การจำศีล ตัวเลือกในการมีชีวิตรอดในฤดูหนาวอันโหดร้าย

กบแช่แข็ง


 
กบไม้เป็นกบสายพันธุ์เดียวที่ใช้ชีวิตอยู่ในวงกลมอาร์กติก

“กบไม้อลาสกา” (อลาสกัน วู้ด ฟร็อก) เป็นหนึ่งในสัตว์โลกที่มีขีดความอดทนต่อความหนาวเย็นสูงมาก ถึงขนาดทนทานต่อความเย็นจัดชนิดต่ำกว่าศูนย์องศาได้โดยไม่เสียชีวิตได้อย่างน่าทึ่ง ตามข้อมูลของนักวิชาการที่ศึกษาชีวิตของมัน กบไม้อลาสกาสามารถอยู่รอดได้ในหน้าหนาว ที่อุณหภูมิเย็นจัดระหว่าง -9 องศาเซลเซียส ถึง -18 องศาเซลเชียส ได้ในสภาพที่ร่างกายเย็นจัดเป็นน้ำแข็ง แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นมันก็สามารถกลับมามีชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง
กบไม้อลาสกา สามารถอยู่ในสภาพ “จำศีล” เยือกแข็งได้นานหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ และสามารถทนต่อวงจรการจำศีลเยือกแข็งและกลับมามีชีวิตใหม่ได้ 10-15 รอบต่อหนึ่งฤดูหนาวเลยทีเดียว  เมื่อมันอยู่ในภาวะจำศีล ร่างของมันจะอยู่ในสภาพแช่แข็ง ไม่หายใจ หัวใจหยุดเต้น กระบวนการต่างๆ ในร่างกายอย่าง เช่น กิจกรรมการย่อยอาหารและการขับถ่ายของเสียยุติลงโดยสิ้นเชิง 
นักวิจัยค้นพบเหตุผลที่ทำให้กบไม้อลาสกาสามารถสร้างปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์เช่นนี้ได้ว่า เป็นเพราะในเนื้อเยื่อของมันมีปริมาณของ “ครายโอโปรเทคแทนท์” อยู่สูง

“ครายโอโปรเทคแทนท์” คือสารที่ป้องกันการเกิดการจับตัวเป็นน้ำแข็งโดยลดจุดเยือกแข็งให้ต่ำลง ช่วยให้มันสามารถอยู่รอดได้ แตกต่างจากสัตว์ทั่วไปที่เมื่อพบกับความหนาวเย็นในระดับต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเซลล์ในร่างกายจะหดตัว น้ำจะถูกดึงออกมาจากเซลล์เพื่อการจับตัวเป็นน้ำแข็ง ส่งผลให้เซลล์แห้งและตายในที่สุด
นักวิจัยด้านการแพทย์นำเอาคุณสมบัติในร่างกายของกบไม้อลาสกามาใช้ประโยชน์ในการรักษาอวัยวะและเนื้อเยื่อของคนเราให้ยังคงสภาพมีชีวิตอยู่ได้เมื่อได้รับการแช่แข็ง เรียกว่ากระบวนการ “ครายโอพรีเสิร์ฟ” เพื่อช่วยยืดเวลาสำหรับนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ที่เหมาะสมในที่ต่างๆ ได้ทั่วโลกนั่นเอง
Cr. ขอบคุณข้อมูล จาก มติชน
 

หายใจทาง..ก้น


เต่าลายตีนเป็ด ผ่านช่วงสภาพอากาศอันหนาวเหน็บในแบบฉบับไม่เหมือนใครโดยการ.. หายใจผ่านทางรูก้น

บ่อน้ำในทวีปอเมริกาเหนือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูหนาว จึงทำให้พวกเต่าลายตีนเป็ดต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
เมื่อบ่อน้ำที่เป็นแหล่งอาศัยปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง สัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้จึงลดอุณหภูมิร่างกายและลดการเผาผลาญลงไปกว่าร้อยละ 95 
อย่างไรก็ตาม พวกมันก็ยังต้องการออกซิเจนในการหายใจอยู่

“สัตว์เหล่านี้หายใจด้วยปอด และพวกมันไม่สามารถขึ้นบกไปสูดอากาศได้แทบจะกว่าครึ่งชีวิตของพวกมัน” Jacquiline Litzgus นักนิเวศวิทยาจาก Laurentian University ใน Ontario กล่าว “สำหรับผม มันน่าเหลือเชื่ออย่างมาก”

เต่าลายตีนเป็ดจะได้รับออกซิเจนในจำนวนจำกัดผ่านทางก้นของพวกมันในกระบวนการที่เรียกว่าการหายใจทางทวาร (cloacal respiration) หลอดเลือดบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นรูเล็กๆ เอนกประสงค์ สามารถพบได้ทั่วในสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด สามารถรับออกซิเจนได้โดยตรงจากน้ำ

อยู่รอดด้วยหาง


ภาพถ่ายลีเมอร์แคระเล็กหางใหญ่ขณะกำลังโชว์หางที่พวกมันใช้ในการเอาชีวิตรอดในช่วงฤดูหนาว

หนึ่งเดียวในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลลิง เอป และมนุษย์ ที่รู้จักกันดีโดยการอาศัยหางของมันเพื่อการอยู่รอดในฤดูแล้งกว่าเจ็ดเดือนของเกาะมาดากัสการ์ ลีเมอร์แคระเล็กหางใหญ่ใช้เวลากว่าครึ่งปีในภาวะจำศีลเทียม พร้อมกับอาศัยไขมันที่กักตุนไว้ก่อนหน้านี้ในหางสำหรับการดำรงชีวิตให้อยู่รอด
ลีมเมอร์ชนิดนี้ปรับตัวโดยลดอุณหภูมิร่างกาย และอัตราการเต้นของหัวใจก็ลดลงจาก 180 ครั้งต่อนาทีเหลือเพียงแค่ 4 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น โดยคงอัตราการหายใจหนึ่งครั้งทุกๆ 10-15 นาที
สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแล้ว การใช้ชีวิตในภาวะจำศีลเทียมเป็นเวลานานๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เนื่องจากสมองจะหยุดทำงานเมื่ออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ทำให้การนอนหลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าการอดนอนเป็นเวลานานๆ นำไปสู่สุขภาพที่ย่ำแย่หรือบางทีอาจจะนำไปสู่ความตาย
“แต่ลีเมอร์แคระเล็กหางใหญ่ก็สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้” Peter Klopfer นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Duke กล่าว “ในช่วงระยะเวลาจากสองสามวันไปจนถึงสองสามสัปดาห์ พวกมันจะเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอที่จะทำให้สมองกลับมาทำงานได้อีกครั้ง”
“ในเวลานั้น พวกมันก็ได้รับการนอนหลับเป็นเวลาสั้นๆ” โดยขั้นตอนนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลาเจ็ดเดือนที่พวกมันจำศีล

ภาวะหยุดการเติบโต


 นักวิจัยอังกฤษสำรวจพบปลาคอดในแอนตาร์กติกาจำศีลได้ในฤดูหนาวที่ยาวนานคล้ายกับเม่น อาศัยการตุนอาหารในช่วงฤดูร้อนที่แสนสั้นเพื่อรับพลังงานอย่างเพียงพอที่จะผ่านพ้นฤดูหนาวอันยากลำบากได้
นักวิจัยอังกฤษในคณะสำรวจบริติชแอนตาร์กติกา (British Antarctic Survey) เผยปลาคอดที่อาศัยอยู่ในแอนตาร์กติกพันธุ์ "นอโทธิเนีย คอริอิเซพส์" (Notothenia coriiceps) ซึ่งกำลังเข้าสู่ภาวะหยุดการเติบโต คล้ายๆ กับการจำศีลของเม่นซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยบนแผ่นดิน

ทั้งนี้นักวิจัยทราบอยู่แล้วว่าปลาในแอนตาร์กติกามีกระบวนการทางเคมีที่สามารถต้านการแข็งตัวในเลือด ทั้งยังสามารถช่วยให้ปลาในเขตหนาวนี้ฝังตัวเองในน้ำแข็งได้ซึ่งเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายอย่างสุดขั้ว
"ดูเหมือนว่าปลาเหล่านี้จะอาศัยประโยชน์จากฤดูร้อนอันสั้นของแอนตาร์กติกาเพื่อรับพลังงานอย่างเพียงพอ จากการกินซึ่งช่วยให้ตัวเองผ่านพ้นฤดูหนาวอันยากลำบากไปได้ สันนิษฐานว่าภาวะที่คล้ายการจำศีลของปลาเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวเป็นกลไกเพื่อลดความต้องการใช้พลังงานให้น้อยที่สุด" ไครอน ฟราเซอร์ (Keiron Fraser) นักวิทยาศาสตร์ในคณะสำรวจกล่าว
ฟราเซอร์และคณะจะได้เผยแพร่การค้นพบนี้ผ่านวารสารวิทยาศาสตร์ออนไลน์ "พลอสวัน" (PLoS ONE) ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์แบบเปิดอยู๋ในช่วงทดลองของพลับลิก ไลบราลี ออฟ ไซน์ (Public Library of Science)
Cr.https://mgronline.com

นกขี้เซา


ขณะที่เพื่อนเจ้าเวหาของพวกมันอพยพไปทางใต้เพื่อหนีสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ แต่นก common poorwill แห่งทวีปอเมริกาเหนือเลือกที่จะจำศีลแทน จนทำให้พวกมันได้รับฉายาจากชาวอินเดียนแดงเผ่าโฮปิว่า “holchoko” หรือ “the sleeping one”
เมื่ออาหารที่เป็นแมลงขาดแคลน นกชนิดนี้ใช้เวลาของฤดูหนาวทั้งหมดโดยการไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับประชากรนก พวกมันลดอุณหภูมิร่างกายลงเหลือ 5 องศาเซลเซียส และลดปริมาณการใช้ออกซิเจนลงกว่าร้อยละ 90

“พวกมันจะนั่งอยู่บนพื้นดิน ติดกับต้นกระบองเพชรที่มีหนามแหลม และพวกมันจะไม่เคลื่อนไหวแม้แต่นิดเดียว แม้พวกคุณจะหยิบมันขึ้นมา” Mark Brigham นักชีววิทยาจาก University of Regina ใน Saskatchewan กล่าว “นักเรียนของผมสร้างที่พักพิงให้พวกมัน และมีนกจำหลายกว่าหลายตัวมานั่งและไม่ขยับเป็นเวลา 10 สัปดาห์”
Brigham เปรียบวิถีชีวิตของนกเหล่านั้นเสมือนค้างคาวที่จำศีล  “พวกมันแปลกมาก” Brigham เผย “ทำไมมีแต่พวกมันสายพันธุ์เดียวที่ทำแบบนี้ เป็นเรื่องที่ลึกลับมาก”

ลดอุณหภูมิร่างกาย


ค้างคาวจำศีลในหิมะ

สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วชนิดใดกันนะที่อาศัยอยู่ในรูหิมะ ของญี่ปุ่น…มันคือค้างคาวจมูกท่อที่กำลังจำศีล หากไม่นับรวมหมีขั้วโลกแล้ว ค้างคาวน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่สามารถมีชีวิตรอดแม้อาศัยอยู่ในกองหิมะได้ ต่างกันตรงที่พวกมันไม่มีขนหนาและชั้นไขมันเหมือนหมีขั้วโลก

ในการเอาชีวิตรอดจากหิมะ ค้างคาวจมูกท่อจะลดอุณหภูมิร่างกายตลอดจนอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อใช้พลังงานน้อยที่สุด นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบหลังสงสัยมานานว่าเจ้าสัตว์ขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเอาชีวิตรอดจากฤดูหนาวได้อย่างไร นอกจากนั้นภาพจากกล้องจับความร้อนยังแสดงให้เห็นว่าค้างคาวสามารถฟื้นคืนอุณหภูมิร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เพื่อบินหนีไปก่อนกองหิมะที่มันขุดรูอยู่อาศัยไว้จะถล่มลงมาทับอีกด้วย
สำหรับสาเหตุที่พวกมันเลือกจำศีลในกองหิมะนั้น นักวิทยาศาสตร์คิดว่าเป็นเพราะเพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกล่า อีกทั้งยังง่ายต่อการหาน้ำอีกด้วย

ปิดรูจมูกและหุบปากสนิท


คางคก จำศีล

คางคก  เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ที่มีอุณหภูมิภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตาสภาพแวดล้อม ฉะนั้นถ้าอุณหภูมิแวดล้อมไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก และน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติแห้งขอด อาหารของคางคกขาดแคลน คางคกจะลดหรือหยุดกิจกรรมต่างๆ ลง เพื่อความอยู่รอด ซึ่งช่วงนี้อุณหภูมิภายในตัวกบก็จะลดลงด้วย ต้องใช้พลังงานมากในการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย คางคกจึงมุดดินลงไปนอนนิ่งๆ ไม่กินอาหาร และดึงไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายมาใช้เพื่อประทังชีวิต โดยจะเรียกภาวะนี้ว่า "คางคกจำศีล"

 ฤดูกาลที่คางคกจะฝังตัวหลบอยู่ในโพรงใต้ดินอย่างสงบ มักอยู่ในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้ง ในประเทศไทยช่วงฤดูดังกล่าวแหล่งน้ำตามธรรมชาติโดยทั่วไปจะแห้งขอด อาหารของคางคกจะขาดแคลนจึงเป็นช่วงเวลาที่คางคกจะหมกตัวอยู่ในโคลนตามบ่อ คู หรือไม่ก็อยู่ในรูนอนสงบนิ่งหลับตา คางคกจะปิดรูจมูกและหุบปากสนิท เพื่อให้สูญเสียพลังงานภายในกายน้อยที่สุด อาหารที่ใช้เลี้ยงตัวเองในระหว่างนี้จะได้จากไขมันซึ่งสะสมอยู่ภายในร่างกายโดยเปลี่ยนรูปมาจากอาหารที่สะสมได้ในระหว่างฤดูกาลที่คางคกสามารถเลือกหาอาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ ในช่วงที่ว่านี้ จึงเรียกว่าฤดูกาลที่ "คางคกจำศีล"
Cr.ข้อมูล http://housetoad2.blogspot.com

ขอบคุณข้อมูลทั้งหมด
Cr.https://ngthai.com

                                                               PASSENGERS การเดินทางอันแสนยาวไกล
เรื่องของ PASSENGERS นั้นบอกเล่าเรื่องราวของของผู้โดยสารในยานอวกาศ “สตาร์ชิป อวาลอน” ที่กำลังเดินทางจากโลกมนุษย์ไปยังดวงดาวอาณานิคมแห่งใหม่ที่มีชื่อว่า “โฮมสเตด 2” ซึ่งระยะเวลาในการเดินทางนั้น ใช้เวลาถึง 120 ปีด้วยกัน ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดจะต้องนอนหลับให้ร่างกายอยู่ในสภาวะจำศีลเพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพคงเดิม และทุกคนจะถูกปลุกให้ตื่นก่อนเดินทางถึงที่หมาย 3 เดือนล่วงหน้า 

Cr.https://www.sanook.com/movie/65189/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่