Rajasthan India เที่ยวราชสถาน (ตอนที่ 3)

Rajasthan India เที่ยวราชสถาน (ตอนที่ 3)
 วันที่ 4 ( 31 Dec,2019) Udaipur - Ranakpur - Jodhpur ( 260 km )    
       วัดจักดิศ (Jagdish Temple) เป็นวัดฮินดูที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองอุไดปูร์ มีอายุเกือบ 400 ปี สร้างในปี ค.ศ.1651 ในสมัยของมหารานาจากัต ซิงห์ที่ 2 (Maharana Jagat Singh II) เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองเป็นอย่างมาก โดยภายในมีหินสีดำแกะสลักเป็นรูปจากานนาท ซึ่งเป็นภาคหนึ่งชองพระวิษณุ และยังมีจุดเด่นอยู่ตรงการแกะสลักผนังวัดเป็นรูปนางอัปสรา และสัตว์ลักษณะต่างๆ อย่างละเอียด ภายในวิหารไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป
 
       ออกจากวัดจักดิศ ไปพระราชวัง City Palace ( Udaipur Palace) พอไปถึงหน้าพระราชวังยังไม่เปิด มีนักเรียนและผู้คนมายืนรอเต็มหน้าประตู
City Palace
    พระราชวังอุไดเปอร์ ถูกสร้างมา  400  ปีมาแล้วตั้งแต่ปี 1553 ในราชวงศ์เมวา ( Mewar) โดยมหารานา อุไดร์ สิงห์ 2 แห่งราชบุตร ซึ่งย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่อุไดเปอร์ พระราชวังอุไดเปอร์ สร้างบนเนินเขา ตามสถาปัตยกรรมของอินเดียและโมกุล บนพระราชวังจะมองเห็นทะสาบพิโชล่า และเทือกเขาอราวัลติ ( ปี  1983 พระราชวังนี้ได้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่องเจมส์บอน ตอน Octopussy )
    พระราชวังอุทัยปุระเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมของราชสถาน ตั้งอยู่ริมทะเลสาบพิโชลา Pichola พระราชวังอันงดงามนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอุไดเปอร์  รูปแบบปัจจุบันของพระราชวังเกิดจากการสร้างผสมผสานการก่อสร้างเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องของผู้ออกแบบ
   พระราชวังอุไดเปอร์มีการผสมผสานที่ยอดเยี่ยมของสถาปัตยกรรมในยุคกลาง  ยุโรป ฮินดู อิสลาม และโมกุล พระราชวังนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยหินแกรนิตและหินอ่อน
 
     พระราชวังอุไดเปอร์ส่วนที่พวกเราเข้าไปดูนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เจ้าของเปิดให้เข้าชมโดยเสียค่าเข้าชม ส่วนตัวเจ้าของพระราชวังได้ย้ายออกไปอยู่ที่คฤหาสน์หรูข้าง ๆ พระราชวัง อีกส่วนหนึ่งของพระราชวังปรับเปลี่ยนเป็นห้องพักแบบโรงแรมหรูราคาแพงลิบ ส่วนด้านหลังพระราชวังมีการบริการล่องเรือชมพระราชวังกลางน้ำและลงที่เกาะซึ่งจัดเป็นที่พักผ่อน  เมื่อพวกเราลงเรือแล้วขึ้นที่เกาะเดินชมสวนนี้ เราได้พบไกด์ชาวอินเดีย( Mr Akrip) ที่เคยเจอกันตอนไปแคชเมียร์ ( ไม่น่าเชื่อว่าโลกจะกลมป๊อกขนาดนี้...เรากับรุจาดีใจมากที่เจอคนรู้จัก..) คุยกับ Akrip ได้รู้ว่าเป็นไกด์พาครอบครัวอินเดียท่องเที่ยวในราชสถาน 10 วัน (เก่งจัง... Akrip  ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย...)
กำลังพูดคุยกับ Akrip ....
 

     หลังจากขึ้นจากเรือแล้ว เดินทางกลับไปกินข้าวกลางวันที่ Bangralour Restaurant  หลังจากนั้นเดินทางไป Ranakpur  ระยะทางห่างจาก Udaipue 95 km  แวะชมวัดเชน ที่สร้างไว้อย่างงดงาม มีเสาแกะสลักอย่างน่ามหัศจรรย์ ได้แต่เดินชมรอบ ๆ
     วัดเชน
    Ranakpurเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในอำเภอบาลี ของรัฐราชสถานทางตะวันตกของอินเดีย ตั้งอยู่ระหว่าง Jodhpurn และ Udaipur ตั้งอยู่ในหุบเขาทางตะวันตกของเขาอวัลติ
    วัดเชน สร้างด้วยหินอ่อนซึ่งกล่าวกันว่าเป็นวัดที่งดงามที่สุดของวัดเชน มีชื่อเสียง ตำนานท้องถิ่นเล่าว่า Dharma Shah ซึ่งเป็นนักธุรกิจเชนในท้องถิ่นเริ่มก่อสร้างวัดในศตวรรษที่ 15 ตามตามความเชื่อ  เมือง Ranakpur และวัดได้รับการตั้งชื่อตาม มหาราชาผู้ปกครองคือ Rana Kumbha ผู้สนับสนุนการสร้างวัด
 
     ออกจากวัดเชนเดินทางไป Jodhpur ระยะทาง   164 km คาดว่าวันนี้คงไปถึงเมืองสีฟ้า (Jodhpur)  ประมาณ   9.30 pm เมื่อไปถึงที่พัก และรับประทานอาหารที่โรงแรมแล้วขึ้นที่พัก ที่อินเดียไม่เห็นเขาตื่นเต้นกับการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เลย เด็กวัยรุ่น( ผู้ชาย) ก็เดินเล่นกันในตลาดตามปกติ แต่เรารู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย...คิดถึงคนที่อยู่เมืองไทย...อยู่ว่ากำลังทำอะไรอยู่หนอ...อากาศยังหนาวอยู่ แต่พอถึงเที่ยงคืนก็ได้ยินเสียงพุ และเสียงปืนเหมือนกัน มองออกไปก็เห็นแสงสว่างของพุสว่างกระจายในอากาศลิบ ๆ  
 
วันที่ 5  ( 1 Jan,2020) Jodhpur - Jaisalmer ( 282  km )
         จ๊อดห์ปูร์ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 580 กิโลเมตร สร้างโดย มหาราชา ราโอ จอดา (RAO JODHA) แห่งราชวงศ์ ราเธอร์ (RATHORE) ผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวราชปุท (RAJAPUT) นักรบผู้กล้าแห่งทะเลทราย สร้างในปี พ.ศ. 2002 ยุคเดียวกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ลักษณะที่ตั้งของ จ๊อดห์ปูร์ เรียกได้ว่าเป็นเมืองด่านหน้าของทะเลทรายธาร์ ผืนทะเลทรายที่สำคัญอันแห่งหนึ่งของโลก ทำให้ที่นี้เป็นเมืองที่ค่อนข้างแห้งแล้ง มีผู้คนล้มตายไปมาก เพราะทนต่อสภาพความแห้งแล้งไม่ไหว จ๊อดห์ปูร์ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “มารวาร” (MARWAR) อันหมายถึงดินแดนแห่งความตาย  ใครที่ได้มาเยือน จ๊อดห์ปูร์ แน่นอนว่าสิ่งแรกก็ต้องเป็นบรรยากาศฟ้าๆ ที่มีให้เห็นอยู่เกลื่อนเมือง สีฟ้า ที่ใช้ทากันทั่วบ้านทั่วเมืองนี้ ใช่ว่าคนเมืองจ๊อดห์ปูร์ เขาไม่มีเหตุผลนะทหลักใหญ่ใจสำคัญ ที่เมืองนี้ต้องเป็นสีฟ้า ก็เพราะว่าที่ตั้งของเมืองตั้งอยู่ในแถบทะเลทรายอันร้อนระอุ และเขาก็พิเคราะห์แล้วว่า สีฟ้าสามารถกันรังสีจากแสงแดดได้ดีกว่าสีอื่น อีกประการหนึ่งคือ สีฟ้าเป็นสีของวรรณะพราหมณ์ ซึ่งที่เมืองนี้มีชาววรรณะพราหมณ์อาศัยอยู่มาก
     ไกด์บอกไม่ต้องเช้ามากนัก ออกจากโรงแรมเวลา 8.30  เดินทางไปอนุสรณ์สถานจัสวันธาดา (Jaswant Thada)
          อนุสรณ์สถานจัสวันธาดา (Jaswant Thada) มีสถาปัตยกรรมที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม ด้านข้างเป็นทะเลสาบอันสงบนิ่ง ท่านมหาราชาซาร์ดาร์ สิงห์ได้สร้างอนุสรณ์สถานจัสวันธาดาขึ้นมาในปี 1899 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกให้ท่านมหาราชาจัสวันต์ สิงห์ที่ 2 พระบิดาของพระองค์ ปัจจุบัน อนุสรณ์สถานแห่งนี้เป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมสไตล์ราชปุตนา และมักได้รับการขนานนามว่าเป็นทัชมาฮาลแห่งเมืองมาร์วาร์ เดินเข้าสู่อนุสรณ์สถาน อาคารอนุสรณ์สถานหลักมีลักษณะคล้ายกับวัด ภายนอกทำจากหินอ่อนสีขาว ซึ่งส่องประกายระยิบระยับท่ามกลางแสงตะวัน  
      คนทั่วโลกรู้จัก Taj Mahal (ทัชมาฮาล) ว่าเป็นอนุสรณ์สถานความรักที่พระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน แห่งจักรวรรดิโมกุล มีต่อพระมเหสีของพระองค์ ที่ชื่อ “มุมตัช มาฮาล” แต่ที่ Jodhpur ยังมีอีกอนุสรณ์สถานความรักถูกสร้างเอาไว้อย่างยิ่งใหญ่ พร้อมเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าประทับใจมากกว่านั้น คือ Jaswant Thada (จัสวันต์ ธาดา) “อนุสรณ์สถานความรักของลูกที่มีต่อพ่อ” สร้างขึ้นตามพระประสงค์ของ “มหาราชา ซาร์ดา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระราชบิดาของพระองค์ “มหาราชา จัสวันต์ ซิงห์ ที่ 2” โดยสร้างขึ้นราวปี 1899 หลังจากพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ไปแล้ว 4 ปี
      บนทางเดินได้ยินเพลงท่วงทำนองอันแสนเศร้าจากนักดนตรีที่สีซารันจี (ซอ)  ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสายของอินเดียไพเราะมาก  พร้อมกับเฝ้าดูฝูงนกที่บินโชยมาเล่นน้ำในทะเลสาบ 
     อนุสรณ์สถานจัสวันธาดาเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยมีค่าเข้าชม และมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในการนำกล้องถ่ายรูปเข้าไปเพื่อถ่ายรูปด้านใน ก่อนเข้าไปในอาคารหลักของอนุสรณ์สถาน คุณต้องถอดรองเท้าไว้ที่ด้านล่างของบันไดด้วย 
 
        หลังจากนั้นเดินไปป้อมเมห์รันกาห์ (Mehrangarh Fort) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก Jaswant Thada 
     “เมห์รันการ์” (MEHRANGARH)อยู่ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร เห็นเด่นเป็นสง่าบนเนินเขาสูง ประมาณ 400 ฟุต เป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ที่มีกำแพงหินหนา 68 ฟุต ความสูงบางช่วง 117 ฟุต ล้อมรอบตัววังยาวเกือบ 10 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของมหาราชา สถานที่แห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเมือง เพราะก่อสร้างโดยมหาราชา ราโอ จอดา ป้อมนี้สร้างขึ้นด้วย หินทรายสีแดง ที่ผ่านการแกะเกลาสลักหินทรายอย่างวิจิตร
ป้อมเมห์รันการ์นี้ ภายในตกแต่งประดับประดาด้วยแก้วหลากสี แบ่งเป็นห้องหรือท้องพระโรงขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง ห้องที่มีชื่อเสียงและจัดเป็นไฮไลท์ต้องยกให้ ห้องไข่มุก (MOTI MAHAL) ที่มีกระจกแก้วหลากสีประดับวิจิตรยิ่ง นอกจากนี้ที่เมร์รันการ์ยังมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงอาวุธและเครื่องรบอุปกรณ์สมัยโบราณ รวมตลอดไปจนถึงเครื่องใช้ส่วนตัวของมหาราชาจัดแสดงไว้ให้ชมอีกด้วย
ต่อตอนที่ 4
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่