สุดแค้นแสนรัก (2558) / กรงกรรม (2562) / ทุ่งเสน่หา (2563)
ในโลกของนักเขียน 'จุฬามณี' ผู้ประพันธ์นิยาย เล่าผ่านวิถีชีวิตและมุมมองของผู้คนชาวจ.นครสวรรค์ในยุคอดีตเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ภายใต้สภาพแวดล้อมสังคมชนชั้นกลาง กับวิถีชีวิตการทำมาหากินของแม่ค้าหรือชาวนา ด้วยตัวละครของ "แม่" ผู้เป็นตัวแทนคอยกำหนดทิศทางของเรื่องราวต่างๆให้เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งน่าสนใจที่ผู้ประพันธ์เล่าถึงทัศนคติคนเป็นแม่ในสังคมยุคนั้น และล้วนมีบทบาทสามารถกำหนดรูปแบบชีวิตของลูกหลานให้เป็นไป ทั้งเรื่องการประกอบอาชีพและคู่ชีวิต...ดังเช่นผู้หญิง 3 คนนี้ แม่ย้อย-แม่แย้ม-แม่สำเภา
.
.
ย้อย อัศวรุ่งเรืองกิจ | จากละคร กรงกรรม | รับบทโดย ใหม่ เจริญปุระ
เถ้าแก่เนี๊ยเจ้าของร้านค้าและเป็นภรรยาอาเซ้ง-เจ้าของโรงสีแห่งอ.ชุมแสง ซึ่งกว่าจะลงหลักปักฐานจนมั่นคง มีกิจการใหญ่โต ย้อยต้องอดทนเลี้ยงลูกชายถึง ๔ คน ได้แก่ ๑.ปฐม (อาใช้), ๒.ประสงค์ (อาตง), ๓.กมล (อาซา), ๔.มงคล (อาสี่) โดยมีปูมหลังมาจากหญิงสาวชาวนา ที่พลิกผันเข้ามาเป็นสะใภ้คนจีนตระกูลแบ้ ต้องถูกโขกสับจากญาติผู้ใหญ่ฝ่ายสามี และต้องออกมาเลี้ยงหมู-ขุดดิน-หาบน้ำ เก็บหอมรอมริบสะสมเป็นเงินก้อน เซ้งห้องเช่าเปิดกิจการที่ค่อยๆขยายใหญ่ที่สุดในชุมแสงมาได้จนบัดนี้ ด้วยความลำบากที่มันตอกย้ำให้ย้อยเป็นคนขยัน ทำงานตัวเป็นเกลียวตลอดทุกช่วงวัย ทั้งหมดก็เพื่อลูกๆของเธอ และบางครั้งความปารถนาดีของแม่ก็อาจมาพร้อมความเจ้ากี้เจ้าการในชีวิตลูกชายทุกคนให้เป็นไปตามที่นางคาดหวังรวมถึงการเลือกสะใภ้ให้ด้วย แต่ทุกอย่างก็ไม่เป็นตามที่หวังไว้เสมอ นับจากอาใช้-ลูกชายคนแรกที่ได้เรณูเป็นเมีย ซึ่งพื้นเพเป็นแค่ผู้หญิงบาร์ จนถอนหมั้นกับพิไล-ลูกสาวเถ้าแก่โรงสีทับกฤช แต่ย้อยก็ไม่ยอมแพ้ จัดแจงให้ทิดตง-ลูกชายคนรองสึกพระออกมาแต่งงานแทน แล้วยังบงการให้อาซา-ลูกชายลำดับที่สามให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับจันตา-หญิงสาวลูกจ้างร้านสังฆภัณฑ์ที่เขาหมายตาไว้ เพื่อให้ไปแต่งกับเพียงเพ็ญ-ลูกสาวกำนันจากฆะมังจนชีวิตคู่ไปกันไม่รอด แม้ความหวังที่จะให้อาสี่-ลูกชายคนสุดท้องเรียนจบออกมาสืบทอดกิจการก็ยังต้องมีอันเป็นไป เพราะความตายมาพรากลูกชายจากนางไป แต่ไม่ว่าชีวิตของลูกทั้ง 4 คนจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ย้อยก็ได้เรียนรู้ถึงสัจธรรมข้อหนึ่งว่า ทิฐิมานะ เป็นตัวผลักดันให้ กรรม มันถูกก่อขึ้น และไม่ว่าจะจบลงอย่างไร เธอก็พร้อมจะยอมรับมัน.
.
.
แย้ม หมั่นกิจ | จากละคร สุดแค้นแสนรัก | รับบทโดย รัดเกล้า อามระดิษ
เศรษฐีตระกูลชาวนา เจ้าของที่ดินเกือบร้อยไร่ ณ หนองนมวัว อ.ลาดยาว และมีลูกๆ ๓ คนได้แก่ ๑.ประยงค์, ๒.ประยูร, ๓.พะยอม วิถีชีวิตของนางแย้มและลูกหลานควรเป็นไปเช่นนั้น หากแต่นายเทืองผู้เป็นสามี หัวห้าครอบครัวได้ตายลงด้วยเหตุขัดแย้ง นางแย้มโทษความผิดทุกอย่างไปที่ลูกเมียนายขัน-สามีนางอ่ำ ซึ่งมีอัมพร-ลูกสาวคนโตมาแต่งงานกับทิดยงค์ จนคลอดลูกชายออกมา แต่นางแย้มก็เอาคืนได้แสบสันต์โดยยึดเอาหลานไว้และไล่อัมพรลงจากเรือน ทิดยงค์กลุ้มใจกินเหล้าหนักจนไปถูกหมาบ้ากัดทำให้พิษเข้าสมองเสียชีวิต ครอบครัวเล็กๆของอัมพรไม่ต่างจากแพแตกเพียงความสาแก่ใจของแม่ผัวที่ยังยึดความแค้นเอาไว้ใกล้ตัว และทำทุกอย่างให้ครอบครัวนางอ่ำไม่มีที่ยืนในหนองนมวัว พาลให้อุไร-ลูกสาวอีกคนของนางอ่ำ ที่ชอบพอจนแอบได้เสียกับ ลือพงษ์-ลูกชายเจ้าของอู่รถสองแถว แย้มใช้หมากตัวสำคัญ ประยูร-ลูกชายอีกคนเข้าแทรกกลางจนลือพงษ์ตีตัวห่างออกไป เป็นช่องว่างให้พะยอม-ลูกสาวคนเล็กของแย้มได้สบโอกาสใกล้ชิดและชิงแต่งงานตัดหน้าอุไรให้ตั้งท้องไม่มีพ่อ แย้มปล่อยข่าวให้ร้าย ๒ สาวพี่น้อง ทั้งเรื่องอัมพรขายลูกกิน รวมถึงอุไรชิงสุกก่อนห่าม ทำเอาแม่อ่ำตัดสินใจปล่อยเซ้งที่นา พาลูกสาวสองคนย๊ายถิ่นฐานไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในตัวเมือง เปิดร้านข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยวย่านตลาดแถวท่ารถทำให้อัมพรต้องพรากจากยงยุทธ-ลูกชายตลอดไป เมื่อไร้ซึ่งหัวแรงในการทำนา แย้มจึงชักนำลูกหลานย๊ายเข้าตัวเมืองตามไปด้วย นำเงินทุนที่เก็บเอาไว้มาปล่อยกู้เก็บกินดอกจนร่ำรวย ส่งเสียยงยุทธในฐานะผู้ปกครอง แม้วันเวลาผันผ่านมาหลายสิบปี แย้มยังปลูกฝังให้หลานชายรับรู้แบบผิดๆว่าแม่แท้ๆทอดทิ้งเขาไปมีครอบครัวใหม่ แต่สิ่งนั้นกลับย้อนทำร้ายตัวนางเองก็ยังไม่สามารถทำให้อคติในหัวใจแย้มลดลงได้เลย.
.
.
สำเภา สมัครเขตกรณ์ | จากละคร ทุ่งเสน่หา | รับบทโดย บุษกร วงศ์พัวพันธ์
หญิงหม้ายผัวตายตั้งแต่ลูกชายยังเล็ก ไพรวัลย์และไพฑูรย์ ท่ามกลางวิถีชีวิตในท้องทุ่งนา ณ เนินขี้เหล็ก อ.ลาดยาว นางสำเภาเลี้ยงลูกๆจนโตเพียงลำพัง ด้วยสองมือและแรงกายของนางบนที่นาผืนนี้ จึงหวังว่าชีวิตลูกทั้งสองจะไม่ลำบากลำบนเหมือนเช่นแม่ แต่ต้องได้สะใภ้ที่เหมาะสม แม้ไพรวัลย์-ลูกคนโตจะขาพิการข้างหนึ่ง แต่ไพฑูรย์-ลูกชายคนที่สองก็เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแม่ทำไร่ไถนา ซึ่งเขาวางแผนจะแต่งงานกับยุพิณ-สาวที่ฐานะยากจนหลังบวชให้แม่ แม้ว่านางสำเภาไม่พอใจเท่าใดนักแต่ก็คัดค้านเสียไม่ได้ นอกจากอุบายที่ให้ลูกชายคนเล็กบวช แล้วบังคับยุพิณมาแต่งงานกับลูกชายคนโตเสียแทน โดยใช้ข้ออ้างที่พ่อของยุพิณเคยมาแอบโขมยควายในคอกแต่นางจับได้และไม่เอาความก็เพื่อการนี้ สำเภายอมแก้ทุกปัญหาทีละปมเพื่อให้ยุพิณเลี่ยงจากไพฑูรย์มาแต่งกับไพรวัลย์ เพราะผู้หญิงที่ยากจนอย่างยุพิณก็เหมาะสมแล้วกับลูกชายขาเป๋ของนาง และเพื่อต้องการสะใภ้ที่ฐานะดีอย่างจันทร จึงวางแผนหากวันที่ไพฑูรย์สึกออกมาจะได้แต่งงานทันที แต่หากโลกยังหมุนอยู่ทุกวัน นั่นแปลว่าทุกสิ่งอย่างย่อมไม่แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ไพรวัลย์-ลูกชายคนแรกเสียชีวิตหลังคืนส่งตัว, ไพฑูรย์-ลูกชายคนที่สองกลายเป็นพ่อหม้ายเมียตายเพราะจันทรสุขภาพไม่ดี สิ่งสุดท้ายที่สำเภาประคับประคองไว้ได้ คือ ด.ช.กันตพล หลานชายบุญธรรม ที่นางรับมาเลี้ยงดู แต่ไม่ว่าเด็กคนนี้จะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของนางหรือไม่ สำเภาก็จะเลี้ยงเขาให้ดีที่สุด เหมือนกับที่เคยเลี้ยงดูลูกๆทั้ง ๒ คนให้เติบโตขึ้นมาได้.
.
.
จุดเชื่อมโยงและความคล้าย (อิงจากนิยาย)
- สำเภา, แย้ม, ย้อย เป็นแม่หม้ายผัวตาย ทำให้มีอิทธิพลมากในชีวิตลูกหลานของตัวเอง -
- ย้อยกับแย้มเป็นพี่น้องกัน ทั้งคู่เกิดและโตที่หนองนมวัว -
- สำเภาอยู่ต.เนินขี้เหล็ก แย้มอยู่ต.หนองนมวัว ทั้ง 2 ตำบลอยู่ในอ.ลาดยาว -
- ผู้หญิง ๓ คนตกอยู่ในฐานะแม่ผัวที่ไม่ยอมรับลูกสะใภ้ จนเกิดเรื่องราวขึ้นมากมาย -
- พวกเธอสูญเสียลูกชายที่ตายตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่การรับมือกับเหตุการณ์ก็แตกต่างกันไป -
- ตัวละครชื่อประณอม เพื่อนของเรณู สะใภ้แมย้อย เป็นคนชวนแก้วใจ สะใภ้สำเภาไปทำงานบาร์ -
ฯลฯ
.
.
สไตล์ของนิยายทั้ง 3 เรื่อง คือวิธีเล่าชีวิตและลมหายใจของผู้คนในพื้นถิ่นนครสวรรค์ โลดแล่นไปด้วยความทรงจำ ที่มีทั้ง ตลาด-ร้านค้า, สถานีรถไฟ, ผับบาร์, ทุ่งนา, รถสองแถว และวิถีชีวิตผู้คน ตีความ-ขยี้-กระเทาะ-ขุดคุ้ย ให้เราเห็นภาพความเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ โดยใช้ตัวละครที่เป็น "แม่" เอาไว้ชูรสชาติ ทำให้เราได้รสสัมผัสความเป็นมนุษย์ในสมัยนั้นได้อย่างเข้มข้นและถึงเครื่อง
แม่...ที่สุมไฟรักให้กลายเป็นความแค้นด้วยแรงทิฐิ
แม่...ที่มีเหตุผลในการกระทำ แต่กลับเป็นกรงที่กักขังกรรมเอาไว้
แม่...ที่ขีดเขียนโชคชะตา แม้ไม่รู้หนทางจะคาดเดา
- ขอบคุณจุฬามณี ที่เขียนนิยายให้เราอ่าน และช่อง 3 ที่ทำละครให้เราดู -
นางย้อย-นางแย้ม-นางสำเภา : แม่ผู้โลดแล่นในโลกของจุฬามณี