ถึงเวลาสมาคมแบดมินตันคิดเรื่อง”สร้างทีม”เพื่ออนาคตหรือยัง

ถึงเวลาสมาคมแบดมินตันคิดเรื่อง”สร้างทีม”เพื่ออนาคตหรือยัง

การแข่งขันแบดมินตัน APACS - CU Open 2018 อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่นี่เป็นหนึ่งในเวทีการแข่งชันแบดมินตันที่น่าสนใจรายการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่โลกแบดมินตันสนใจรายการใหญ่ที่มาเลเซีย


นักกีฬาคนไหนคว้าแชมป์ อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่สิ่งที่ต้องการนำเสนอก็คือ การแข่งขันครั้งนี้ เป็น”เวทีแจ้งเกิด”ของนักกีฬาแบดมินตันหน้าใหม่มากมาย และอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ทั้งๆนี้เป็นรายการ”ชิงแชมป์”ที่สมาคมรับรองและมีนักกีฬาไทยและต่างชาติบางประเทศมาร่วมแข่งขันและเป็นนักแบดมินตันไทยพาเหรดคว้าแชมป์ ซึ่งนั่นคือประเด็นที่ต้องการเขียนถึง


Badmintonthaitoday เคยนำเสนอเรื่อง”ขนาดของทีม”เพื่อบอกไปยังสมาคมแบดมินตันฯว่าถึงตอนนี้ นักแบดมินตันไทย”ขาดแคลน”ที่จะส่งไปแข่งขันทั้ง”ปริมาณ”และ”คุณภาพ” อันเนื่องมาจากการขาดพัฒนาการต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับเยาวชน ที่นักแบดมินตันไทยขาดโอกาสไม่เคยได้รับการเหลียวแลเอาใจใส่หรือนำตัวนักกีฬาเหล่านั้นมาฝึกสอนแบบมีระบบและดูแลแบบมืออาชีพ


แน่นอนว่านักกีฬาระดับเยาวชนอาจจะไม่สามารถพัฒนาและยกระดับฝีมือขึ้นมาถึงระดับชาติหรือระดับโลกได้ทุกคน แต่เมื่อสามารถโชว์ฟอร์มได้ดีในระดับเยาวชน นักกีฬาเหล่านั้นก็ควรได้รับความเอาใจใส่และดูแล เพื่อนำมาฝึกสอนและพัฒนาถูกรูปแบบจากสมาคมแบดมินตันฯ หรือทางสมาคมก็ควรจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนทีมต่างๆให้ทีมเหล่านั้นนำไปพัฒนานักกีฬากลุ่มเป้าหมายหรือเพื่อส่งแข่งขันเวทีต่างประเทศเพื่อหาประสบการณ์ จริงอยู่สมาคมได้เรียกตัวนักกีฬาบางคนเข้าร่วมการฝึกซ้อมแต่นักกีฬาในประเทศมิได้มีเพียงกลุ่มนั้น ต้องยอมรับว่านักกีฬาจากสมาคมที่เรียกไปฝึกซ้อม หรือนักกีฬาจากสโมสรใหญ่ๆของประเทศเมื่อถึงการแข่งขันไม่ใช่ยืนยันได้ว่าจะเป็นแชมป์ มีหลายๆงานที่ผลการแข่งขันออกมาปรากฏอยู่


จีนและญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างการพัฒนานักกีฬาเยาวชนและยกระดับขึ้นมา โดยสมาคมแบดมินตันให้ความสนใจและมีเจ้าหน้าที่ดูแลการแข่งขันระดับเยาวชน เพราะนั่นคือการหา”ช้างเผือก”เข้ามาสู่ทีมชาติ ซึ่งอย่างที่รู้ๆกันว่า นักกีฬาเยาวชนยอดเยี่ยมระดับแชมป์ ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นยอดฝีมือได้ทุกคน


เช่น  Xie Xingfang อดีตมือ 1 โลกหญิงเดี่ยวและอดีตแชมป์โลก แต่เมื่อครั้งเป็นแชมป์ BWF World Junior Championships เธอลงเล่นในประเภทหญิงคู่ แต่ถึงปัจจุบัน Zhang Jiewen ที่เป็นพาร์ทเนอร์ ไม่สามารถพัฒนาฝีมือขึ้นมาและโลกแบดมินตันแทบจะไม่รู้จัก หรือ Lee Yong dae - Cho Gun-woo เป็นแชมป์เยาวชนโลกประเภทชายคู่ แต่ในขณะที่คนแรกพัฒนาจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คนหลังกลับเป็นคนที่แทบจะไม่มีคนรู้จักในโลกแบดมินตัน


ขณะที่”ญี่ปุ่น” กลับเป็นประเทศที่นักกีฬาระดับเยาวชนมากมาย พาเหรดเข้าสู่ทีมชาติชุดใหญ่หลังผ่านการแข่งขันระดับเยาวชน เช่น Nozomi Okuhara กับ  Akane Yamaguchi 2 แชมป์หญิงเดี่ยวต่อจากเมย์ รัชนก อินทนนท์ ส่วน Misaki Matsutomo เป็นรองแชมป์หญิงเดี่ยวหลังพ่าย”เมย์”ในรอบชิงปี 2010 ก็ถูกเปลี่ยนไปเล่นประเภทหญิงคู่จนกลายเป็นแชมป์โอลิมปิก 2016


ที่ยกมา เป็น”ตัวอย่าง”ของต่างประเทศ ที่ดึงนักกีฬาเยาวชนไปแข่งขันและนำมาพัฒนา ซึ่งไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปว่าจะต้องประสบความสำเร็จ แต่อย่างน้อย พวกเขาก็ได้รับ”โอกาส”จากสมาคมแบดมินตันฯ ในการเข้าร่วมฝึกซ้อมและส่งไปแข่งขัน เพราะแม้นักกีฬาหลายคน ลงสนามแข่งขันโดยมี”สโมสร”เป็นต้นสังกัด แต่อย่าลืมว่า สโมสรต่างๆไม่มีเงินงบประมาณมากพอที่จะส่งนักกีฬาไปแข่งขัน โดยเฉพาะในต่างประเทศ


อย่าลืมว่า ทุกคนไปแข่งขันจะเป็นนักกีฬาจาก THAILAND และนี่คือเหตุผลที่สมาคมแบดมินตันฯควรสนใจและใส่ใจนักกีฬาเยาวชน เพื่อนำมาฝึกซ้อมและฝึกสอนให้เป็นระบบ และจะมีการดูแลให้นักกีฬาได้ดี


มีหลายๆวิธีที่สมาคมสามารถทำตามต่างประเทศได้เช่นสนับสนุนงบประมาณการส่งแข่งขันต่างประเทศ แต่นักกีฬาหรือสโมสรที่ใช้งบประมาณต้องยอมรับกติกาของผู้สนับสนุนของสมาคมแบดฯเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ อินโดนีเซีย หรือสมาคมก็เรียกตัวนักกีฬาหัวกะทิของแต่ละสโมสรนัดซ้อมร่วมกันเพราะเชื่อว่าหัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวอินโดนีเซีย “เร็กซี่ ไมนากี้” ทุกๆสโมสรยอมรับอยู่แล้วเพราะนอกจากได้พัฒนาฝีมือนักกีฬาแล้วโค้ชแต่ละสโมสรก็สามารถจำโปรแกรมการฝึกซ้อมเพื่อไปพัฒนารุ่นต่อๆไปได้ อย่าไปคิดว่าสมาคมเป็นของผู้ใดผู้หนึ่งเลยเพราะสมาคมไม่ใช่สโมสร และที่สำคัญต้องยอมรับการคัดเลือกนักกีฬาเข้าไปมีเรื่องซับซ้อนมาก

ปล่อยวางทุกอย่างแล้วกางปัญหามาแก้ไข อย่าให้นักกีฬาเยาวชนฝีมือดีถูกทอดทิ้งจน”เสียของ”เลย

(ดอกปีกไก่)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่