สุข ปิติ ปราโมทย์ แตกต่างกันอย่างไร

สุข ปิติ ปราโมทย์ แตกต่างกันอย่างไร

  "สุข" ทำให้เรายึดติด จมปลักจากสิ่งนั้น

  "ปิติ" ทำให้เราหลุดพ้น และผ่านพ้นขึ้นไปได้ ผ่านพ้นจากสิ่งที่จะทำให้เราตกไปเป็นทุกข์ ก็จะพ้นขึ้นไปให้เป็นสุข เรียกว่า สุขแล้วสุขขึ้น

  แต่ถ้าเราสุขจมปลักสุขแล้วเดี๋ยวจะทุกข์ล่ะ

  ยกตัวอย่าง สมมติว่า เรามีปากกา ๑ ด้าม ถ้าเรามีความสุขกับปากกาและเราจมปลักกับปากกา เราจะเกิดความทุกข์ เพราะเรากลัวว่าปากกาเล่มนี้จะหายไป นี่แหละทุกข์ไหม? แต่ถ้าเรามีปิติ เราจะเอาปากกาด้ามนี้ไปสร้างกุศล เราจะซื้อปากกานี้อีกกี่ด้ามก็ได้ การสร้างกุศลง่ายๆ เลยก็คือ เราเอาไปขายเกิดกำไร เราก็สามารถซื้อกี่ด้ามก็ได้ แต่ถ้าเรามัวแต่หวงปากกาด้ามนี้ ไม่ให้ใคร เราก็จะมีปากกาด้ามเดียว และจมปลักกับปากกานี้ แต่ถ้าเรามีกุศลเราก็จะเอาปากกานี้ไปทำประโยชน์ก่อให้เกิดอานิสงส์ยิ่งๆขึ้นไป เพราะว่า กุศลก็คือตัวปัญญานั่นเอง

  ถ้าเราเอาปากกาไปขาย เราก็จะมีปากกาอีก ๒๐ ด้ามก็ได้ แต่ถ้าเรายึดติดกับปากกาด้ามนี้ก็จะทำให้เราเป็นทุกข์กับปากกาด้ามนี้

  ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีเงิน ๕ ล้านบาท เราก็สุขกับ ๕ ล้านบาทและต้องนับถอยหลังแล้ว เงินก็จะลดลงแล้วเพราะเงินจะต้องเสื่อมถอย ใช้ย่อมหมดไป แต่ถ้าเรามีปัญญาเราเอาเงิน ๕ ล้านบาทไปลงทุนเดี๋ยวก็จะกลายเป็น ๑๐ ล้าน ๒๐ ล้าน ฯลฯ เป็นต้น

  สรุปความว่า ถ้าเรามีปิติก็คือรู้จักนำเงินนี้ไปสร้างกุศล คำว่า "กุศล" ก็คือ ทำให้เจริญขึ้น เช่นเดียวกับที่เราถูกหวย เราก็จะต้องเอาไปต่อแต้มให้เจริญขึ้น แต่ถ้าไม่เอาไปต่อแต้มก็จะทดถอยและสุดท้ายก็จะหมดไป เป็นตรรกะของธรรมชาติเป็นเช่นนี้ นี่แหละ ภาวะธรรมที่แท้จริง

  ปราโมทย์ รู้จักวางได้แล้ว ช่วยคนได้ คือ ได้แล้วไม่ละโมบ เหมือนกับเราได้ปากกา ๑๐ ด้าม แล้วเราไม่ละโมบ ไม่บอกว่า ปากกา ๑๐ ด้ามนี้เป็นของฉัน แต่บอกว่าปากกา ๑๐ ด้ามนี้เป็นของธรรม และถ้าใครไม่มีปากกาเราแบ่งปันให้ อย่างนี้ กลายเป็นขึ้นสู่ปราโมทย์แล้ว ปราโมทย์ก็คือ "วางได้ ปล่อยได้ ให้คนอื่นได้" แต่ถ้าเป็นปิติยังเก็บไว้กับตนเองอยู่ ยังเอาอยู่ แต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ทำให้มากขึ้นได้ เพราะจะเจริญกุศลได้ แต่ถ้าเป็นปราโมทย์ จะมีกุศลแล้วเอากุศลมาให้ ไม่ถือว่าเป็นของตน

  สังเกตคำว่า "ปิติ" จะบอกว่า เราปิติ แต่ปราโมทย์ จะไม่มี "เรา" ปิติ ไม่มี "เรา" ปราโมทย์ แต่จะเข้าสู่ภาวะปราโมทย์

  เหมือนกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านจะเน้น สุข ปิติ ปราโมทย์ ท่านไม่ถือว่าคัมภีร์พุทธธรรมนั้นเป็นผลงานท่านไม่ได้ ถ้ายึดติดก็จะหลงอยู่แค่นี้ แต่ถ้าเข้าสู่ปราโมทย์ก็จะวางได้ และถึงจะสุดยอดได้

  ตรงข้าม "สุข" ก็คือ "ทุกข์"

  ตรงข้าม "ปิติ" ก็คือ "หลง"

  ถ้าเราหลงปิติเราก็จบ แต่ถ้าเราหลงเราจะยอมปล่อยไหม? ถ้าเราไม่ปล่อย เราจะขึ้นสู่ปราโมทย์ได้อย่างไร? ถ้าเราเกิดปิติแล้วเราสามารถหลงได้ หลงในบุญของเรา หลงในกุศลของเรา

  แต่ถ้าปราโมทย์ ยินดี ชื่นชมที่ให้ได้ ปล่อยวางได้ 

  อัตตานี้ของเรา แต่ถ้าเราปราโมทย์ เรายินดีที่จะวางอัตตาได้ นี่แหละคือปราโมทย์

  ถ้าเราทำดีมาเยอะมากเลย หรือเหมือนกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เขียนหนังสือมาเยอะแยะมากมาย ท่านเกิดความปราโมทย์ ท่านจะคิดว่าผลงานทั้งหลายนี้ยกถวาย "ธรรม" นี่แหละปราโมทย์

  ถ้าอย่างนั้น "ปราโมทย์" กับ "สุญญตา" มันคือตัวเดียวกันไหม? มันน่าจะแตกต่างกัน?

  สุญญากับปราโมทย์ไม่แตกต่างกัน

  ปราโมทย์ก่อน คือ รู้ภาวะสุญญตาแล้วปราโมทย์แล้วถึงจะเข้าสู่มรรคผลของสุญญตา ปราโมทย์นี้เป็น "มรรค" ตัวหนึ่งของสุญญตา แต่ปราโมทย์ยังไม่เป็นบรรลุ "ผล" แต่ถ้าเป็น "สุญญตา" นี้จะเข้าสู่ "ผล" แล้ว นี่แหละเส้นผมบังภูเขา เพราะคนทั่วไปคิดว่าเป็นอย่างเดียวกันเลยเข้าสู่ภาวะที่ลึกๆ ไม่ได้

^_^  ..._/\_...  ^_^ 
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่