สิ่งที่โค้ชญี่ปุ่นสงสัย แต่โค้ชคีย์บอร์ดไม่สงสัย

กระทู้สนทนา
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก เว็บ Marumura ครับ



【สิ่งที่โค้ชญี่ปุ่นสงสัย】
ยาสึซัง ... เพื่อนญี่ปุ่นดิฉัน เคยเป็นครูสอนฟุตบอลให้กับ
ฮอนดะ เคสึเกะ ... นักเตะชื่อดังของญี่ปุ่น
ช่วงนี้ ยาสึซังมาเมืองไทยพอดี
ดิฉันเลยแนะนำให้แกลองไปดูโรงเรียนสอนฟุตบอล
ของเพื่อนดิฉัน
โรงเรียนแห่งนี้ สอนเด็กวัย 3-12 ปี
ยาสึซัง ผู้มี passion ในการสอนฟุตบอลให้เด็กอยู่แล้ว
ก็ไปดูคนเดียว ​
วันก่อน ดิฉันเลยนัดยาสึซังทานข้าว
และชวนเพื่อนเจ้าของโรงเรียนฟุตบอลมาด้วย

ยาสึซังเปิดประเด็น ...
"จากการที่ผมไปดูโรงเรียนสอนฟุตบอลที่ไทย
ในระยะเวลา 2 ชั่วโมงนี้
สิ่งที่ผมประหลาดใจที่สุด
คือ ตอนเบรค เด็กทุกคนวิ่งไปทานน้ำกันหมด
ทานน้ำไป คุยไป"

พักเบรค ก็ทานน้ำสิ
ผิดตรงไหน ?

แกบอกว่า ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น
ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะวิ่งไปพักเบรค
จะต้องมีเด็กบางคนที่ถือโอกาสนี้
หยิบลูกฟุตบอลมาเตะเล่นต่อ
"เด็ก ๆ มาฝึกที่โรงเรียนแห่งนี้
เพราะอยากเล่นบอลไม่ใช่เหรอครับ
เพราะพวกเขารักฟุตบอลไม่ใช่เหรอ
แล้วทำไมตอนพัก
ทุกคนถึงวิ่งหนีไปพักกันหมดล่ะ?"

"..."

คนไทย 2 ชีวิตนั่งกระพริบตาปริบ ๆ
เพื่อนดิฉันเลยถามด้วยเสียงอ่อย ๆ ต่อ ...
"แล้วยาสึซังทำยังไงให้เด็ก ๆ รักการเล่นฟุตบอล
(จนแอคทีฟขนาดนั้น) ครับ?"

ที่ผ่านมา เด็กไทยหลายคนชอบเล่นบอล
แต่พอแข่งกับทีมอื่นแพ้ติด ๆ กันเรื่อย ๆ
ก็หมดกำลังใจ ไม่อยากเล่นต่อ

โค้ชริมสนามเอง ก็อยากให้เด็กทีมตัวเองชนะ
ก็พากันตะโกนบอกให้เด็กวิ่งแบบนั้น ยิงประตูแบบนี้
เหมือนทุกคนวิ่งไปที่ผลลัพธ์ ... การชนะทีมอื่น

ยาสึซังตอบว่า
"เตะบอล แพ้ชนะเป็นเรื่องปกติครับ
แต่สิ่งที่จะทำให้เด็ก ๆ รักการเล่นบอลจริง ๆ
คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาเก่งขึ้น
ผมเอง แปลกใจมากตอนเห็นคุณครูโรงเรียนคุณ
ให้เด็กเตะบอลเข้ากำแพงไปเรื่อย ๆ
เหมือนไม่มีจุดหมายในการซ้อม

ถ้าเป็นผม ผมจะกำหนดเป็นขั้น ๆ เลย
เช่น ให้ฝึกเดาะบอลซ้ายขวาให้ได้ก่อน 50 ครั้ง
ตอนแรก ๆ เด็กอาจทำไม่ได้
แต่เราก็ค่อย ๆ ให้กำลังใจ จนเขาทำได้
พอเด็กทำได้ ผมก็จะเพิ่มความยาก
ให้เขาเดินไป เดาะบอลไป
ถ้าทำได้อีก ก็จะวางกรวย
ให้เดาะบอลซิกแซกอ้อมกรวย
ถ้าทำได้อีก ก็จะเพิ่มระยะทางให้ไกลขึ้น
ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
เด็กจะค่อย ๆ สนุกกับการฝ่าไปทีละขั้น ๆ
และเกิดความภูมิใจในตัวเอง
พอเขาสนุก ... จากเดิมที่ทำไม่ได้
กลับมาทำได้
เขาก็จะฝึกเยอะขึ้นเอง
และเขาก็จะยิ่งเก่งขึ้นเอง"

บ้านเรา อาจสนุกกับการลุ้นผลแพ้ชนะ
แต่ยาสึซัง เน้นไปที่กระบวนการ
และการปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้ให้ได้ภูมิใจในตัวเอง
ดิฉันคิดว่า วิธีคิดแบบนี้
ไม่ได้จำกัดแค่การสอนเด็กเตะบอลอย่างเดียว
แต่หัวหน้า ก็สามารถฝึกลูกน้องแบบนี้ได้เช่นกัน
ว่าแต่ ...ในปีนี้ ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพรักบี้ชิงแชมป์โลก
และกำลังแข่งกันอยู่ตอนนี้
เมื่อไม่กี่วันก่อน ทีมญี่ปุ่นเพิ่งเอาชนะทีมไอร์แลนด์ ...
ทีมที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่ 1-2 ของโลก
กีฬาที่คนญี่ปุ่นควรจะเสียเปรียบทั้งด้านร่างกาย ความอึด
และความกำยำ
แต่คนญี่ปุ่น ก็ยังก้าวข้ามผ่านตรงนั้นไปได้
พวกเขาผ่านการเรียนรู้แบบเดียวกับที่ยาสึซังถ่ายทอดให้กับ
ลูกศิษย์นักเตะของเขาหรือเปล่านะ ?  ยิ้ม
เกตุวดี Marumura
ป.ล. นาน ๆ มีเวลาแวะมาเขียนเล่าที
ขอแอบเขียนยาวหน่อยนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่