ลมหายใจ...แห่ง “บ้านปิน”

            เป็นอีกครั้งที่ฉันก้าวย่างไปบนรางหมอน เสียงแห่งหัวใจในการเดินทางดังขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเสียงฉึกฉักค่อย ๆ เคลื่อนออกจากหัวลำโพงในยามค่ำคืน บนเส้นทางรางหมอนอันมีจุดหมายปลายทาง อยู่ที่ชุมชนเล็ก ๆ ในอำเภอลอง จังหวดแพร่ ที่ซึ่งทำให้ฉันอยากจะหาโอกาสได้หวนกลับไปอีกครั้ง หลังจากที่ฉันได้เคยแวะผ่านมาเพียงชั่วครู่โดยมิได้เรียนรู้ความเป็นไปของที่นี่...อย่างจริงจัง ที่นี่คือ... “บ้านปิน” จุดหมายปลายทางบนรางหมอน กับตะกอนแห่งความทรงจำของผู้คน ชุมชน ที่ผูกพันกับสถานีรถไฟ
 
              หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมฉันถึงอยากไป “บ้านปิน” ที่นี่อาจจะไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังเหมือนที่อื่น...ฉันเคยได้มาเยือนบ้านปินเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นฉันมีเวลาอยู่ที่นี่น้อยมาก ได้แค่มาแวะชมความงดงามเสน่ห์ของสถานีรถไฟ แม้เป็นช่วงเวลาที่ไม่นานนักแต่ในเวลานั้นกลับทำให้ฉันรู้สึกว่า ถ้ามีโอกาสฉันจะกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง อยากมาเรียนรู้ มาสัมผัสบ้านปิน ให้มากกว่านี้ ฉันเชื่อว่ายังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในบ้านปิน ทั้งประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และผู้คน และสิ่งที่ฉันอยากตามหา..นั่นคือ...ลมหายใจ...แห่ง “บ้านปิน” ลมหายใจที่ทำให้ คน ชุมชน และรถไฟ ยังคงมีชีวิตผูกพันกันมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และมุ่งหวังว่า ลมหายใจนี้จะยังถูกส่งต่อสืบเนื่องไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไป และความปรารถนาของฉันก็เป็นจริง เมื่อได้รับโอกาสจากทีมงาน ThaiPBS ให้เข้าร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไทย ท่องเที่ยวไทย ไปกับไทยพีบีเอส” และได้รับทริป กับน้องบอล น้องยอด แห่งรายการ “หนังพาไป”
   
             ชุมชน “บ้านปิน” ก่อตั้งขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน จากตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยพุทธกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์สำเร็จตรัสรู้แล้ว พระองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ ได้เสด็จมาที่เขาดอยน้อย หรือที่วัดพระธาตุดอยน้อยในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ บ้านปิน ประมาณ  1 กิโลเมตร ได้แสดงพระธรรมเทศนาโปรดราษฎร และมีหญิงหม้ายคนหนึ่งเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้ถอดปิ่นทองซึ่งปักที่มวยผม ถวายแด่พระพุทธองค์เพื่อเป็นพุทธบูชา  พระองค์ได้ทรงรับไว้และได้มีพุทธทำนายว่าในอนาคตกาลบริเวณนี้จะเกิดเป็นบ้านเมืองรอบ ๆ เขาแห่งนี้  และมีความเจริญรุ่งเรืองมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา มีชื่อว่า “บ้านปิ่น” ซึ่งต่อมาได้เรียกเป็น “บ้านปิน” จนถึงปัจจุบัน

          ภาพของ “บ้านปิน” สำหรับคนที่เคยได้ยินและเคยรู้จักที่นี่คงจะไม่พ้น “ฝรั่งกลางดง” สถานีรถไฟที่สร้างด้วยสไตล์ "ทิมเบอร์ เฟรมเฮ้าส์แบบบาวาเรียน” (Bavarian Timber Farmhouse) แห่งเดียวในประเทศไทย โดยวิศวกรชาวเยอรมันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นสไตล์ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุสำคัญโดยออกแบบผสมผสานให้เข้ากับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในยุคนั้น ตัวอาคารเป็นสองชั้น ตัวตึกประดับด้วยไม้ หลังคาจั่วและปั้นหยา ประตูหน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้เหนือบานประตูหน้าต่างและหน้าช่องจำหน่ายตั๋วประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษา เพราะเอกลักษณ์อันโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมทำให้ สถานีแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นสถานีที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย   

           หากย้อนเวลากลับไปในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการล่าอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ที่แผ่มาครอบคลุมบริเวณแหลมอินโดจีน พระองค์ท่านทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟที่เปรียบเสมือนซิปที่จะเย็บเชื่อมโยงประเทศไทยในแต่ละภูมิภาคเข้าด้วยกัน หลังจากมีการดำเนินกิจการรถไฟในสยามประเทศก็เกิดการพัฒนาสืบเนื่องต่อมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงได้มีการให้ก่อสร้างทางรถไฟมาถึงบ้านปิน และด้วยการออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์ของอาคารแบบบาวาเรียน ของเยอรมัน ทำให้ชาติมหาอำนาจยุโรปอื่น ๆ เห็นถึงว่าสยามมีมิตรสหายที่ใกล้ชิดเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างเยอรมัน จึงเป็นการ “คานอำนาจ” ให้ผู้ที่คิดคุกคามสยามจะได้เกรงใจ บ้านปินในยุคนั้นจึงเป็นชุมชนสำคัญที่มีย่านการค้าเกิดขึ้นรอบ ๆ สถานีรถไฟ นอกจากนี้ที่นี่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่อบอวลอยู่รอบบริเวณ ทั้งการต่อสู้ สงคราม การล่าอาณานิคม เศรษฐกิจการค้าในยุคแห่งการค้าไม้ การทำเหมืองแร่ แม้กาลเวลาจะผ่านเลยไปนานเพียงใด สถานีรถไฟแห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมใจของผู้คนในชุมชน มาโดยตลอด

        เรื่องราวของ “บ้านปิน” พึ่งจะได้รับการเผยแพร่อย่างหลากหลายช่องทางสื่อเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา  หลังจากเก็บตัวเงียบ ๆ ในช่วงที่ความเจริญในการคมนาคมได้เปลี่ยนไป บ้านปินจึงไม่ใช่ชุมชนที่เป็นชุมทางการเดินทาง และการค้าเหมือนแต่ก่อน แต่เมื่อ “บ้านปิน” ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและอาจจะส่งผลถึง “สถานีรถไฟ” อันเป็นหัวใจของชุมชน ด้วยความพยายามของคนในชุมชนที่จะรักษาหัวใจของชุมชนแห่งนี้เอาไว้ ให้เป็นมรดกของชุมชน จากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนนี้เอง ทำให้ “บ้านปิน” เริ่มเป็นที่สนใจ การขับเคลื่อนวิถีชุมชนด้วยหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็น การ “ระเบิดจากข้างใน” และ “การทำจากเล็กไปใหญ่” การเปิดบ้านต้อนรับผู้คนที่มาเยือนด้วยอัธยาศัยไมตรี รอยยิ้ม การนำเสนอเรื่องราวของชุมชนผ่านคนรุ่นใหม่ การนำอัตลักษณ์ชุมชนในด้านต่าง ๆ นำเสนอต่อผู้มาเยือน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราวของสถานีรถไฟ แต่เป็นวิถีชีวิต วิถีชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรมของบ้านเรือนแถวย่านการค้าที่หลายแห่งยังคงเป็นเรือนแถวไม้แบบดั้งเดิม ยังมีให้พบเห็นอยู่ในทุกย่างก้าว ลักษณะเด่นของผ้าซิ่นตีนจก  หรือแม้แต่อาหารการกิน อย่างข้าวหลามแสนอร่อย เมี่ยงหวานที่ชวนกินกับลักษณะการห่อเมี่ยงที่แสนจะเก๋ไก๋ ขนมจีน/น้ำพริกน้ำย้อยที่มีรสจัดจ้าน การดึงเอาเรื่องราวของ “เมืองแพร่แห่ระเบิด” มาสร้างแบรนด์ “กาแฟแห่ระเบิด” กับเครื่องดื่มที่มีลักษณะเฉพาะตระกูลแห่ระเบิด ไปจนถึง เครื่องดื่มเบา ๆ อย่าง น้ำอ้อยมะกรูดมะนาว ที่ผสมน้ำทั้ง 3 ชนิดได้เข้ากันอย่างลงตัว  (ดีนะที่ยังไม่ต่อด้วยมะพร้าวส้มโอไชโยโห่ฮิ้ว) ไปจนถึงเครื่องดื่มเฉพาะของ “บ้านปิน” (ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไร..ต้องไปชิมที่บ้านปินเองนะคะ)
<img class="img-in-post in-tiny-editor">
        “บ้านปิน” เสนอจุดขายโดยการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนที่ผูกโยงกับอดีตและปัจจุบัน ในการต่อ ลมหายใจ...แห่ง “บ้านปิน” ให้คงอยู่ แต่สิ่งที่ “บ้านปิน” จะต้องคิดต่อยอด คือ การที่จะทำอย่างไรให้ ความเป็น “บ้านปิน” ยังคงอยู่ต่อไป หากยังคงมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ทำอย่างไรไม่ให้ “บ้านปิน” ตายเพราะการท่องเที่ยวเหมือนที่หลายพื้นที่เคยเป็นมาแล้ว การพัฒนาอาจนำให้คนพื้นที่กลับคืนสู่ถิ่นฐาน แต่พร้อมกันนั้น ก็นำคนจากถิ่นอื่นเข้ามาด้วย ชุมชนคงต้องมีแผนที่จะรับมือสิ่งที่กำลังจะก้าวเข้ามาหาบ้านปิน และฉันก็มั่นใจว่าสิ่งที่หล่อหลอมให้ “บ้านปิน” เป็น “บ้านปิน” มาจนถึงทุกวันนี้ จะทำให้ “บ้านปิน” ยังคงมีลมหายใจให้คนรุ่นต่อ ๆ ไป ได้เรียนรู้และได้รู้จัก “บ้านปิน”

            มาถึงตอนนี้ ลมหายใจ..แห่ง “บ้านปิน” สำหรับฉัน คงไม่ใช่แค่สถานีรถไฟ แต่ฉันคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น “บ้านปิน” ไม่ว่าจะเป็น ผู้คน ชุมชน วิถีชีวิต อัตลักษณ์ต่าง ๆ ของชุมชน ทั้งที่มีอยู่มาตั้งแต่อดีต หรือสิ่งที่เกิดจากการพัฒนาของคนรุ่นใหม่ของบ้านปิน ล้วนแต่เป็น “ลมหายใจ...แห่ง บ้านปิน” เพราะทุกสิ่งล้วนแต่ช่วยทำให้ “บ้านปิน” ยังมีชีวิต มีการขับเคลื่อน มีการพัฒนา พร้อมกับการรักษาสิ่งที่ดีที่มีมาตั้งแต่ในอดีตให้คงอยู่ ทุกสิ่งล้วนเป็นที่พึ่งของกันและกัน และช่วยต่อลมหายใจให้กันและกัน...และที่สำคัญ ฉันคิดว่า ในอนาคตฉันคงจะกลับไปเยือน “บ้านปิน” อีกครั้ง  เพื่อไปเยี่ยม “บ้านปิน” ที่เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่งดงามสวยสง่า และมีลมหายใจ...แห่ง “บ้านปิน” ตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ


  ลมหายใจ...แห่ง "บ้านปิน"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่