไทยในสมัยโบราณเริ่มใช้ชาวอินเดียหรือชาวมลายูจึงอยู่ใต้อำนาจของโปรตุเกสเป็นล่ามก่อน  หรืออาจศึกษาจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาในสยามโดยตรง  จนในเวลาต่อมาจึงศึกษาภาษาโปรตุเกสมากขึ้นและสามารถใช้ภาษาโปรตุเกสได้เองโดยไม่ต้องใช้ภาษามลายูเป็นหลักอีก (แต่ยังพบว่ามีการใช้อยู่เป็นบางครั้ง)  ปรากฏในจดหมายเหตุของพระอธิการ เดอ ชัวซีย์ (abbé de Choisy) มิชชันนารีฝรั่งเศสที่เข้ามาอยุทธยาใน พ.ศ.๒๒๒๘ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ระบุว่าขุนนางไทยตอนนั้นสามารถพูดภาษาโปรตุเกสได้ทุกคน  เรื่องนี้อาจฟังดูเกินจริงไปบ้าง สันนิษฐานน่าจะพูดได้แค่ขุนนางกรมพระคลังบางคนที่มีหน้าที่ติดต่อกับชาวต่างประเทศโดยตรงมากกว่า แต่ก็สะท้อนให้เห็นได้ดีว่าภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาหลักที่สำคัญในราชการต่างประเทศสมัยอยุทธยาครับ

พิจารณาจากสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ. ๒๒๓๐  ต้องทำเป็นสามภาษาคือภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส และภาษาปตุกกรร (โปรตุเกส)   มีคำทับศัพท์จากภาษาโปรตุเกส เช่น เรียกตำแหน่งของราชทูตลา ลูแบร์ว่า "อิงวิยาโดรเอกโตรวิยารี" มาจากภาษาโปรตุเกสคือ enviado extraordinário ไม่ได้แปลจากฝรั่งเศสที่เป็น  envoyé extraordinaire จึงแสดงว่าในการแปลภาษาฝรั่งเศส น่าจะแปลเป็นภาษาโปรตุเกสก่อนแล้วแปลเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่งครับ

หน้าสุดท้ายของสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ระบุว่าทำหนังสือสัญญา ๓ ภาษา



สำหรับชาติยุโรปอื่นๆ ในระยะแรกเข้าใจว่าใช้ภาษามลายูเป็นสื่ออยู่ แต่เมื่อมีชาวต่างประเทศเข้ามาในสยามมากขึ้นก็เริ่มเรียนรู้ภาษานั้นๆ โดยตรง  แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้รู้ภาษามักเป็นชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมานานจนรู้ภาษาไทย  ลูกครึ่งชาวต่างประเทศ  หรือคนที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งมีโอกาสได้เรียนภาษาจากมิชชันนารี  มากกว่าจะเป็นคนไทยทั่วไปครับ

ชาวต่างประเทศที่รู้ภาษาก็อาจได้รับราชการเป็นล่าม ปรากฏตำแหน่งล่ามในกรมท่าขวา (ดูแลการต่างประเทศแถบตะวันตกเช่น อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ และชาติยุโรปต่างๆ) และกรมท่าซ้าย (ดูแลการต่างประเทศแถบตะวันออกเช่น จีน ญี่ปุ่น และดัตช์ที่มีนิคมการค้าอยู่ที่อินโดนีเซีย) และ ซึ่งสังกัดกรมพระคลังหลายตำแหน่ง ดังต่อไปนี้ครับ

กรมท่าขวา  

ในสังกัดหลวงราชมนตรี เจ้าท่าว่าแขกประเทษอังกฤษญวนฝรัง (คือประเทศแถบยุโรปรวมถึงญวนในสยามซึ่งมักนับถือศาสนาคริสต์)
- ล่ามไม่ระบุภาษา ๔ คน คือ หมื่นพินิจวาที หมื่นศรีทรงภาษา หมื่นสัจวาที หมื่นสำเรจ์วาที ศักดินา ๓๐๐ ไร่
- ล่ามอังกฤษ ๒ คน คือ หมื่นทิพวาจา หมื่นเทพวาจา ศักดินา ๓๐๐ ไร่

ในสังกัดหลวงนนทเกษ เจ้าท่าได้ว่าพราหมณ์เทษ (คืออินเดีย)
- ล่ามไม่ระบุภาษา ๒ คน คือ  หมื่นสัจะวาจา หมื่นสัจวาที ศักดินา ๓๐๐ ไร่

ในสมัยหลังปรากฏตำแหน่งล่ามมลายูคือ หลวงโกชาอิศหาก


กรมท่าซ้าย
- จีนล่ามนายอำเภอ คือ ขุนท่องสื่อ ขุนท่องสมุท ศักดินา ๖๐๐ ไร่
- ล่ามฝรั่งเศส  คือ ขุนวรวาที ศักดินา ๓๐๐ ไร่
- ล่ามกะปิตัน คือ ขุนราชาวะดี ขุนรักษาสมุท  ศักดินา ๓๐๐ ไร่
- ล่ามแปลนายสำเภาปากน้ำ   ขุนวิสุทสาคร ศักดินา ๔๐๐ ไร่


ยกตัวอย่างออกญาวิไชยเยนทร์ หรือ คอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constance Phaulkon) เสนาบดีชาวกรีกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญหลายภาษา ทั้งภาษาไทย อังกฤษ โปรตุเกส มลายู ก็เริ่มรับราชการในกรมพระคลังโดยมีตำแหน่งเป็นล่ามก่อน  และได้รับหน้าที่เป็นล่ามแปลพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ด้วย  (แต่ความจริงฟอลคอนไม่เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสมากขนาดจะแปลได้เอง จึงมีโพยคำแปลภาษาโปรตุเกสไว้อ่าน  จากนั้นพระสังฆราช เดอ เมเตลโลโปลิส แห่งคณะมิสซังต่างประเทศซึ่งเป็นผู้รู้ภาษาไทยจะแปลเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง)

ตอนคณะทูตไทยไปฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ. ๒๒๒๙ มีล่ามสองคน ได้แก่ บาทหลวงอาร์ตุส เดอ ลิยอนน์ (Artus de Lionne) จากคณะมิสซังต่างประเทศซึ่งอยู่ในเมืองไทยมานาน   อีกคนเป็นล่ามลูกครึ่งชื่อ ฟร็องส์ซัวส์ ปิไญรู (François Pinheiro) เป็นบุตรชายของคนไทยเข้ารีตชื่อ วิเซ็นตึ ปิไญรู  (Vicente Pinheiro) ซึ่งเป็นล่ามเช่นเดียวกัน   ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา วิเซ็นตึมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวรวาที ล่ามฝรั่งเศสครับ

นอกจากนี้ยังมี ดาเนียล โบรเชอบอร์ด (Daniel Brochebourde) ศัลย์แพทย์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ เป็นผู้รู้ภาษาไทยเนื่องจากเคยทำงานอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นเวลาหลายปีจนได้ภรรยาคนไทย แล้วมารับราชการเป็นศัลย์แพทย์หลวงในราชสำนัก พร้อมกับทำหน้าที่เป็นล่ามให้บริษัทไปด้วย   ทั้งดาเนียลและบุตรชายชื่อโมเสส (Moses) เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย ภาษามลายู และภาษาตะวันออกอีกหลายภาษา เมื่อคณะทูตดัตช์ได้เข้าพบเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) หรือ “โกษาปาน” เสนาบดีพระคลังผู้ว่าราชการต่างประเทศ ทั้งสองได้ทำหน้าที่อธิบายสาส์นภาษามลายูของดัตช์ในส่วนที่ล่ามฝ่ายไทยไม่เข้าใจด้วย      ต่อมาโมเสสได้เป็นศัลยแพทย์หลวงต่อจากบิดาและเป็นล่ามเช่นเดียวกันครับ

รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมที่บทความ "ศัลยแพทย์ดัตช์ในราชสำนักสยาม" ได้ครับ
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/2536724006391054
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/2540545066008948/


ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ยังมีคนเชื้อสายโปรตุเกสในสมัยอยุทธยาที่เรียกว่า "ฝรั่งกะดีจีน" ซึ่งพอรู้ภาษาโปรตุเกสอยู่ คนกลุ่มนี้ได้รับราชการเป็น "ล่ามฝรั่ง" ในกรมท่า มีอัตราในบัญชีเบี้ยหวัด ๕ คน หัวหน้าล่ามมีตำแหน่งเป็นขุนเทพวาจารับเบี้ยหวัดปีละ ๗ ตำลึง  เมื่อมีการติดต่อกับโปรตุเกสจากเมืองมาเก๊า ก็ได้คนกลุ่มนี้ทำหน้าที่เป็นล่าม

เมื่ออังกฤษเริ่มเข้ามาติดต่อกับเมืองไทยในช่วงต้นกรุง ในเวลานั้นก็ไม่มีผู้รู้ภาษาอังกฤษในเมืองไทย จึงต้องใช้ชาวมลายูเป็นล่าม  เมื่อ จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เข้ามาเป็นทูตของอังกฤษใน พ.ศ. ๒๓๖๔ ปลายรัชกาลที่ ๒  จะพูดภาษาอังกฤษให้ล่ามที่เอามาด้วยแปลเป็นภาษามลายูบอกหลวงโกชาอิศหาก หลวงโกชาอิศหากแปลเป็นภาษาไทยเรียนเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังตอบว่าอย่างไรก็ต้องแปลย้อนกลับไปเป็นต่อๆ อย่างเดียวกัน

ภายหลังครอว์เฟิร์ดกลับไปแล้วได้ไปเป็นผู้ว่าเมืองสิงคโปร์  อังกฤษเกิดรบกับพม่าครั้งแรกเมื่อปลายรัชกาลที่ ๒ ครอว์เฟิร์ดจะบอกข่าวสงครามมาให้ไทยทราบ ต้องให้แปลหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาโปรตุเกสก่อน แล้วจึงส่งเข้ามายังกรุงเทพฯ เพราะภาษามลายูถ้อยคำมีน้อย ไม่พอจะแปลความในหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง

เมื่อถึงรัชกาลที่ ๓  เฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) เป็นทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาใน พ.ศ. ๒๓๖๘ เบอร์นีพูดภาษามลายูได้จึงเจรจาสะดวกขึ้น  ในครั้งนั้นได้ทำสนธิสัญญา ๔ ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาโปรตุเกส และภาษามลายู เพราะไม่มีภาษาใดที่จะเข้าใจดีได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เช่นเดียวสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ค.ศ. ๑๘๓๓ (พ.ศ. ๒๓๖๖) ที่ไทยทำกับสหรัฐอเมริกา ได้เขียนเป็น ๔ ภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาโปรตุเกส ตามภาพด้านล่างครับ


ภาพเต็ม https://thaiembdc.org/wp-content/uploads/2015/07/211.jpg


จนเมื่อมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓  คนไทยจึงเริ่มได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากกลุ่มมิชชันนารีเหล่านี้ เจ้านายและขุนนางหลายคนที่ได้ศึกษาภาษาอังกฤษจนเชี่ยวชาญ เช่น พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔)  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)  หม่อมราโชทัย

ในรัชกาลที่ ๔ และ ๕ ก็เริ่มมีการส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเพราะอังกฤษได้ผงาดกลายเป็นประเทศมหาอำนาจในยุคนั้นด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่