ท่องเที่ยว Dom Trip ไปกับเด็กโลจิสวไลย

กระทู้สนทนา
สวัสดีครับพวกเราเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
พวกเราสองคนได้รับมอบหมายงานวิชา การจัดการขนส่งภายในประเทศ (Domestic Transportation Management)
ให้ไปเที่ยวตามจุดต่างๆที่อาจารย์กำหนดในจังหวัดกรุงเทพมหานคร
โดยจะต้องใช้เงินในการท่องเที่ยว เดินทาง ให้น้อยที่สุด ส่วนจะมีที่ไหนบ้างนั้น เราไปดูกันเลยครับ โกโกโก!!!

ที่แรกนะครับ หรือจุดเริ่มต้นของเราก็คือ สถานีรถไฟหัวลำโพง ปู๊นปู๊นนนนนน

สถานีกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่า หัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟเก่าแก่อยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนานกว่า 100 ปี เริ่มก่อสร้างช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459




เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เดิมเป็นอาคารไม้ อยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษม เยื้องๆ กับโรงเรียนสายปัญญา ก่อนที่จะสร้างอาคารใหม่ในปลายรัชกาลที่ 5 เพื่อรองรับการเดินรถที่มากขึ้น จนสำเร็จในต้นรัชกาลที่ 6 เป็นอาคารทรงโค้งครึ่งวงกลมแบบศิลปะอิตาเลียน เรเนสซองส์ คล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี ออกแบบโดย มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ ชาวอิตาลี สถาปนิกสยามผู้ออกแบบ พระที่นั่งอนันตสมาคม, วังปารุสกวัน, สะพานมัฆวานรังสรรค์ และสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง




สถานีรถไฟหัวลำโพง มีชื่อเรียกว่า ‘ทางรถไฟสายปากน้ำ’ เป็นทางรถไฟเอกชน ที่เดินรถระหว่างหัวลำโพง กรุงเทพฯ กับ เมืองปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ได้สัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก เปิดเดินรถในวันที่ 11 เมษายน 2436 ซึ่งดำเนินกิจการก่อนกรมรถไฟหลวง หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ
ลักษณะอาคารเป็นเรือนแถวเล็กๆ วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก เลียบขนานไปกับทางรถไฟสายปากน้ำที่มุ่งหน้าไปทางสมุทรปราการ ซึ่งอาคารสถานีหัวลำโพงนั้นตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับสถานีกรุงเทพ ห่างเพียงแค่การข้ามถนนไปไม่กี่สิบเมตรเท่านั้น
สถานีรถไฟหัวลำโพง ถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503 พร้อมๆ กับการยกเลิกกิจการรถไฟสายปากน้ำ เป็นอันปิดฉากสถานีรถไฟเอกชนหัวลำโพง และได้มีการสร้างถนนทับทางรถไฟเดิมแทน นั่นก็คือ ถนนพระราม 4 (จากหัวลำโพง-คลองเคย) ถนนทางรถไฟสายเก่า และ ถนนสุขุมวิท (บริเวณหน้าโรงเรียนนายเรือสมุทรปราการ)


กิจการรถไฟในปัจจุบัน มีเส้นทางที่ออกจากสถานีหัวลำโพง จำนวน 4 สาย ได้แก่
1. ทางรถไฟสายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ 

2. ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย คือ
ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี,ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย 

3. ทางรถไฟสายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ,ปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง 

4. ทางรถไฟสายใต้ต้นทางสถานีกรุงเทพ และสถานีธนบุรี เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย,ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก 



สถานที่ต่อไปนะครับ เราก็ได้เดินออกจากหัวลำโพงไปทางทิศตะวันตกตามถนนพระราม 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง 



แล้วเลี้ยวขวาไปยังถนนพลับพลาไชย เดินไปตามทางก็จะเจอสถานที่ที่สองของเรานั่นก็คือ ศาลเจ้าหลีตีเมี้ยว นั่นเองงงง

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2445 ผู้สร้างเป็นชาวจีนแคะที่อพยพเข้ามาไทยในปลายราชวงศ์ชิง เนื่องจากราชวงศ์ชิงไม่สนใจศาสนาเต๋า จึงทำให้ศาสนาเต๋าไม่เป็นที่เผยแพร่ในจีน ดังนั้นกลุ่มคนที่ยังคงนับถือศาสนานี้อยู่ เมื่ออพยพย้ายถิ่นก็ยังคงสืบต่อศรัทธาด้วยการสร้างศาลเจ้าในศาสนาเต๋าขึ้น และทำการเผยแผ่คุณธรรมคำสอนอันเป็นหลักปรัชญาแห่งชีวิตอันลึกซึ้ง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวจีนอันล้ำค่าเพื่อให้คงอยู่ต่อไป 
          
ช่วงตรุษจีนก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประชาชนจะหลั่งไหลเข้ามา แม้ทางศาลเจ้าจะไม่ได้จัดงานยิ่งใหญ่ จะมีก็เพียงการจุดเทียนถวายเทพ ทั้งนี้ประชาชนก็พร้อมใจกันมากราบไหว้พระขอพรเป็นจำนวนมากทุกปี

อยากสมหวังเรื่องอะไรก็มาขอพรกันได้นะครับ

สถานที่ต่อไปของเราก็อยู่ไม่ไกลจากศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยวเท่าไหร่ เดินออกจากศาลมานิดเดียวก็ถึงเลย นั่นก็คือวัดคณิกาผลนั่นเองครับ

วัดคณิกาผลสร้างโดยคุณยายแฟง เจ้าของสำนักโสเภณีชื่อ ‘โรงยายแฟง’ โรงโสเภณีชั้นสูงที่ตั้งอยู่ ณ ตรอกเต๊า ถนนเยาวราช (ปัจจุบันคือซอยเจริญกรุง 14) เมื่อ พ.ศ. 2376 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยร่วมกับหญิงงามเมือง (คำเรียกเพราะๆ อีกคำหนึ่งของโสเภณี) ในสำนักของนาง ตามความนิยมในสมัยนั้น บรรดาขุนนางนิยมสร้างวัดเพราะมีคำกล่าวว่า “ใครใจบุญสร้างวัดก็จะเป็นคนโปรด”





อุโบสถของวัดซึ่งแม้จะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ แต่พระพุทธรูปประธานนามว่าหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ที่ใครๆ ก็ถือว่าเป็นงานที่คลาสสิกและเป็นแบบที่งดงามที่สุดของพระพุทธรูปในศิลปะไทยยังคงประดิษฐานเป็นองค์ประธานดังเช่นในสมัยก่อน 

องค์หลวงพ่อทองคำเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอุโบสถ แต่เมื่อนำไปประดิษฐานในบุษบกก็ทำให้ความโดดเด่นของพระพุทธรูปเพิ่มขึ้นมาก ถือเป็นกลวิธีอันแยบคายของช่างโบราณที่ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับพระพุทธรูปได้เป็นอย่างดี

ข้างในวิหารมีหลวงพ่อองค์ดำ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่แม้ตอนนี้จะสีทอง แต่เดิมน่าจะต้องเคยเป็นสีดำมาก่อน เพราะไม่อย่างนั้นท่านคงไม่ได้ชื่อ ‘หลวงพ่อองค์ดำ’ มา ซึ่งสีดำนี้มาจาก ‘รัก’ ยางไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีดำ จะนำมาลงบนพระพุทธรูปก่อนที่จะปิดทอง ชื่อนี้ยังพบกับพระพุทธรูปอีกหลายองค์ซึ่งเชื่อกันว่าขณะที่ได้ชื่อนี้มา ชาวบ้านน่าจะพบพระพุทธรูปองค์นี้ตอนที่เป็นสีดำอยู่ ก่อนที่จะมีการปิดทองในเวลาต่อมา

สถานที่ต่อไปที่เราจะไปนะครับก็อยู่ไม่ไกลเลย ข้างๆวัดคณิกาผลนี่เอง นั่นก็คือวัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่


วัดเล่งเน่ยยี่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) ซึ่งใช้เวลาการสร้างกว่า 8 ปี วัดแห่งนี้จึงเสร็จสมบูรณ์ ภายในวัดมีการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ ตามแบบฉบับช่างสกุลแต้จิ๋ว เน้นการวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือมีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ปัจจุบัน "วัดเล่งเน่ยยี่" จึงกลายเป็นศูนย์กลางในการจัดงานของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในเทศกาลต่าง ๆ ทั้งตรุษจีนและเทศกาลกินเจ เป็นต้น
          
เมื่อเดินทางเข้าไปภายในวัดจนถึงวิหารจะพบ "ท้าวโลกบาล" ทั้ง 4 ที่เป็นเทวรูปเทพเจ้าทั้ง 4 พระองค์ ในชุดนักรบชาวจีน พร้อมถืออาวุธ พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ซึ่งชาวจีนเรียกว่า "ซี้ไต๋เทียงอ้วง" หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครอง
          
และที่นิยมไหว้ขอพรมากคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ "ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ" เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ "ไต่เสี่ยหุกโจ้ว" พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ "ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว" ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ "กวนอิมผู่สัก" หรือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ "แป๊ะกง" และ "แป๊ะม่า" รวมเทพเจ้าในวัดจะมีทั้งหมด 58 องค์



เราเริ่มเดินจากวัดเล่งเน่ยยี่ เดินไปตามถนนมังกร ตัดกับถนนเจริญกรุง และถนนเยาวราช
แล้วก็เลี้ยวขวาเข้าซอยเล็กๆ แต่ก่อนเราจะไปวัด เรามาเติมพลังกันกันก่อนดีกว่าจะได้มีแรงเดินต่อ
เราจึงแวะทานมื้อกลางวันกันที่ร้าน ก๋วยเตี๋ยวหมวยซ่าส์ โดยเมนูขึ้นชื่อของร้านนี้ก็จะเป็น ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟครับ เราเลยสั่งมาคนละชาม


รสชาติอร่อยสุดๆครับ เครื่องก็ให้เยอะ เส้นก็เยอะ แถมชามละ 50 บาทเอง ไว้วันหลังจะมาทานใหม่ครับ

หลังจากกินก๋วยเตี๋ยวก็มีแรงลุยต่อละครับ สถานที่จะไปก็คือวัดโลกานุเคราะห์ ซึ่งก็อยู่ในซอยนี้เลย ใกล้ๆกับร้านก๋วยเตี๋ยวนี่เอง

"วัดโลกานุเคราะห์”   วัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 หรือเมื่อประมาณปี พ.ศ.2394 โดยพ่อค้าชาวจีนและชาวญวน ร่วมกันสร้างเป็นสำนักสงฆ์เพื่อใช้เป็นศาสนสถานประกอบศาสนกิจตามลัทธิพิธีทางฝ่ายพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สำหรับชื่อวัดโลกานุเคราะห์นั้น ได้รับพระราชทานนามจากองค์รัชกาลที่ 5 โดยวัดแห่งนี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนักแต่มีความงดงามยิ่งนัก 

ในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น ตรุษจีน สารทจีน งานประจำปี ฯลฯ  ทางวัดจะอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ ออกมาให้สักการะทางด้านนอกวัด เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมากเดินทางมากราบไหว้ และเมื่อหมดเทศกาลแล้วทางวัดจะอัญเชิญเทพเจ้ากลับเข้าไปอยู่ภายในอุโบสถ

ครบแล้วครับ วันนี้พวกเราก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานที่แต่ละจุดเลย แต่ก็ปวดเท้าใช้ย่อย55555
ใครอยากจะตามมาก็มาได้นะครับ แต่ละที่สวยมาก และยังมีพระให้ไหว้เก็บเกี่ยวแต้มบุญกันอีกด้วย
วันนี้พวกผมสองคนก็ขอลากันไปก่อนนะครับ สวัสดีครับบบบบ



      

 

 

 
 
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่