ยุทธการเผาบ้านเผาเมือง ปฏิบัติการทางทหารที่โลกลืม (2)

ปฏิบัติการเผาเมืองฉางชา ซึ่งได้กลายเป็นเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทสจีน

ต่อจากกระทู้ ยุทธการเขื่อนแตก
https://ppantip.com/topic/39298677/

ยุทธวิธีเผาบ้านเผาเมือง (scorched-earth) เป็นกลยุทธการตั้งรับของชาวจีนที่สืบทอดมาแต่โบราณ ที่ให้เผาทำลายทุกอย่างที่ไม่สามารถขนหนีข้าศึกไปได้ เพื่อไม่ให้ข้าศึกได้ครอบครองทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการทำสงคราม  ในระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ทั้งจีนญี่ปุ่นได้มีการนำยุทธวิธีเผาบ้านเผาเมืองมาใช้ ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศจีนมากกว่าความเสียหายที่เกิดจากการรบโดยตรงหลายเท่าตัว

ทางฝ่ายจีน ยุทธวิธีเผาบ้านเผาเมืองเป็นนโยบายการทำสงครามของ เจียงไคเช็ค ที่ให้เริ่มนำมาใช้หลังจากสูญเสียเมืองเซี่ยงไฮ้ให้แก่ญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 1937 การเผาบ้านเผาเมืองโดยฝ่ายจีนเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 1937 เมื่อญี่ปุ่นเคลื่อนพลออกจากเซี่ยงไฮ้มุ่งหน้าสู่นานกิง เจียงไคเช็คได้ออกคำสั่งให้เผาทำลายทุกอย่างทั้งอาคารบ้านเรือนและไร่นา ที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรห่างจากกองทัพญี่ปุ่น เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ยึดได้ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทำลายล้างขนาดมหึมาจากเซี่ยงไฮ้ไปจนถึงนานกิง ประมาณสองวันก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะถึงนานกิง ทางจีนได้เริ่มเผาทำลายอาคารทุกหลังในรัศมี 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) จากกำแพงเมือง และเมื่อเมืองนานกิงใกล้จะแตกทหารจีนก็ได้จุดไฟเผาทำลายสถานที่ราชการ รวมทั้งบ้านเรือนประชาชนที่เจ้าของหลบหนีไปแล้ว เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งได้ทำลายเมืองนานกิงไปราวสองในสาม นักข่าวต่างชาติรายงานว่าการเผาทำลายของรัฐบาลจีนเองนั้นได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศของตนมากกว่าผลจากการรบโดยตรงหลายเท่า 

ปฏิบัติการเผาบ้านเผาเมืองของจีนในยุทธการนานกิง (China's defense preparations)
https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Nanking#China's_defense_preparations

ส่วนทางญี่ปุ่นนั้นก็มีการใช้ยุทธวิธีเผาทำลายด้วยเช่นกัน แต่วัตถุประสงค์ของญี่ปุ่นจะต่างไปจากจีน คือเป็นการต่อต้านสงครามกองโจร มีลักษณะคล้ายกับที่สหรัฐเผาหมู่บ้านเวียดกง โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายที่หลบซ่อนของหน่วยใต้ดิน (ทำให้หน่วยใต้ดินของจีนต้องขุดอุโมงค์อยู่) การเผาของญี่ปุ่นในช่วงต้นของสงครามเชื่อว่ามีน้อย เพราะช่วงนั้นญี่ปุ่นตั้งใจจะเข้ามายึดครอง จึงไม่มีเหตุผลที่จะเผาทำลายสิ่งที่ยึดได้ แต่เมื่อผ่านไปหนึ่งปี สงครามกองโจรก็เริ่มจะเป็นปัญหา ทางกองทัพญี่ปุ่นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้เผาทำลายหมู่บ้านที่เป็นแหล่งหลบซ่อนของหน่วยใต้ดินได้ ในเดือนธันวาคม 1938 เพื่อต่อต้านสงครามกองโจร การเผาของญี่ปุ่นจึงเริ่มมีขึ้นหลังจากนั้น และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 1940 เพื่อต่อต้านหน่วยใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์

มีการถกเกียงกันว่าในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ใครเผาบ้านเผาเมืองมากกว่าใคร เนื่องจากไม่ค่อยมีการจดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการเผาบ้านเผาเมือง จึงไม่สามารถระบุความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายได้แน่นอน ประวัติศาสตร์ของจีนนั้นจะหลีกเลี่ยงไม่บอกเล่าถึงการเผาบ้านเผาเมืองของฝ่ายตน และโยนความผิดทุกอย่างไปให้ญี่ปุ่น  

ตามปกติการเผาบ้านเผาเมืองนั้น ทางกองทัพจะใช้กำลังบังคับให้ประชาชนอพยพออกจากที่อยู่โดยให้นำสิ่งของมีค่าทุกอย่างที่พอจะขนได้ไปด้วย และอะไรที่ขนไปไม่ไหวหรือขนไม่ทันก็จะเผาทิ้งเพื่อไม่ให้ตกอยู่ในมือข้าศึก อย่างไรก็ตามได้เกิดความผิดพลาดทางการสื่อสารขึ้นที่เมืองฉางชา (Changsha) ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 1938 ทางจีนได้ทำการเผาเมืองทั้งเมืองตอนตีสอง ในขณะที่ประชาชนราวห้าแสนคนกำลังหลับไหลอยู่ในเมือง ทำให้เกิดการฌาปนกิจหมู่ประชาชนของตนเองหลายหมื่นคนโดยไม่ได้ตั้งใจ 



https://th.wikipedia.org/wiki/สกอชท์เอิร์ธ
https://en.wikipedia.org/wiki/Scorched_earth
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่