ปวดหัว (แต่ไม่ปวดใจ) เพราะไมเกรน

ปวดหัว (แต่ไม่ปวดใจ) เพราะไมเกรน
     หลายๆ คนอาจจะเคยมีอาการ ‘ปวดหัว’ กันใช่ไหมครับ ซึ่งการปวดหัวก็มีด้วยกันหลายแบบ และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหนึ่งในอาการที่เรารู้จักและมักจะเป็นกันบ่อยๆ ก็คือ ‘ไมเกรน’ นั่นเอง 
แล้วปวดแบบไหนถึงเรียกว่าไมเกรน? อะไรคือสาเหตุและวิธีการรักษา? ไปทำความรู้จักพร้อมๆ กันเลยครับ
 
     ‘ไมเกรน’ คือ อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มักจะเกิดขึ้นที่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ได้ และยังเกิดขึ้นได้บ่อย โดยอาจจะมีหรือไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะปวดข้างเดิมซ้ำๆ รวมถึงอาจมีความรู้สึกไวต่อแสง เสียง และกลิ่น ส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย 
 
สาเหตุของไมเกรน
     ไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระบบสารสื่อประสาทในสมองบริเวณชั้นเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบและขยายตัว ทำให้คนที่เป็นมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ถือเป็นโรคทางสมองชนิดหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดอาการได้ ดังนี้ 
1. พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเคยเป็นไมเกรนมาก่อนจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 
2. อายุ 20 – 45 ปี คือช่วงที่มีโอกาสเป็นมากที่สุด  
3. เพศ ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
4. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผู้หญิงที่เป็นไมเกรนมักจะมีอาการในช่วงก่อนหรือหลังหมดประจำเดือน โดยส่วนใหญ่จะหายไปในระหว่างตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือน
5. การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด หรือการบำบัดทดแทนฮอร์โมน มีผลทำให้อาการแย่ลง แต่บางรายก็พบว่าอาการลดน้อยลงเมื่อรับประทานยาเหล่านี้
6. การรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผงชูรส น้ำตาลเทียม ชีส ไวน์ ช็อกโกแลต ชาและกาแฟ
7. การอยู่ในที่ๆมีการกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น แสงที่จ้าเกินไป เสียงดัง กลิ่นเหม็น หรือควันบุหรี่
8. การอดนอนและความเครียด จะทำให้เป็นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น 
 
การรักษาไมเกรน 
1. ยาบรรเทาอาการปวด ได้แก่ กลุ่มที่ไม่ใช่ Steroid หรือที่เรียกว่า NSAIDS, กลุ่มทริปแทน (Tryptan) หรือเออโกตามีน (Ergotamine) ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่จะใช้เมื่อมีอาการปวด แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานหรือมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้เช่นกัน 
2. ยาต้านอาการคลื่นไส้ จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย
3. ยาป้องกัน ซึ่งต้องรับประทานทุกวัน ได้แก่ กลุ่มยาควบคุมความดันโลหิต ยากันชัก ยาต้านอาการซึมเศร้า ซึ่งควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
4. การฉีดโบท็อกซ์ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และยับยั้งปลายประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บป่วยไปยังสมอง ทำให้ลดอาการปวดศีรษะที่รุนแรงได้ และมีผลข้างเคียงน้อยมาก แพทย์จึงมักนำมาใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดไมเกรนอย่างน้อย 14 วันต่อเดือนขึ้นไปร่วมกับการรับประทานยา 
5. การรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation – TMS) ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาว่าเป็นการรักษาที่ไม่ต้องดมยา และไม่เจ็บปวด ใช้เวลาประมาณ 30 – 60 นาที และทำแบบต่อเนื่องได้
6. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการทำสมาธิ ก็สามารถช่วยลดอาการได้เช่นกัน เพราะทั้งสองกิจกรรมนี้จะช่วยให้สมองผ่อนคลายและจิตใจไม่ตึงเครียด 
 
     โดยทั่วไป อาการไมเกรนจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งในแต่ละบุคคลก็จะเป็นไม่เท่ากัน แต่ถ้าเริ่มรู้สึกว่ามีอาการ วิธีที่จะช่วยได้ก็คือ ให้พาตัวเองไปอยู่ในห้องที่เงียบและมืดเพื่อพักผ่อนและตัดการรบกวนของแสงและสี หลังจากนั้นให้ประคบเย็นบริเวณต้นคอ พร้อมกับนวดบริเวณที่ปวดไปด้วย อาการก็จะค่อยๆ ทุเลาลง 
     แต่ถ้าอาการที่เป็นเริ่มรุนแรงจนไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ เช่น ปวดอย่างฉับพลันและรุนแรงเหมือนสายฟ้าฟาด ปวดเรื้อรัง แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว การพูดและมองเริ่มไม่ชัด ชาตามร่างกาย พี่หมอแนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเลยนะครับ ห้ามนิ่งนอนใจเด็ดขาด และนอกจากวัยหนุ่มสาวแล้ว คนท้องหรือผู้สูงอายุก็มีโอกาสที่จะเป็น ‘ไมเกรน’ ได้เช่นกัน ไว้พี่หมอจะมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปนะครับ 
 
อย่าลืมดูแลตัวเองและคนที่คุณรักด้วยนะครับ ❤❤❤
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่