มาลองทำที่วางมือถือไม้ ด้วยเครื่องมือง่ายๆไม่กี่ชิ้น_Siam Woodworker



ดาวน์โหลดไฟล์แบบแปลนพร้อมระบุขนาดเป็น PDF ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ลิงค์ www.siamwoodworker.com/project-plans โปรเจคสนุกๆแบบนี้จะมีทยอยออกมาเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้เพื่อนๆสามารถเริ่มต้นทำงานไม้ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น แต่มีเงื่อนไขนิดหน่อยคือต้องรบกวนสมัครเมมเบอร์ของเวบไซท์เพื่อทำการดาวน์โหลด โดยการใช้ Facebook Login หรือจะตั้งอีเมลล์ และใส่ Password ต่างหากก็ได้ครับ ซึ่งการสมัครทำครั้งเดียวแล้วใช้ได้ตลอดไปครับ


 
วันนี้เราจะมาทำที่วางโทรศัพท์มือถือด้วยเศษไม้เหลือใช้ท่อนเล็กๆ ด้วยเครื่องมือ Hand Tools แค่ไม่กี่ชิ้น และใช้เวลาประมาณครึ่งวันก็ได้ชิ้นงานเอาไปอวดเพื่อนๆ หรือไปเป็นของฝากแก่คนพิเศษได้แล้วครับ ไม้ที่เราเลือกมาใช้เป็นตัวอย่างเป็นเศษไม้สักซึ่งเป็นเศษเหลือมาจากโรงต่อเรือ ซึ่งคุณสามารถใช้ไม้อะไรก็ได้ที่คุณพอจะหาได้รอบๆบ้าน แต่ความหนาควรจะอยู่ที่ประมาณ 1-1/2 นิ้ว ถึง 2 นิ้ว เนื่องจากเราต้องทำการเซาะร่องขนาดความลึก 2 ซม. เพื่อเอาไว้เสียบโทรศัพท์ครับ ส่วนขนาดกว้าง * ยาว * สูง อื่นๆก็ลองดาวน์โหลดแบบในหน้าเวบ Project Plans ดูนะครับ

 

เครื่องมือ Hand Tools หลักๆที่จะใช้ใน Project นี้มี
 
1 - กบ Block Plane ขนาดเล็กๆ 1 ตัว หรือ ขนาดที่เล็กกว่าเอาไว้ลบมุม (แต่ใช้แค่ตัวเดียวก็ได้)
2 - สิ่วขนาด 10 มม. และ 16 มม. อย่างละ 1 ด้าม
3 - ค้อนไม้ตอกสิ่ว
4 - มีด Marking Knife
5 - ฉาก
6 - ตลับเมตร
7- ไม้บรรทัดขนาด 1 ฟุต
8 - เลื่อยขนาดเล็ก



ภาพประกอบด้านบน : ชิ้นงานทีเราต้องการใช้จริงๆความยาวแค่ประมาณ 3-4 นิ้ว เท่านั้นเอง ถ้ามีไม้ยาวๆก็สามารถนำมาตัดแบ่งได้หลายชิ้นขึ้น


 
เศษไม้ที่ผมหามาได้มีขนาดไม่ยาวนักประมาณ 1 ฟุต และมีขนาดหน้าตัดประมาณ 1-1/2 นิ้ว * 3 นิ้ว เป็นเศษไม้ที่เหลือมาจากโรงต่อเรือที่ถูกโยนทิ้งมา และยังมีรอยตำหนิด้านหน้าที่เหมือนโดนฉีกเฉียงออก ทำให้เป็นไม้ที่ดูจะใช้การไม่ได้ (เพราะหน้าตัดไม่สมบูรณ์) แต่เราสามารถนำเศษไม้เหล่านี้ กับการออกแบบที่ใช้ตำหนิของไม้ให้เป็นประโยชน์กับรูปทรงมาสร้างเป็นของชำร่วยชิ้นเล็กๆได้ครับ

 

ภาพประกอบด้านบน : ฉากที่มีคุณภาพเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะคอยตรวจสอบระนาบที่เกิดขึ้น ว่าได้ฉากกันทุกด้านแล้วหรือยัง


 
ส่วนมากเศษไม้พวกนี้จะมีการปรับหน้าให้ได้ฉากได้ระนาบมาพอสมควร แต่การเริ่มต้นทำงานที่ถูกต้องเราควรจะใช้กบไสปรับขนาดให้ได้ระนาบเรียบสมบูรณ์ 1 ด้านก่อน โดยวิธีการเช็คระนาบของไม้ ให้ใช้ไม้บรรทัดเรียบๆมาทาบบนผิวไม้และยกขึ้นส่องย้อนแสง ซึ่งส่วนไหนของไม้ถ้าเป็นหลุมหรือนูนขึ้น หรือมีระนาบไม่เรียบเสมอกัน จะมีแสงลอดออกมาระหว่างไม้บรรทัดและผิวไม้ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกที่ดีว่าไม้ยังไม่ได้ระนาบเรียบสมบูรณ์ ให้เราใช้ไม้บรรทัดตรวจสอบทั้งตามยาว ตามขวาง และอย่าลืมแนวเอียงกากบาทด้วย ถ้าปรับจนแสงลอดสม่ำเสมอ หรือไม่มีแสงลอดก็ถือว่าเรียบใช้งานได้ครับ หลังจากได้ระนาบด้านแรก ให้เรายึดเอาระนาบแรกที่เราปรับเป็นจุดตั้งต้น เพื่อเอาฉากทาบและเช็คฉากที่ขอบข้างของไม้ต่อไป ใช้วิธีการปรับด้วยกบแบบเดียวกัน จนได้ฉากทุกๆด้านจนครบทั้ง 6 ด้านครับ

 

ภาพประกอบด้านบน : ระหว่างขั้นตอนการปรับระนาบไม้ ถ้าพบว่าส่วนใดส่วนหนึ่งสูงกว่าอีกส่วนหนึ่ง ให้ใช้กบไสเก็บเฉพาะส่วนที่สูงออก เพื่อดึงระนาบให้ลงมาเท่ากันที่ระนาบด้านล่างสุด การปรับระนาบจึงจะง่ายละรวดเร็วมากขึ้นครับ

 

ภาพประกอบด้านบน : ระนาบไม้ที่เข้าฉากกันทั้ง 6 ด้าน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน และพื้นฐานงานไม้ทุกๆประเภท


 
ไม้ที่ผมได้มามีตำหนิชิ้นใหญ่คือมีรอยบากด้านข้างประมาณ 30 องศา ซึ่งเราจะใช้ร่องรอยนี้ให้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบของเราซะเลยครับ โดยเราจะใช้กบไสเก็บเอียงเพื่อให้ได้ระนาบแบบเดียวกัน แต่ทำให้เต็มเท่ากันทั้งผืน เพื่อให้ดูสวยงามเรียบร้อยมากขึ้น และก่อนที่เราจะไสเก็บด้านเฉียงเราควรจะทำการมาร์กตำแหน่งพื้นที่ที่เราจะเอาวัสดุออกให้เรียบร้อยซะก่อน เพื่อช่วยให้เราสามารถทำงานและตรวจสอบความก้าวหน้าได้อย่างง่ายดายมากขึ้น



ภาพประกอบด้านบน : ใช้มีด Marking Knife แทนการใช้ดินสอจะได้ลายเส้นที่บาง และชัดเจนกว่า โดยเราจะทำการขีดเลย์เอาท์ระนาบที่เราต้องการปรับทั้งด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน เวลาเราไสกบเก็บจะได้มีเส้นที่บอกถึงความคืบหน้า และช่วยให้เราทำงานได้อย่างแม่นยำมากขึ้นด้วยครับ



ภาพประกอบด้านบน : วิธีการยึดไม้ถ้าไม่ได้มีปากกา เราสามารถเจาะรูที่โต๊ะเพื่อใช้อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆอย่าง Wonder Dog คู่กับ Bench Dog ในการยึดชิ้นงานให้นิ่งอยู่กับที่ได้ เวลาทำงานจะได้ไม่กระดกเคลื่อนไปๆมาๆ



ภาพประกอบด้านบน : ค่อยๆเอากบไสเก็บพื้นผิวจนเรียบและพอดีเส้นที่เราขีดเอาไว้ตั้งแต่แรก เท่านี้ก็ได้ระนาบเฉียงที่สวยงามดูดี และเป็นการสร้างดีไซน์จากร่องรอยตำหนิเก่าได้อย่างดีเยี่ยมครับ


 
ต่อไปเราจะมาเจาะร่องส่วนของที่เสียบโทรศัพท์กันครับ โดยผมเทียบเอาจากโทรศัพท์ที่ผมมี โดยมีหลักการง่ายๆคือให้ร่องนี้กว้างกว่าความหนาของโทรศัพท์เราประมาณ 0.5 - 0.7 ซม. จะได้แนวเอียงที่สวยงามกำลังพอดีครับ และเนื่องจากความหนาของโทรศัพท์ผมคือ 1 ซม. ดังนั้นผมจะเซาะร่องที่ความกว้าง 1.5 ซม. โดยร่องนี้จะอยู่ครอบในตำแหน่งที่เป็นตำหนิของไม้ด้วย ซึ่งตำหนิส่วนนี้เป็นรอยแตกตามยาว ซึ่งอนาคตอาจจะมีปัญหาตามมาได้ และมันอยู่ในตำแหน่งที่วางโทรศัพท์พอดี ผมเลยจะเจาะร่องครอบเอาไว้ เพื่อลบตำหนิในส่วนนี้ไปตัว



ภาพประกอบด้านบน : ใช้วิธีการวาดพื้นที่ๆเราจะเอาเนื้อไม้ออก คล้ายๆกับตอนที่จะไสเก็บแนวเฉียงตอนแรก การใช้มีดนอกจากจะได้เส้นที่บางกว่าดินสอแล้ว รอยกรีดที่ลึกของมีดจะเป็นตัวช่วยให้ปากร่องที่เราทำการเซาะนั้นคมสวยงาม และป้องกันการฉีกของเนื้อไม้ได้อีกด้วยครับ


 
วิธีการในการเอาเนื้อวัสดุในร่องออกมามีหลากหลายวิธี บางท่านอาจจะใช้สิ่วค่อยๆเจาะเอาขอบด้านข้างออก แล้วค่อยเก็บเนินภูเข้าตรงกลางให้เรียบเสมอกัน หรืออาจจะใช้สว่านเจาะเป็นรูๆตามแนว (ถ้าได้สว่านแท่นมาช่วยงานจะมีความแม่นยำขึ้นมาก) แต่สำหรับตอนนี้ผมจะลองใช้เลื่อยเพื่อเลื่อยเอาผนังด้านข้างของร่องออกมาก่อน แล้วค่อยใช้สิ่วเจาะเอาวัสดุส่วนกลางออกมาครับ


ภาพประกอบด้านบน : ก่อนทีเราจะเริ่มเลื่อยให้ใช้สิ่วเซาะร่องด้านข้าง (ต้องเป็นด้านในที่เราจะเลื่อยนะครับ ด้านขอบนอกต้องคมกริบตลอดเวลา) เพื่อสร้างคลองเลื่อยขึ้นมาจะช่วยให้เราเลื่อยได้ตรงมากขึ้น และไม่วิ่งออกนอกเส้นทาง



ภาพประกอบด้านบน : ใช้เลื่อย เลื่อยเอาขอบข้างของวัสดุออก และประคองเลื่อยให้ไปตามแนวเส้นที่เราวางไว้ และเลื่อยลงมาจนถึงใกล้ๆกับท้องด้านล่างที่เราได้เอามีดกรีดเอาไว้ครับ


 
หลังจากเราเลื่อยผนังด้านข้างออกมาทั้งสองข้างแล้วให้เราใช้สิ่วขนาดพอดีๆกับร่อง คือประมาณ 10 มม. เพื่อเคาะเอาวัสดุที่อยู่ตรงกลางออก เวลาใช้สิ่วเราต้องคว่ำด้านเอียงของคมลง เพื่อกันไม่ให้ปลายคมสิ่วดิ่งเฉียงลงด้านล่าง ค่อยๆเคาะเอาวัสดุออกทีละชั้นๆ จนเหลือเนื้อไม้บางๆ ก่อนถึงเส้นที่เราได้กรีดเอาไว้ ซึ่งหลังจากนี้เราจะใช้อีกเทคนิคในการเก็บพื้นที่ส่วนนี้แทนครับ



ภาพประกอบด้านบน : เลือกใช้สิ่วขนาดที่ใกล้เคียงกับร่องที่เราได้ทำเอาไว้ และค่อยๆเคาะเอาเนื้อไม้ตรงกลางออกจนเหลือลงมาใกล้เคียงกับเส้นด้านล่างที่เราได้ทำการกรีดกำหนดความลึกเอาไว้
 


หลังจากนี้เราจะเปลี่ยนมาใช้สิ่วด้วยมือ และเป็นการประคองให้ระนาบเรียบส่วนท้องสิ่วราบไปกับพื้นที่เราต้องการจะทำให้เรียบและ ใช้อุ้งมือดันเพื่อไสไปข้างหน้า โดยจะหันด้านเอียงของคมสิ่วขึ้นด้านบน และค่อยๆเล็มไส้เนื้อไม้ออกจนระนาบด้านล่างของเนื้อไม้เรียบเสมอกันครับ ซึ่งในขั้นตอนนี้ถ้าเราสามารถลับสิ่วได้อย่างถูกต้อง หมายถึงเราหมั่นปรับหน้าหินลับมีดไม่ให้เสียระนาบ และลับท้องสิ่วได้เรียบสนิทจริงๆ การทำงานในขั้นตอนนี้จะค่อนข้างง่ายมากๆ เพราะเราสามารถใช้ท้องของสิ่วเป็นเสมือนจิ๊กในตัวช่วยดันปรับให้ผิวไม้เสมอกันอย่างสมบูรณ์ โดยสิ่วที่เราใช้อาจจะกว้างกว่าสิ่วด้ามเดิมเล็กน้อย ซึ่งขนาดประมาณ 16 มม. กำลังพอดีๆครับ



พอด้านล่างได้ระนาบที่ดีแล้ว ให้เราพลิกตะแคงส่วนของผนังขอบข้างขึ้นมาเพื่อทำการแทงสิ่วเก็บผนังเลื่อยให้ได้ระนาบ ซึ่งอาจจะมีรอยเลื่อยทำให้ไม่เรียบเสมอกัน ใช้เทคนิคเดียวกับท้องด้านล่าง และหมั่นเช็คความเรียบด้วยการเอาไม้บรรทัดมาทาบบ่อยๆ จะได้ไม่เผลอดันสิ่วสร้างหลุม หรือเนินให้ต้องมาตามแก้กันทีหลังครับ



ภาพประกอบด้านบน : การลบคมไม่ต้องเอาซะจนมนเหมือนกัดด้วยดอกทริมเมอร์ก็ได้ครับ เอาพอให้ไม่บาดมือ แต่ยังคงเส้นคมๆเอาไว้อยู่ก็ดูสวยน่าสัมผัสแล้วครับ



ภาพประกอบด้านบน : ถ้าคลองเลื่อยที่เราทำมันอาจจะมีเป๋ไปบ้างก็อย่าซีเรียสครับ เพราะขนาดร่องไม่ต้องมีขนาดที่แน่นอนตายตัวสามารถขยับแคบเข้าหรือกว้างออกได้ ให้เอาฉากทาบแล้วเอามีดกรีดข้างๆเพื่อสร้างเส้นใหม่ แล้วใช้สิ่วเก็บอีกรอบ เพื่อให้ได้ระนาบที่เรียบจริงๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่