หวั่นไทยเสียโอกาส! “เศรษฐพงค์” จี้ “รัฐบาล” เร่งดัน พรบ.กิจการอวกาศ ให้มีองค์กร “Space agency” โดยเร็ว

“ส.ส.ภูมิใจไทย” จี้ “รัฐบาล” เร่งดัน พรบ.กิจการอวกาศ ให้มีองค์กร “Space agency” โดยเร็ว “เศรษฐพงค์” หวั่น ไทยเสียโอกาส เหตุหลายปท.สนใจร่วมมือด้านอวกาศกับไทย แต่ไม่มีผู้รับผิดชอบตัดสินใจได้ จับตาภาคใต้เหมาะเป็นฐานยิงดาวเทียม ส่งเสริมเขตศก.พิเศษภาคใต้
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวในวาระหารือว่า ตนมีประเด็นหารือต่อเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตนอยากจะฝากไปถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ซึ่งเราต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เพราะ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะทำให้เรามีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่เป็น Space agency ขึ้นมาดูและกิจการอวกาศโดยเฉพาะ จึงเป็นผลดีต่อการเตรียมพร้อมในการพัฒนาธุรกิจด้านอวกาศ ที่มีมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจหลายล้านเหรียญสหรัฐภายในไม่กี่ปีนี้ สำหรับประเทศไทย มีหลายบริษัทด้านกิจการอวกาศทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็มีแนวโน้มอยากมาเปิดธุรกิจด้านนี้ที่ประเทศไทยด้วย แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น Space agency ในเรื่องกิจการอวกาศอย่างจริงจัง โดยมีตัวอย่างหนึ่งที่เราอาจจะเสียโอกาสการพัฒนาด้านอวกาศได้ในอนาคต เนื่องจากมีหน่วยงานที่ชื่อว่า China National Space Administration (CNSA) เป็น Space Agent ของประเทศจีน ทำหน้าที่คล้าย NASA ของประเทศสหรัฐอเมริกา พยายามติดต่อประสานงานมาว่าทางประเทศไทยสนใจทำ MOU กับเขาหรือไม่ โดยมีการประสานงานมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว ทุกครั้งที่ประสานงานเรื่องก็จะเงียบไป ไม่มีความคืบหน้า
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาทาง CNSA ได้มีการประสานเข้ามาอีก แต่ก็ไม่มีการตอบกลับ ที่ตนมาย้ำว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะทางจีนต้องการรู้ให้แน่ชัดว่าเราสามารถที่จะร่วมมือกับเขาได้หรือไม่ เพราะจีนอยากให้เราเข้าร่วมเนื่องจากเขาจะปล่อยยานอวกาศที่ชื่อ ฉางเอ๋อ 4 เพื่อลงบนดาวอังคารในปี 2563 ซึ่งจะถือเป็นประวัติศาสตร์ด้านอวกาศระหว่างไทยกับจีน แต่ด้วยการที่ไทยไม่มีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน เมื่อมีการประสานเรื่องมายังไทย เรื่องจึงถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ จากหน่วยงานหนึ่ง ไปอีกหน่วยงานหนึ่ง เพราะไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ จึงยังไม่เกิดการตัดสินใจ ซึ่งหากยังไม่รีบดำเนินการในทางใดทางหนึ่ง ไทยอาจเสียโอกาสในการพัฒนาด้านอวกาศในครั้งนี้ได้ เนื่องจากภาคใต้ของประเทศไทย มีภูมิศาสตร์และระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการเป็นฐานยิ่งดาวเทียมขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และยังเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic corridor (SEC) ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งหากมีความร่วมมือกับต่างประเทศก็จะทำให้การพัฒนาภาคใต้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ
“ผมเห็นว่าประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับกิจการด้านอวกาศอย่างจริงจัง จึงอยากฝากผ่านท่านประธานสภาฯ ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็ว เพื่อปูทางให้เรามีองค์กรขึ้นมากำกับดูแลกิจการอวกาศโดยเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.กิจการอวกาศมาแล้วครั้งหนึ่ง ในช่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่หมดอายุสนช.ไปเสียก่อน ผมจึงอยากฝากไปยังรัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยกันผลักดันอีกครั้ง ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายอวกาศของประเทศ ต้องทำให้เป็นเรื่องหลักการใหญ่ในการพัฒนาด้านอวกาศของประเทศ” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่