กระทบไหล่ฟุตบอลไทย: “พัฒนาฟุตบอลเยาวชนเป็นระบบ เรียนฟุตบอลแค่ชั่วโมงละ10หยวน” (แปลบทความจากจีน)

เป็นบทความของนักข่าวจีนที่ติดตามทีมฟุตบอลยุวชน BYMT FC เมืองเฉิงตู มาแข่งขันแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เชียงใหม่ 
ตามข่าวนี้เลยครับ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

กระทบไหล่ฟุตบอลไทย: “พัฒนาฟุตบอลเยาวชนเป็นระบบ เรียนฟุตบอลแค่ชั่วโมงละ10หยวน”

เดือน 7 (กรกฎาคม) คลิปสั้นๆสร้างแรงบันดาลใจฟุตบอลไทยเรื่อง 《成长不要等待》
(แปลเป็นไทยว่า “อย่ารอคอยการเติบโต” ในไทยคือเรื่อง “กีฬาสร้างคน”) ดังเป็นพลุแตกในโลกออนไลน์(ของจีน)…

เรื่องนี้ครับ
          คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ  

ในคลิปกล่าวถึงเด็กชายคนหนึ่ง เพราะยังไม่เก่งจึงได้แต่อยู่ที่ข้างสนาม คุณพ่อที่นั่งดูบนอัฒจันทร์มีสีหน้าเสียใจและผิดหวัง หลังเกมส์เขาถามลูกว่าเสียใจมั๊ยที่ไม่ได้ลง คำตอบที่ลูกตอบมากลับสร้างความประหลาดใจ เขาบอกว่า เขาได้ลงสนาม เขาได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีม ช่วยให้กำลังใจเพื่อน คุณพ่อกลับรู้สึกละอายใจ ได้แต่ตอบว่า “ได้ ได้เยอะเลย”

ความดังของคลิปนี้ ทำให้ผู้คน(จีน)ต่างหันมาจับตามองฟุตบอลไทย จากที่เคยเป็นเพียงทีมรองบ่อนในอดีต แต่ไม่กี่ปีมานี้ต้องเปลี่ยนมุมมองมองทีมชาติไทยใหม่ การพัฒนาที่ก้าวทีละก้าวอย่างมั่นคงสร้างความตระหนกและหวาดหวั่นให้กับทีมชาติจีน

ย้อนไปเมื่อต้นปีที่ทีมชาติจีนพลิกกลับมาเอาชนะทีมชาติไทย 2:1 ถือเป็นการล้างอัปยศที่เคยแพ้มา 1:5 แต่หลังจากนั้นก็ถูกไทยมาย้ำแผลเก่าที่ยังฝังใจมิให้ลืมเลือน 
เดือนมีนาคม ไชน่าคัพที่กว่างซี ทีมชาติจีนแพ้ทีมชาติไทย 0:1 เดือนเดียวกันที่เวียดนามทัวนาเม้นท์อุ่นเครื่อง ทีมชุดB U-18 แพ้ทีมไทย 1:2    
เดือนพฤษภาคม แพนด้าคัพที่เฉิงตู ทีม U-18 แพ้ทีมไทยไปอย่างหมดรูป 0:2

วันที่ 8 ถึง 15 กรกฏาคม ทีมยุวชนสโมสร BYMT FC ของเมืองเฉิงตูเดินทางไปร่วมแข่งขัน “เชียงใหม่จูเนี่ยร์คัพ” ที่เมืองไทย ทีมนักข่าวหงซิง(红星新闻)จึงไม่พลาดโอกาสขอติดตามไปทำข่าวด้วย ขอไปสัมผัสและค้นหาเบื้องหลังความสำเร็จการพัฒนาฟุตบอลไทย



“ทีมชาติ(จีน)ทั้งชุดใหญ่และชุดเยาวชน แพ้ทีมจากอาเซียนไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกต่อไป” จางหลินไฮ่ (张林海โค้ชระดับAไลเซ่นAFC) หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมเยาวชน BYMT FC กล่าวด้วยความสะทกสะท้อนใจ “ระบบการฝึกสอนเยาวชนของไทย สร้างขึ้นมาเพื่อให้เยาวชนของเขาก้าวเดินไปสู่ความฝันด้านฟุตบอลได้จริงๆ”

                                  (1)  เห็นความแตกต่าง 
“การฝึกซ้อมและแข่งขันของเรา(จีน)ยังไม่เข้มข้นและต่อเนื่อง(เท่าไทย)”

วันที่ 8 กรกฎาคม ทีมยุวชน BYMT FC อายุ 7 ปี กับ 8 ปี เดินทางสู่เชียงใหม่ ได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนประจำเชียงใหม่และเจ้าหน้าที่จากสโมสรเชียงใหม่เอฟซี พร้อมทั้งเข้าร่วมงานแถลงข่าวการแข่งขันกับทีมยุวชนในท้องถิ่น

วันที่หนึ่ง ทีมยุวชน BYMT FC สองทีม แข่งกับทีมยุวชนเชียงใหม่เอฟซีทีมเอกับทีมบี เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเด็กที่อายุมากกว่าหนึ่งถึงสองปี ทีม BYMT FC เสียเปรียบทั้งรูปร่าง ความแข็งแกร่ง ความเร็ว สองเกมส์ที่แข่งขันจึงโดนลูกยิงไกลยิงเข้าไปหลายลูก

สิ่งที่ทำให้โค้ชจางหลินไฮ่ไม่พอใจก็คือ “เด็กบางคนลงสนามไปกลับทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าครองบอล ไม่กล้าส่งบอลไปข้างหน้า ไม่กล้าเข้าแย่งบอล” เมื่อแพ้ไปสองเกมส์แรก จางหลินไฮ่ ได้สรุปสาเหตุของความพ่ายแพ้ไว้ว่า 

ประการแรก คือ “ความสามารถในการแข่งขัน” เขาอธิบายว่า เด็กของเขามีความสามารถ มีทักษะในการเล่นฟุตบอล แต่เมื่อลงสนามแข่งกลับทำไม่ได้ตามซ้อม ความแม่นยำในการรับส่งบอล ทั้งทิศทาง น้ำหนัก ทำได้ไม่ดี “แสดงให้เห็นว่าการฝึกซ้อมและการแข่งขันของยุวชนเรายังไม่เข้มข้นและต่อเนื่องเพียงพอ(เมื่อเทียบกับไทย)” 

ประการที่สอง นอกจากอากาศที่ร้อนอบอ้าว สนามที่ใช้แข่งขันระดับยุวชนของไทยใหญ่กว่าของเรา ทำให้เด็กของเราไม่ค้นเคย “สนามแข่งของเด็กไทยยาวกว่าสนามแข่งของ(จีน)เรามาก ของเราใช้สนามสำหรับฟุตบอลผู้ใหญ่ห้าคน ใช้กติกาฟุตบอลห้าคน แต่ของไทยใช้ระบบเหมือนของญี่ปุ่น คือใช้สนามใหญ่11คนที่ย่อส่วนลงมา ใช้กติกาฟุตบอล11คน ทำให้เด็กพวกเขา(ไทย)คุ้นชินระบบฟุตบอลสนามใหญ่ตั้งแต่เด็ก”

ที่เห็นได้ชัดคือ ในบ้านเรา(จีน)การแข่งขันระดับยุวชน ลูกตั้งเตะจากประตูเราจะให้เด็กที่เป็นผู้รักษาประตูขว้างบอลออกมา แต่ของไทยให้เด็กให้ตั้งเตะจากประตูตั้งแต่เด็ก ทำให้เด็กไทยเตะลูกตั้งเตะได้แรงและแม่นยำกว่าเด็กของเรา ลูกตั้งเตะของเขาจึงกดดันเราอย่างมาก ส่วนลูกตั้งเตะของเราไร้ซึ่งน้ำหนักและทิศทางหลายครั้งกลายเป็นโอกาสให้เขาบุกโต้กลับมาทำประตู…

หลังการแข่งขันวันแรก โค้ชจางหลินไฮ่นำข้อสรุปที่ได้มาปรับใช้กับเด็กๆของเขา ให้เด็กเขากล้าเล่นมากขึ้น ถึงแม้หลายวันต่อมาจะแพ้มากกว่าชนะ แต่โค้ชก็พึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ “ขอเพียงเด็กๆมีการพัฒนา การเดินทางของเราครั้งนี้ก็ถือว่าทำได้ตามเป้าหมาย”



                            (2)  ชำแหละระบบ 
“ระบบเยาวชนของไทยใช้ระบบเยาวชนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบ”

หลายปีมานี้การพัฒนาฟุตบอลเยาวชนไทย เรียกได้ว่ายกระบบเยาวชนฟุตบอลญี่ปุ่นมาใช้ พวกเขามี “ระบบการเล่นที่ไปในทิศทางเดียวกัน” (ไทยแลนด์เวย์) ในทุกระดับอายุ เพื่อให้นักฟุตบอลทุกคนเล่นฟุตบอลระบบเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การก้าวขึ้นมาทดแทนหรือเล่นร่วมกันระหว่างนักเตะรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ทำได้อย่าง “ไร้รอยต่อ” ไม่จำเป็นต้องมาเริ่มเรียนรู้แทคติกใหม่ในระดับทีมชาติ
 
ปีค.ศ. 2017 สมาคมฟุตบอลไทยกับสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นลงนามความร่วมมือ นอกจากการแลกเปลี่ยนนักฟุตบอลระดับอาชีพ การแลกเปลี่ยนระดับเยาวชน การแลกเปลี่ยนอบรมผู้ฝึกสอน การพัฒนาเยาวชนให้เป็นระบบเดียวกัน(ไทยแลนด์เวย์)คือจุดที่สำคัญที่สุด สมาคมฟุตบอลไทยลงทุนลงแรงไปกับการพัฒนาเยาวชนด้วยการจ้างผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจากต่างประเทศ(เอโคโนโน) ซึ่งเป้าหมายก็คือต้องการปูพื้นฐานเพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม

จากการที่โค้ชจางไฮ่หลินได้มาแลกเปลี่ยนกับไทยหลายครั้ง (ทีม BYMT FC มาแลกเปลี่ยนที่ไทยเกือบทุกปี) ทำให้ในรายการแพนด้าคัพปีนี้ เมื่อเขาเห็นทีมชาติจีนU18 ถูกทีมชาติไทยU18 “ขึงพืด” จึงไม่รู้สึกประหลาดใจอันใด

“อยากดูถูกฟุตบอลไทยเป็นอันขาด พวกเขาพัฒนาเยาวชนตามรอยญี่ปุ่น ความก้าวหน้าของฟุตบอลไทย ไม่ได้อาศัยสโมสรฟุตบอลไม่กี่แห่ง หรือโรงเรียนฟุตบอลไม่กี่โรงเรียน (ขณะที่จีนจำกัดอยู่แค่ กว่างโจวเอเวอร์แกรนด์ เซี่ยงไฮเอสไอพีจี ปักกิ่งกว๋ออัน กับสโมสรลีกสูงสุดไม่กี่สโมสร ที่ลงทุนเยาวชนอย่างจริงจัง) แต่อาศัยความร่วมมือกันทั้งระบบ พวกเขามีความพร้อมที่จะให้เด็กๆของเขาเดินไปตามความฝัน พวกเขาสามารถบอกเด็กของเขาได้อย่างเต็มปากว่า ขอเพียงเด็กมีความฝันและพร้อมที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจ พวกเขาก็พร้อมและสามารถช่วยให้เด็กของเขาประสบความสำเร็จในชีวิตนักฟุตบอลได้ โดยไม่มีเงื่อนไขไร้สาระอันใดอีกเลย”

จากที่เคยตามข่าว ก่อนปีค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ประเทศไทยไม่มีแผนงานการพัฒนาฟุตบอลอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งปลายปีค.ศ.2012 เป็นกลุ่มแฟนบอลกลุ่มใหญ่ของไทย “กลุ่มเชียร์ไทยเพาเวอร์” ริเริ่มแผนงาน “THE 10 YEAR PLAN: แผนฟื้นฟูฟุตบอลแห่งชาติ 2556-2565” ในคอนเซป “ชีวิตใหม่ ฟุตบอลไทย” ซึ่งมีหัวข้อปฏิบัติ 57 หัวข้อ ครอบคลุมการปฏิรูปสมาคม สร้างระบบฝึกสอนเยาวชน ระบบทีมชาติต่างๆนาๆ โดยเน้นพัฒนาเยาวชนเป็นหลัก (แม้ว่าบังได้เป็นนายกสมาคมต่อ แต่ถือว่ากลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์ ได้จุดประกายให้ตระหนักถึงการพัฒนาฟุตบอลอย่างเป็นระบบ)

เริ่มต้นจากประถม “โรงเรียนประถมศึกษาต่างมีทีมฟุตบอลโรงเรียน”

จากการที่ฟุตบอลลีกอาชีพของไทยได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้เด็กๆมากมายเริ่มฝึกฟุตบอลตั้งแต่เด็ก ไทยใช้ระบบฟุตบอลโรงเรียนเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โรงเรียนประถมศึกษาแทบทุกโรงเรียนต่างมีทีมฟุตบอลโรงเรียนเป็นของตัวเอง อาศัยเวลานอกเวลาเรียนฝึกซ้อมฟุตบอล ถึงแม้ความเข้มข้นจะไม่เท่ากับโรงเรียนฝึกฟุตบอลโดยตรง แต่ก็ทำให้มีเด็กมากมายได้มีโอกาสฝึกฟุตบอล

(จีนเคยมีเมื่อนานมาแล้วและเลิกแล้ว เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ในเมืองต่างเอาสนามบอลไปสร้างตึกเพื่อรองรับจำนวนเด็กจากชนบทที่ย้ายมาเรียนในเมือง เมื่อไม่มีสนามก็ไม่มีทีมฟุตบอลไปโดยปริยาย เด็กจีนที่ได้ฝึกฟุตบอลจึงเหลือแต่เด็กที่เสียเงินไปเรียนที่อคาเดมี่อย่างเดียว)

“การพัฒนาฟุตบอลเยาวชน ไอดอลของเขาก็มีส่วนอย่างมาก เหมือนเช่นอู่เหลย(武磊)ที่ไปเล่นที่ลาลีก้าสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กจีน ของไทยก็มีชนาธิปที่ประสบความสำเร็จอยู่ในเจลีกเช่นกัน เด็กไทยหลายคนมีชนาธิปเป็นแบบอย่าง จึงได้เข้ามาเล่นฟุตบอลกันอย่างมากมาย” คุณสมชาย นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ที่อยู่ดูแลเราตลอดทริปเชียงใหม่กล่าวไว้

การแพร่หลายของฟุตบอลโรงเรียน เกิดจากการส่งเสริมและการจัดการแข่งขันกันในระดับอายุต่างๆ และที่โด่งดังที่สุดคือรายการ “แชมป์กีฬาเจ็ดสี” แข่งขันฟุตบอลเจ็ดคน โดยมีนักเรียนระดับอายุ 15-18 ปีเข้าทำการแข่งขัน โดยในปี 2018 แบ่งการแข่งขันเป็น8ภูมิภาคมีโรงเรียนเข้าร่วมแข่งขัน 1,238 โรงเรียน

โรงเรียนสอนฟุตบอล “เรียนหนึ่งชั่วโมงจ่ายแค่10หยวน”

หลายปีที่ผ่านมา โรงเรียนสอนฟุตบอล สถาบันสอนฟุตบอล เกิดขึ้นมามากมาย เมื่อเด็กอยากเรียนฟุตบอลกับอคาเดมี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร?
“ถูกมากๆ ถูกจนคุณ(คนจีน)คาดไม่ถึงเลยละ” คุณสมชายบอกกับเราว่า เด็กอายุต่ำกว่า10ขวบ 20ชั่วโมง800บาท อายุ10ขวบขึ้นไป 20ชั่วโมง1,000บาท ซึ่งหากเทียบเป็นเงินหยวน เด็กไทยเรียนฟุตบอลที่อคาเดมีจ่ายเงินแค่ชั่วโมงละประมาณ10หยวน เท่านั้นเอง
(ในจีนเช่นปักกิ่ง ประมาณชั่วโมงละ 150-200หยวน ถ้าเป็นของสโมสรชื่อดังเช่น ซานตงหลู่เหนิง คิดรายปี ปีละ 50,000 หยวน)

นอกจากนี้ สโมสรต่างประเทศอย่างเช่น อาเซนอล บาร์เยิร์นมิวนิค ต่างก็มาเปิดสถาบันฝึกสอนฟุตบอลในไทย แม้กระทั่งโรงเรียนนานาชาติในไทยยังจัดตั้งทีมฟุตบอล ทั้งยังมีการแข่งขันฟุตบอลลีกในกลุ่มพันธมิตรโรงเรียนนานาชาติด้วยกันอีกด้วย

จริงจังตั้งแต่ชั้นรากหญ้า “โค้ชทีมฟุตบอลเยาวชนต้องผ่าน C ไลเซ่นของ AFC”

เหมือนกับสโมสรฟุตบอลอาชีพในจีนที่ต้องมีทีมฟุตบอลเยาวชนรุ่นอายุต่างๆเช่นกัน ตามกฏของAFC สโมสรฟุตบอลอาชีพต้องมี “อคาเดมีฟุตบอล”เป็นของตัวเอง พวกเขาคัดเลือกเด็กจากโรงเรียนต่างๆมาเป็นนักฟุตบอลเยาวชนของสโมสร ทำให้เด็กๆเหล่านี้ได้รับการศึกษาในโรงเรียนตามปกติ ส่วนนอกเวลาเรียนก็ได้รับการฝึกสอนฟุตบอลในโดยโค้ชมืออาชีพด้วย

ในประเทศไทย ฟุตบอลจะเริ่มจากโรงเรียนทั่วไปเป็นพื้นฐาน การร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนกับสโมสรฟุตบอลอาชีพในไทย ถือเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของฟุตบอลไทย

ดังเช่นการแข่งขัน “เชียงใหม่จูเนี่ยร์คัพ” ครั้งนี้ คุณสมชายบอกกับเราว่า สโมสรเชียงใหม่เอฟซีมีทีมฟุตบอลเยาวชนในสังกัดอยู่ 10 ทีม แต่ละทีมมีนักฟุตบอลประมาณ20คน ในเชียงใหม่มียังโรงเรียนฝึกสอนฟุตบอลประมาณ20โรงเรียน แต่ละแห่งมีเด็กมากกว่า 20คน เด็กๆเหล่านี้มีโอกาสได้รับคัดเลือกให้เป็นนักเตะของสโมสรต่อไป ซึ่งก็หมายความว่า สโมสรเชียงใหม่เอฟซีมีนักเตะเยาวชนให้เลือกสรรมากกว่า 600 คน

ทีมเยาวชนในช่วงอายุต่างๆเหล่านี้ ต่างก็เข้าร่วมแข่งขันในลีกเยาวชน ตามกฏข้อบังคับสมาคมฟุตบอลไทย ทีมสโมสรในลีกไม่ว่าจะเป็น t1 t2 t3 t4 สามารถส่งทีมเยาวชนเข้าแข่งขันลีกเยาวชนได้ คุณสมชายบอกกับพวกเราว่า การเข้าแข่งขันลีกเยาวชนนั้นมีข้อบังคับที่เข้มงวด ผู้ฝึกสอนทีมเยาวชนต้องมีไลเซ่น C หรือ B ของAFC

                             (3)  อาศัยผู้อื่น(ไทย) เพื่อพัฒนาตัวเอง(จีน) 
“ผู้ฝึกสอนเบื้องต้นต้องผ่านการฝึกอบรม สโมสรอาชีพเป็นผู้รับผิดชอบ”

จากระบบฝึกสอนเยาวชน ประเทศไทยมีจำนวนนักฟุตบอลเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบันมีนักฟุตบอลลงทะเบียนกับสมาคมฟุตบอลไทยมากกว่า3แสนคน ในขณะที่จีนมีแค่1แสนคนเท่านั้น

(ต่อกระทู้ที่คอมเม้นต์ครับ ยาวเกินโควต้า)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่