สรุปวงการไอดอลไทยในรอบปี 2562 by MGR Online

2562 ถือเป็นอีกปีที่วงการไอดอลสาวของไทยคึกคักและมีสีสันเป็นอย่างมาก แต่สำหรับคนทั่วไปอาจจะไม่ได้ทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกันบ้าง ผู้จัดการออนไลน์ จึงขอประมวลเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปีมาทบทวนอีกครั้ง


2562 ยุคเฟื่องฟูของวงการ?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปี 2562 ถือเป็นปีที่วงการไอดอลสาวของไทยคึกคักมากที่สุด นับตั้งแต่ปรากฏการณ์ "คุกกี้เสี่ยงทาย" ของ BNK48 ในปลายปี 60 ที่ถือเป็นการปูทางให้คนไทยได้รู้จักกับกลุ่มไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปสไตล์ญี่ปุ่น จนมีวงเกิดใหม่ขึ้นมากมาย โดยในปีนี้มีทั้งหมดราวเกือบ 30 วง ถ้ารวมวงที่มีอยู่แล้วก็ตกเกือบ 50 วงได้ เท่ากับว่ามีเด็กสาวเข้ามาเป็นไอดอลร่วมๆ 300-400 คน เลยทีเดียว มองดูในแง่ปริมาณก็ถือว่าเยอะมากๆ เนื่องจากใครก็สามารถก่อตั้งวงได้ไม่จำเป็นต้องเป็นค่ายใหญ่ๆ บางวงเพียงแค่รวมกลุ่มแล้วเปิดรับคัดเลือกสมาชิก ตั้งเป็นวงขึ้นมา ขายรูปภาพหรือสินค้าอื่นๆ เพื่อหาทุนทรัพย์ก่อนปล่อยเพลงและเปิดตัวก็มี

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ "มหกรรมรวมวงไอดอล" นับตั้งแต่มีการจัด Idol Expo 2019 ที่เปิดเวทีพร้อมให้แต่ละวงนำสินค้ามาขายและทำกิจกรรมร่วมกัน ก็ทำให้มีหลายๆ เจ้าตามรอยระดมวงเก่าและน้องใหม่มาขึ้นเวทีจนเรียกได้ว่าแทบทุกเดือนเลยทีเดียว ในมุมหนึ่งก็เสมือนเปิดช่องให้วงต่างๆ ได้โชว์ความสามารถสู่สายตาผู้ชมเพื่อสร้างฐานแฟนคลับใหม่และหารายได้เพิ่มขึ้น

แต่ถ้ามองเชิงรายได้แล้วสำหรับบางวงอาจสวนทาง เนื่องจากคนที่ชอบในเพลงสไตล์นี้ยังเป็นเพียงกลุ่มเฉพาะเท่านั้น ซึ่งว่ากันตามตรงวงที่คนทั่วไปรู้จักก็มีเพียงแค่ BNK48 เพียงเจ้าเดียว ส่วนวงอื่นๆ ก็ยังคงชิงกันอยู่ในก้อนเค้กชิ้นเดิม ถ้าไม่ได้โดดเด่นเป็นพิเศษก็คงต้องยุบตัวไปตามกาลเวลา ขณะที่การจ้างงาน แน่นอนว่าวงยิ่งเยอะก็ยิ่งทำให้ผู้จ้างมีตัวเลือกมากขึ้น แต่สุดท้ายชื่อเสียง คุณภาพทั้งการร้อง การแสดง และฐานแฟนคลับ ก็เป็นส่วนที่ทำให้ผู้จ้างคิดคำนึงถึงความคุ้มค่ามากกว่า รวมไปถึงการเข้าหางานจ้างของทีมบริหารวง ก็เป็นส่วนที่ทำให้วงนั้นๆ อยู่รอดด้วย


BNK48 : เค้าหาว่าพวกหนูกระแสตก?
แม้วงไอดอลแฟรนไชส์ญี่ปุ่นอย่าง BNK48 จะเป็นที่รู้จักในสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่ซิงเกิ้ลที่ 3 เป็นต้นมาเพลงของพวกเธอนั้นยังไม่มีเพลงใดที่จะโด่งดังเฉียด "คุกกี้เสี่ยงทาย" ที่เคยสร้างไว้ได้เลย ซึ่งถ้านับตามยอดวิวมิวสิควิดีโอในปีนี้ก็พบว่ามีเพียงเพลง “บีกินเนอร์” ที่มีผู้ชมในยูทูปมากสุดอยู่ที่ 6.5 ล้านวิว (ณ วันที่ 30 ธ.ค.2562) ส่วนเพลง “มิวจิกกี้” (Myujikkii) ของ "มิวสิค-แพรวา สุธรรมพงษ์" ในนามยูนิต “มิมิกุโมะ” (Mimigumo) ที่เริ่มติดหูคนทั่วไปในช่วงแรก ก็กลับไม่ได้รับการโปรโมตเท่าที่ควร และแม้ BNK48 จะยังได้รับงานและเป็นพรีเซ็นเตอร์มากที่สุดในวงการ
แต่ถ้าไม่มีประเด็นด้านลบวงก็ไม่ได้ถูกพูดถึงในสังคมต่อเนื่องสักเท่าไหร่ รวมไปถึงยอดการจำหน่ายซิงเกิ้ล และคอนเสิร์ตต่างๆ ก็มีรายงานว่าไม่ได้เปิดจองปุ๊บเต็มปั๊บเหมือนแต่ก่อน และบางคอนเสิร์ตยังมีบัตรเหลือเสียด้วยซ้ำ

แต่ในแง่ของตัวสมาชิกวง นอกจาก "เฌอปราง อารีย์กุล" หัวหน้าวง หลายคนก็เริ่มถูกพูดถึงและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งในแง่บวกและลบ อาทิ "ไข่มุก-วรัทยา ดีสมเลิศ" , "อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ" , "เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ" , "มิวสิค แพรวา" , "เนย-กานต์ธีรา วัชรทัศนกุล" , "โมบายล์-พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค" , "แก้ว-ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ" และ "มัยร่า-มะอิระ คูยามา" โดยเฉพาะกับละครเรื่อง "One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ" ที่สมาชิกในวงได้โชว์ความสามารถทางการแสดงจนเริ่มเป็นที่กล่าวถึงทั้ง "ปัญ-ปัญสิกรณ์ ติยะกร" , "จูเน่-เพลินพิชญา โกมลารชุน" , "ฟ้อนด์-ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา" , "มิวนิค-นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล" , "วี-วีรยา จาง" , "น้ำใส-พิชญาภา นาถา" และ "เจน-กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์"


ได้เวลาแตกไลน์-สร้างวงน้อง
เป็นอีกปีที่หลายๆ วงมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทั้ง BNK48 ที่ปรับรูปแบบบริษัทจาก บีเอ็นเคโฟร์ตี้เอต ออฟฟิศ เป็น อินดิเพนเด้นท์ อาร์ทติส มีเดีย (iAM) เพื่อขยายงานครบวงจรมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ปั้นวงน้องสาวที่ชื่อ “ซีจีเอ็มโฟร์ตี้เอต” (CGM48) รวมทั้งการให้สมาชิกไปทำยูนิตใหม่อย่าง "Mimigumo" ที่มี "มิวสิค แพรวา" , "ไข่มุก วรัทยา" และ "จ๋า-ณปภัช วรพฤทธานนท์" เป็นสมาชิก ซึ่งการแตกยูนิตนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างวงไอดอล "ซีเอ็มคาเฟ่" (CM cafe) ก็ทำยูนิต "ฮันนี่โทสต์" (Honey Toast) มาตั้งแต่ปี 2561 และยังผุดยูนิต "ไดฟุกุ" (Daifuku) และร่วมมือกับวงคัฟเวอร์ "เอฟเอ็มเอ" (FMA) สร้างยูนิต "เอฟเอ็มเอ พาร์เฟต์" (FMA Parfait) ขึ้นมา ขณะที่ "โซเมอิโยชิโนะ51" (SY51) ของโซล อาร์ทติส สตูดิโอ (Seoul Artist Studio) ก็ดึง "ไวโอเลต วิงก์" (Violet Wink) เข้ามาร่วมงานกับบริษัท และกำลังสร้างอีกวงคือ "คอตตอน แคนดี้" (Cotton Candy) ที่รับเฉพาะเด็กๆ อายุ 9-11 ปีด้วย

นอกจากนี้ยังมีค่ายอื่นๆ อย่างอาร์อีเอ็น เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (REN Entertainment) ที่ทำวง "เมลท์ เมลโลว" (Melt Mallow) และ "ชายน์นิ่ง สตาร์" (Shining Stars) , ค่ายบี สตาร์ มิวสิค (B Stars Music) ที่ก่อตั้งวง "ซีเครตทเวลฟ์" (Secret12) และ "ไบต์มี" (Bite Me) เมื่อปี 61 ในปีนี้ก็สร้างวง "เฟิร์สคิดส์" (1stkidz) วงไอดอลที่มีฐานอยู่ใน จ.นครราชสีมา วงแรก แถมยังมีสมาชิกเป็นผู้ชาย 1 คนอยู่ในวงด้วย , ค่ายบีเอช บริค เฮาส์ (BH Brick House) ก็ทำวง "บีเอชเอ็กซ์" (BHX) และเกิร์ลกรุ๊ปชื่อ "เรดสปิน" (RedSpin) และค่ายเมอร์รี่ โก ซาวนด์ (Merry Go Sound) ที่เจ้าของเป็นอดีตโอตะวงเซเวนท์ เซนส์ (7th Sense) หลังวงยุบก็ดึงอดีตผู้จัดการวงและสมาชิกบางส่วนมาสร้างวงใหม่เป็น "เดซี่ เดซี่" (Daisy Daisy) และล่าสุดกับวง "แอสเตอร์" (ASTER) รวมไปถึงการรับสมัครสมาชิกรุ่น 2 และสมาชิกฝึกหัดของวงต่างๆ

ส่วนทางญี่ปุ่นต้นตำรับไอดอล หลังจากเปิดตลาดในไทยด้วย BNK48 วงน้องในตระกูล 48 และ “สเวทซิกซ์ทีน” (Sweat16) ของโยชิโมโต้ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ (ไทยแลนด์) ค่ายตลกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เมื่อปี 59-60 ในปีนี้ก็มีวงไอดอล "เฟสทีฟ" (FES☆TIVE) มาทำการเปิดออดิชั่นวงน้องสาวในไทยเมื่อช่วงกลางปี จนกลายเป็นวง "ซูโมโมะ" (Sumomo) มีสมาชิก 8 คน และเตรียมจะเปิดตัวเป็นทางการในปีหน้า รวมทั้งยังมีข่าวว่าอีกหลายๆ วงก็กำลังจ้องจะเข้ามาดึงฐานแฟนในไทยเพิ่มขึ้นด้วย


สมาชิกออก-วงยุบ-ย้ายค่าย
แน่นอนว่าเมื่อจำนวนวงไอดอลมากขึ้นๆ บางวงที่ไม่สามารถจัดการปัญหาภายในได้ ทั้งเรื่องการเงิน และปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกในวง ก็ต้องมียุบกันไปเป็นสัจธรรม ซึ่งที่ทำเอาแฟนๆ อึ้งสุดๆ คงหนีไม่พ้นการปิดฉากวง "7th Sense" ที่กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อ 26 เม.ย.ด้วยเหตุต่อเนื่องจากปัญหาภายในจนทำให้ผู้บริหารและผู้จัดการวงต้องลาออก ก่อนที่จะมีคำสั่งยุบแบบฟ้าผ่าจนช็อกกันไปทั้งวงการ จากนั้นสมาชิกก็แยกย้ายไปทำตามฝันในวงใหม่ อาทิ "Daisy Daisy" ที่มี "นายน์-วิมพ์วิภา อิ่มประสิทธิชัย" , "แฮมมี่-บุณยานุช ศศิธนานันท์" , "เกรซ-ณัฐพร อนุรัตน์บดี" , "เจเจ-ชญาดา สุขกสิ" , "หนิงหนิง-มาริกา แพร่เกียรติเจริญ" , "วาวา-ศศิกานต์ เกื้อกูลศรี" และ "เดียร์-อุทุมพร นรารติกุล" แต่ต่อมา "เดียร์" ได้ประกาศออกจากวง ขณะที่ "อัลตร้า-ตวงทรัพย์ โชติพรทิพย์" และ "เวเฟอร์-ณัฏฐ์ณัชชา พุฒิกิตติพล" เข้าไปอยู่วง "Violet Wink" , "แพรวเล็ก-อนัญญา วิริยะเวสม์กุล" ไปอยู่วง "Shining Stars" ส่วน "ตังตัง-นัฐรุจี วิศวนารถ" หัวหน้าวง ไปเป็นศิลปินเดี่ยว

ที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือการประกาศยุบวง "แบล็ค ฟอเรสท์" (Black Forest) เมื่อ 7 ส.ค.ทั้งๆ ที่เพิ่งประกาศผลการคัดเลือกได้สมาชิก 9 คนเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น โดย "แฟนนี่-วรวีร์ ธาราชีวิน" ผู้ชนะการคัดเลือกได้ย้ายไปอยู่วง "สยามดรีม" (Siam Dream) ขณะที่วง "Secret12" ก็เกิดเหตุการณ์ยกเลิกสัญญากับ 8 สมาชิกยุคบุกเบิก เนื่องจากปัญหาทัศนคติในการทำงาน รวมไปถึงการยุบวง 4 สาว "เลมอนเนด" (Lemonade) ของค่ายเคเอ็นดับเบิ้ลยู เอนเตอร์เทนเมนท์ (KNW Entertainment) เป็นต้น


เช่นเดียวกับการก้าวออกไปหาเส้นทางใหม่ของสมาชิกหลายๆ วง อาทิ “มิวสิค-จิดาภา จงสืบพันธ์” สมาชิกตัวท็อปของ "Sweat16" ที่มีข่าวลือมาสักพักจนเริ่มเป็นที่สังเกตอย่างหนักจากผลการโหวตสมาชิกวงที่ "มิวสิค" ได้อันดับ 4 แต่กลับถูกขึ้นข้อความ “กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา” และหลังจากนั้นก็มีปัญหาเกิดขึ้นตามมาจนสุดท้ายวงจึงประกาศให้ยุติบทบาทเมื่อ 20 ส.ค. โดยปัจจุบัน "มิวสิค" เป็นศิลปินเดี่ยวในชื่อ "มอร์มิว" (Mormiiw) ส่วน Sweat16 ก่อนหน้านี้ก็มีสมาชิกออกไปเป็นคนแรกคือ "แอนนี่-อรรฆพร สร้อยสุข" เด็กสาวอายุน้อยที่สุดในวง

ส่วนที่ทำเอาแฟนคลับหนุ่มๆ เสียดาย? อีกคนคือ "เดวา-สุนันทา เดวา" สมาชิกสุดเซ็กซี่แห่ง "CM cafe" ก็ประกาศถอนตัวจากวง ส่วน "Siam Dream" ก็มี "นิโกะ มินะมิ" ที่ออกจากวงด้วยปัญหาสุขภาพ ขณะที่บางคนก็ย้ายไปอยู่วงใหม่ อาทิ “กีต้าร์-เกวลี งามเกิดศิริ”


สมาชิก "Daisy Daisy" ที่ประกาศถอนตัวเมื่อ 18 ก.ย.แล้วไปเป็นสมาชิกวง "Sumomo" ในเวลาต่อมา และล่าสุดกับ "เฟิร์น-สรัลรัตน์ องค์สุวรรณ" อดีตสมาชิกตัวท็อปของ "Siam Dream" ที่ประกาศถอนตัวจากปัญหาสุขภาพเมื่อ 21 ก.ย.ก็ย้ายมาอยู่วงใหม่สไตล์เซ็กซี่ที่ชื่อ "กรานิตี้" (Granity)

ทางฝั่ง BNK48 ก็มีสมาชิกรุ่น 2 ทยอยจบการศึกษาไป 3 คน คือ "ดีนี่-พิมพ์นิภา ตั้งสกุล" ที่ออกไปเป็นคนแรกของรุ่น ส่วน "เค้ก-นวพร จันทร์สุข" และ "มัยร่า มะอิระ" 2 สมาชิกที่โดนปัญหาข่าวในโซเชียลเล่นงานหนัก ก็อำลาวงไปด้วยเหตุผลต่างๆ


นอกกรอบเพื่อหาฐานแฟนคลับใหม่
อย่างที่ทราบกันว่าปีนี้เป็นปีที่มีวงไอดอลเกิดขึ้นมากมาย หลายวงก็พยายามหาจุดขายอื่นๆ ที่นอกกรอบจาก “ป็อปไอดอลสไตล์ญี่ปุ่น” ทั้งแนวเพลงและ/หรือภาพลักษณ์ อย่างที่ “ฟีเวอร์” (Fever) วงที่มีภาพลักษณ์เท่ๆ คล้ายกับวงเคยะกิซะกะ46 (Keyakizaka46) ของญี่ปุ่น แต่นำแนวเพลง ซินท์ป็อป (Synth pop) มาใช้จนเป็นที่สนใจและเป็นที่นิยมทั้งแฟนคลับไอดอลและคอเพลงอินดี้แถมยังได้ขึ้นงานคอนเสิร์ตใหญ่ๆ ซึ่งว่ากันว่าตอนนี้เบียดแย่งพื้นที่อันดับ 2 ของวงการสูสีกับ Sweat16 เสียด้วย

ในปีนี้ก็เลยมีหลายๆ วงที่พยายามสร้างรูปแบบให้ชัดเจนขึ้น ทั้ง 
"อากิระ คุโระ"ร้องไห้AKIRA KURO) ที่ก้าวจากวงไอดอลร็อคใต้ดินมาสู่บนดินได้ , "ทศเกิร์ล" (TossaGirls) วงร๊อคเด็กน้อยแต่โคตรทรงพลังของ "เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ" , "เมลท์ เมลโลว" (Melt Mallow) วงที่เล่นดนตรีสดโชว์บนเวที หรือแม้กระทั่ง "วิชด้อม" (Wishdom) ที่พยายามใช้ความเป็นวิชาการเป็นตัวนำ ก็ถือเป็นการสร้างทางเลือกใหม่แก่ผู้ฟังและยังเพิ่มฐานผู้ตามหน้าใหม่ให้มากขึ้น


เชียงใหม่ ที่มั่นใหม่?
แทบไม่น่าเชื่อว่า จ.เชียงใหม่ จะกลายเป็นฐานของวงไอดอลแห่งที่ 2 ต่อจากกรุงเทพมหานคร จากที่เดิมมีเพียงแค่วง "SY51" ประเดิมสนาม แต่ทว่าการมาของ "เชียงใหม่48" หรือ "CGM48" ก็ทำให้หัวเมืองภาคเหนือกลายเป็นสมรภูมิเดือด มีวงไอดอลเกิดเพิ่มขึ้นทั้ง "เลิฟ ซีซั่น" (Luv Season) และล่าสุด "วิช ทเวนตี้ทรี" (WISH23) ก็เพิ่งเปิดตัวไป รวมทั้งวงน้องสาวของ "SY51" อย่าง "Cotton Candy" ที่คาดว่าจะเปิดตัวในปีหน้า แต่ในเชิงธุรกิจจะดีจริงหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะแว่วมาว่างานมหกรรมไอดอลอย่าง "นอร์ธ ไทก้า" (North Taiga) ที่เพิ่งจัดเมื่อกลาง ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็มีรายงานว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเรื่องรายได้นัก และถ้ามองจาก "SY51" ผู้เปิดสนามก็จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกพยายามสร้างฐานแฟนใน กทม.มาโดยตลอดจนโดนค่อนขอดเอาไม่น้อย แต่ตอนนี้มันก็ไม่เหมือนก่อน อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปได้ทั้งนั้น

และนี่คือเรื่องราวบางส่วนสำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2562 ที่ ผู้จัดการออนไลน์ ได้รวบรวมมาให้ได้ทบทวนความจำกันสักเล็กน้อย ก่อนจะก้าวไปสู่ปีใหม่ 2563 ที่แว่วมาว่าสมรภูมิในวงการจะเดือดยิ่งกว่านี้ จะจริงหรือไม่ อย่างไร แฟนเพลงคงต้องติดตามชื่นชมผลงานและเปย์กันต่อไป

ขอบคุณบทความสรุปวงการไอดอลจาก
MGR Online
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000124422?fbclid=IwAR2cUy47QbuZW
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่