ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน จุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูปสาธารณสุขทั้งระบบ สัมภาษณ์ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี"
Wed, 2019-11-27 19:24 -- hfocus
ปริตตา หวังเกียรติ
ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน วาระ “ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน” ถูกชูเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
โดยในปีงบประมาณ 2563 สธ.ได้วางแนวทางการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินในภาพรวม เช่น พัฒนาห้องฉุกเฉินและบุคลากรในโรงพยาบาล ทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างโรงพยาบาล รวมทั้งตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการนำร่องพัฒนาห้องฉุกเฉิน หรือ อีอาร์ (Emergency Room: ER) ในโรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่ง ซึ่งจะริเริ่มในวันที่ 1 ธ.ค. นี้
ถือได้ว่าเป็นกระบวนการขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปที่ก้าวเดินอย่างรวดเร็วมาก ส่วนหนึ่งเพราะองคาพยพของหน่วยงานราชการและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ต่างเห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดไฟเขียวให้ขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวย่อมมีคนที่ทำหน้าที่เสมือนฝ่าย Think Tank อยู่เบื้องหลัง โดยปรากฎภาพของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะแรก เข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับนายอนุทิน และยังเป็นผู้ให้ความเห็นเรื่องการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินในระหว่างการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้
HFocus สัมภาษณ์พิเศษ นพ.สุรพงษ์ ถึงที่มาที่ไปของแนวคิดการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉิน และภาพอนาคตระบบสาธารณสุขที่เขาอยากเห็น
“การบริการจัดการ” จุดอ่อนของระบบอีอาร์
“ตอนที่เราเริ่มคุยกันกับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เราคุยกันเรื่อง Pain point (จุดอ่อน) ของระบบ 30 บาท หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันมี Pain point อะไรที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันล้มเหลว? แล้วนำไปสู่ความต้องการที่จะล้มระบบ” นพ.สุรพงษ์ เล่า
“Pain point ไม่ได้สะท้อนหลักการที่ผิดพลาด แต่มันสะท้อนถึงปัญหาของการจัดการ”
นพ.สุรพงษ์เห็นว่ามี 3 เรื่องหลักของระบบสาธารณสุขที่ต้องให้ความสนใจ หนึ่ง คือเรื่องจุดอ่อนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นที่มาของวาระการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน การทำโครงการ “โรงพยาบาลจตุรทิศ” และการรับยาจากร้านยาใกล้บ้าน
สอง คือการพัฒนาสาธารณสุขผ่านระบบไอที ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และสาม คือ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการโรงพยาบาล โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ
“เรื่องที่ออกมาเร็วที่สุด คือ อีอาร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงและเป็นข่าว ทำให้เกิดจุดปะทะระหว่างผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และผู้ให้บริการ ผมคิดว่าการปฏิรูปอีอาร์เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ต้องทำ ถามว่าทำได้ไหม? มันควรจะทำได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องการจัดการที่อยู่ในพื้นที่แคบ ๆ แตกต่างจากเรื่องของโรงพยาบาลทั้งระบบ ซึ่งใช้เวลาในการจัดการ เรื่องอีอาร์มีความต้องการการแก้ปัญหาอยู่แล้ว เพียงแค่เราใส่ความตั้งใจ ใส่นโยบายเข้าไป เรื่องของการแก้ปัญหาน่าจะทำได้เร็ว”
ในระหว่างการสัมภาษณ์ แรงบันดาลใจหนึ่งที่ นพ.สุรพงษ์อ้างอิงถึง มาจากหนังสือเรื่อง “Managing Oneself” เขียนโดย Peter F. Drucker ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่ต้องการที่จะปรับปรุงและปฏิรูปโรงพยาบาลทั้งระบบ แต่คิดว่าจะปฏิรูปในครั้งเดียวคงยากมาก เขาจึงเริ่มต้นจากการหาจุดอ่อนเล็ก ๆ ที่ต้องการแก้ไขก่อน หลังจากนั้นค่อยขยายไปแก้ไขส่วนอื่น ๆ ของโรงพยาบาล จุดเริ่มต้นที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงอีอาร์ โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แล้วนำไปสู่ “โมเมนตัม” ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลทั้งหมด
“ถ้าเราเปลี่ยนอีอาร์ได้ จะทำให้คนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง มีกำลังใจที่จะเปลี่ยน ข้อเสนอของผมคือ ต้องปฏิรูปอีอาร์ก่อน”
แบ่งเขตแดน “ห้องฉุกเฉิน” และ “ห้องเร่งด่วน”
“วันนี้ระบบอีอาร์ของบ้านเราโดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ถูกคาดหวังสูง มีห้องอีอาร์ที่รับทุกโรคตอนกลางคืน ทำให้ Emergency room ไม่ใช่ Emergency room แต่กลายเป็น ‘Everything room’ ” นพ.สุรพงษ์ ให้ความเห็น
“อีอาร์ทุกวันนี้มันมั่วไปหมด ชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง เราเป็นผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย เมื่อมาถึง เราย่อมนึกอยู่แล้วว่าญาติเราหรือเราป่วยหนัก ทำไมไม่มาดูแลเรา เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามีคนไข้หนักจะตายอยู่แล้วอยู่ตรงเตียงนู้น แล้วเกิดความเครียด เกิดการปะทะกัน” นพ.สุรพงษ์ เล่า
ข้อมูลจาก คู่มือแนวทางการจัดบริการห้องฉุกเฉิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2559 มีผู้มารับบริการในห้องฉุกเฉินทั่วประเทศประมาณ 35 ล้านครั้ง/ปี โดยเกือบร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังพบว่าห้องฉุกฉุกเฉินมีสภาพแออัด ผู้ป่วยฉุกเฉินมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ขณะที่แพทย์ต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้ป่วยทุกประเภท จึงเกิดความเครียดสูง และอาจนำไปสู่อาการเหนื่อยจน “หมดไฟ”
“เพราะฉะนั้น ต้องแยกอีอาร์ออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสีแดงหรือห้องฉุกเฉิน (Emergency Room) อีกห้องคือ ห้องสีเขียวหรือห้องเร่งด่วน (Urgent Room) พอผู้ป่วยเข้ามาที่อีอาร์ ต้องมีจุดคัดกรอง ถ้าไม่ใช่เคสฉุกเฉิน ก็เข้าห้อง Urgent ไป ใครที่เป็นเคสฉุกเฉิน ก็เข้าห้อง Emergency ซึ่งต้องเป็นห้องระบบปิด เหมือนห้องผ่าตัด ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ใครจะเดินเข้าไปได้ เราต้องสร้างสำนึกว่าห้องอีอาร์เหมือนห้องผ่าตัด เป็นห้องที่แพทย์กำลังปฏิบัติการช่วยชีวิตคนอยู่
ส่วนห้อง Urgent ก็มีคนถามว่าคนไม่ Urgent เจ็บป่วยจริง แต่สะดวกมาตอนนี้ เพราะเขาทำงานกลางวันจะมากลางคืนไม่ได้เหรอ? ถ้าจะสะดวกแบบนั้น คำถามคือเรามีทรัพยากรมากพอไหมที่จะรองรับให้ทุกคนที่ต้องการความสะดวก? ในเมื่อทรัพยากรมีจำกัด ถ้าทุกคนเอาความสะดวกมาแย่งเวลาของเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน มันก็ทำให้การดูแลผู้ป่วยยิ่งแย่ลงไป
เราก็ต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ ต้องให้ผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ลำดับแรก ผู้ป่วย Urgent เป็นอันดับสอง ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการความสะดวก คุณมีช่องทางอื่นเยอะแยะ อาจจะไปคลินิกนอกเวลาที่คิดเงินเพิ่มร้อยบาทอะไรก็ว่าไป นั่นเป็นเรื่องที่คุณต้องยอมรับ จะมาอาศัยความสะดวกอย่างเดียวไม่ได้”
สำหรับความคืบหน้าในปัจจุบัน สธ. ได้ตั้งงบประมาณปี 2563 เสนอไปยังรัฐบาล โดยในส่วนของการพัฒนาอีอาร์ ได้ของบประมาณผ่านสำนักงานปลัด สธ. เป็นจำนวน 151.5 ล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่งในกรุงเทพและบางจังหวัด นำร่องปรับเปลี่ยนห้องฉุกเฉิน ให้แบ่งออกเป็น 2 ห้องตามระดับวิกฤติของผู้ป่วย ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลนำร่องเป็น 34 แห่ง และเพิ่มอีกเป็น 119 แห่งในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปภายในปี 2564
ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน จุดเริ่มต้นสู่การปฏิรูปสาธารณสุขทั้งระบบ สัมภาษณ์ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี"
Wed, 2019-11-27 19:24 -- hfocus
ปริตตา หวังเกียรติ
ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน วาระ “ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน” ถูกชูเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
โดยในปีงบประมาณ 2563 สธ.ได้วางแนวทางการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินในภาพรวม เช่น พัฒนาห้องฉุกเฉินและบุคลากรในโรงพยาบาล ทำระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างโรงพยาบาล รวมทั้งตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการนำร่องพัฒนาห้องฉุกเฉิน หรือ อีอาร์ (Emergency Room: ER) ในโรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่ง ซึ่งจะริเริ่มในวันที่ 1 ธ.ค. นี้
ถือได้ว่าเป็นกระบวนการขับเคลื่อนวาระการปฏิรูปที่ก้าวเดินอย่างรวดเร็วมาก ส่วนหนึ่งเพราะองคาพยพของหน่วยงานราชการและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ ต่างเห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้ ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล เปิดไฟเขียวให้ขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวย่อมมีคนที่ทำหน้าที่เสมือนฝ่าย Think Tank อยู่เบื้องหลัง โดยปรากฎภาพของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะแรก เข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับนายอนุทิน และยังเป็นผู้ให้ความเห็นเรื่องการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินในระหว่างการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้
HFocus สัมภาษณ์พิเศษ นพ.สุรพงษ์ ถึงที่มาที่ไปของแนวคิดการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉิน และภาพอนาคตระบบสาธารณสุขที่เขาอยากเห็น
“การบริการจัดการ” จุดอ่อนของระบบอีอาร์
“ตอนที่เราเริ่มคุยกันกับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เราคุยกันเรื่อง Pain point (จุดอ่อน) ของระบบ 30 บาท หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มันมี Pain point อะไรที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันล้มเหลว? แล้วนำไปสู่ความต้องการที่จะล้มระบบ” นพ.สุรพงษ์ เล่า
“Pain point ไม่ได้สะท้อนหลักการที่ผิดพลาด แต่มันสะท้อนถึงปัญหาของการจัดการ”
นพ.สุรพงษ์เห็นว่ามี 3 เรื่องหลักของระบบสาธารณสุขที่ต้องให้ความสนใจ หนึ่ง คือเรื่องจุดอ่อนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นที่มาของวาระการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน การทำโครงการ “โรงพยาบาลจตุรทิศ” และการรับยาจากร้านยาใกล้บ้าน
สอง คือการพัฒนาสาธารณสุขผ่านระบบไอที ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และสาม คือ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการโรงพยาบาล โดยเน้นที่การกระจายอำนาจ
“เรื่องที่ออกมาเร็วที่สุด คือ อีอาร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงและเป็นข่าว ทำให้เกิดจุดปะทะระหว่างผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และผู้ให้บริการ ผมคิดว่าการปฏิรูปอีอาร์เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ต้องทำ ถามว่าทำได้ไหม? มันควรจะทำได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องการจัดการที่อยู่ในพื้นที่แคบ ๆ แตกต่างจากเรื่องของโรงพยาบาลทั้งระบบ ซึ่งใช้เวลาในการจัดการ เรื่องอีอาร์มีความต้องการการแก้ปัญหาอยู่แล้ว เพียงแค่เราใส่ความตั้งใจ ใส่นโยบายเข้าไป เรื่องของการแก้ปัญหาน่าจะทำได้เร็ว”
ในระหว่างการสัมภาษณ์ แรงบันดาลใจหนึ่งที่ นพ.สุรพงษ์อ้างอิงถึง มาจากหนังสือเรื่อง “Managing Oneself” เขียนโดย Peter F. Drucker ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่ต้องการที่จะปรับปรุงและปฏิรูปโรงพยาบาลทั้งระบบ แต่คิดว่าจะปฏิรูปในครั้งเดียวคงยากมาก เขาจึงเริ่มต้นจากการหาจุดอ่อนเล็ก ๆ ที่ต้องการแก้ไขก่อน หลังจากนั้นค่อยขยายไปแก้ไขส่วนอื่น ๆ ของโรงพยาบาล จุดเริ่มต้นที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงอีอาร์ โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แล้วนำไปสู่ “โมเมนตัม” ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงโรงพยาบาลทั้งหมด
“ถ้าเราเปลี่ยนอีอาร์ได้ จะทำให้คนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง มีกำลังใจที่จะเปลี่ยน ข้อเสนอของผมคือ ต้องปฏิรูปอีอาร์ก่อน”
แบ่งเขตแดน “ห้องฉุกเฉิน” และ “ห้องเร่งด่วน”
“วันนี้ระบบอีอาร์ของบ้านเราโดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ถูกคาดหวังสูง มีห้องอีอาร์ที่รับทุกโรคตอนกลางคืน ทำให้ Emergency room ไม่ใช่ Emergency room แต่กลายเป็น ‘Everything room’ ” นพ.สุรพงษ์ ให้ความเห็น
“อีอาร์ทุกวันนี้มันมั่วไปหมด ชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง เราเป็นผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย เมื่อมาถึง เราย่อมนึกอยู่แล้วว่าญาติเราหรือเราป่วยหนัก ทำไมไม่มาดูแลเรา เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามีคนไข้หนักจะตายอยู่แล้วอยู่ตรงเตียงนู้น แล้วเกิดความเครียด เกิดการปะทะกัน” นพ.สุรพงษ์ เล่า
ข้อมูลจาก คู่มือแนวทางการจัดบริการห้องฉุกเฉิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี 2559 มีผู้มารับบริการในห้องฉุกเฉินทั่วประเทศประมาณ 35 ล้านครั้ง/ปี โดยเกือบร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังพบว่าห้องฉุกฉุกเฉินมีสภาพแออัด ผู้ป่วยฉุกเฉินมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ขณะที่แพทย์ต้องรับภาระหนักในการดูแลผู้ป่วยทุกประเภท จึงเกิดความเครียดสูง และอาจนำไปสู่อาการเหนื่อยจน “หมดไฟ”
“เพราะฉะนั้น ต้องแยกอีอาร์ออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสีแดงหรือห้องฉุกเฉิน (Emergency Room) อีกห้องคือ ห้องสีเขียวหรือห้องเร่งด่วน (Urgent Room) พอผู้ป่วยเข้ามาที่อีอาร์ ต้องมีจุดคัดกรอง ถ้าไม่ใช่เคสฉุกเฉิน ก็เข้าห้อง Urgent ไป ใครที่เป็นเคสฉุกเฉิน ก็เข้าห้อง Emergency ซึ่งต้องเป็นห้องระบบปิด เหมือนห้องผ่าตัด ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ใครจะเดินเข้าไปได้ เราต้องสร้างสำนึกว่าห้องอีอาร์เหมือนห้องผ่าตัด เป็นห้องที่แพทย์กำลังปฏิบัติการช่วยชีวิตคนอยู่
ส่วนห้อง Urgent ก็มีคนถามว่าคนไม่ Urgent เจ็บป่วยจริง แต่สะดวกมาตอนนี้ เพราะเขาทำงานกลางวันจะมากลางคืนไม่ได้เหรอ? ถ้าจะสะดวกแบบนั้น คำถามคือเรามีทรัพยากรมากพอไหมที่จะรองรับให้ทุกคนที่ต้องการความสะดวก? ในเมื่อทรัพยากรมีจำกัด ถ้าทุกคนเอาความสะดวกมาแย่งเวลาของเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน มันก็ทำให้การดูแลผู้ป่วยยิ่งแย่ลงไป
เราก็ต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ ต้องให้ผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่ลำดับแรก ผู้ป่วย Urgent เป็นอันดับสอง ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการความสะดวก คุณมีช่องทางอื่นเยอะแยะ อาจจะไปคลินิกนอกเวลาที่คิดเงินเพิ่มร้อยบาทอะไรก็ว่าไป นั่นเป็นเรื่องที่คุณต้องยอมรับ จะมาอาศัยความสะดวกอย่างเดียวไม่ได้”
สำหรับความคืบหน้าในปัจจุบัน สธ. ได้ตั้งงบประมาณปี 2563 เสนอไปยังรัฐบาล โดยในส่วนของการพัฒนาอีอาร์ ได้ของบประมาณผ่านสำนักงานปลัด สธ. เป็นจำนวน 151.5 ล้านบาท เพื่อให้โรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่งในกรุงเทพและบางจังหวัด นำร่องปรับเปลี่ยนห้องฉุกเฉิน ให้แบ่งออกเป็น 2 ห้องตามระดับวิกฤติของผู้ป่วย ก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลนำร่องเป็น 34 แห่ง และเพิ่มอีกเป็น 119 แห่งในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปภายในปี 2564