[Review - ไม่สปอยล์] Joker : สิ่งที่แย่ที่สุดตอนป่วยเป็นบ้า คือผู้คนจะทำเหมือนว่าคุณไม่ได้เป็นบ้านั่นแหละ

"สิ่งที่แย่ที่สุดตอนป่วยเป็นบ้า คือผู้คนจะทำเหมือนว่าคุณไม่ได้เป็นบ้านั่นแหละ"

หนังเหมาะกับสภาพสังคมไทยขณะนี้อย่างสุดขีด เรื่องของชายที่ถูกสังคมทอดทิ้งเต็มขั้น อาเธอร์ เฟล็ค (ฮัวคีน ฟีนิกซ์) มีอาการทางประสาทอย่างรุนแรง เขาต้องเข้าพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อบำบัดอารมณ์บิดเพี้ยนและโรคประหลาดที่ทำให้เขาแสดงอารมณ์แบบไม่สัมพันธ์กับความรู้สึกเช่นการระเบิดเสียงหัวเราะในเวลาเครียดจัดหรือประหม่า (Pseudobulbar affect) ต้องสวมชุดตัวตลกหาเงินเลี้ยงชีพเพื่อดูแลตัวเองกับแม่ไปวันๆ จนฝันที่อยากเป็นสแตนด์อัพคอมิดี้นั้นลอยห่างไกลออกไปทุกที ก่อนจะพบว่าชีวิตถูกสังคมตัดหางปล่อยวัดอย่างเลือดเย็นเมื่อประกันสังคมที่เขาใช้เข้ารักษาสุขภาพจิตนั้นถูกกระทรวงยุบ พร้อมๆ กันกับบรรยากาศการเลือกตั้งที่โหมกระหน่ำขึ้นในเมืองก็อตแธม นำโดย โทนี เวน์ย มหาเศรษฐีผู้เป็นที่รักของชาวเมืองผู้อาสามาแก้ไขความยากจนให้ประชาชน

มันไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร่และไม่ใช่หนังที่เหมาะกับทุกคนแน่ๆ ถึงขั้นที่ออกมาจากโรงแล้วต้องทบทวนตัวเองว่าควรรู้สึกอย่างไรกับมันดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนังใช้ความรุนแรงและความตึงเครียดเล่นกับคนดูแบบสุดขีด ครึ่งเรื่องแรกดำเนินไปอย่างเฉื่อยเนือยและทึบทึม แสงสีหม่นมัวกับตัวละครจนตรอกในรถไฟฟ้าโกโรโกโส คนชนชั้นกลางที่ซ่อนใบหน้าหื่นกระหายหยาบช้าไว้ใต้หน้ากากความเป็นผู้ดีเปิดเปลือยตัวตน ลากความอึดอัดไปจนครึ่งหลังเพื่อระเบิดออกมาเป็นความโกลาหล


เพนนี แม่ของอาเธอร์ผู้อ่อนแอและเปราะบางบูชาโทนี เวน์ยในฐานะ 'คนดี' สูงสุดแบบที่เธอบอกลูกชายว่า "เขาคือคนดี คนดีแบบที่แม่ไม่รู้จะอธิบายให้ลูกฟังได้ยังไง" แต่คนดีในสายตาของเพนนีมันก็ช่างเป็นความดีที่น่าสะอิดสะเอียนในสายตาของอาเธอร์ ทำไมชาวเมืองก็อตแธมต้องรอให้คนรวยที่อยู่นอกเหนือโครงสร้างบิดเบี้ยวทางสังคมลดตัวลงมาด้วยท่าทีเหมือนนักบุญมาโปรดสัตว์เพื่อแก้ปัญหาความยากจน คนแบบโทนีที่ไม่เคยแม้กระทั่งแยแสร่างคนข้างถนนที่นอนกับกองขยะ ไว้อาลัยให้ชนชั้นกลางสวมเสื้อเชิ้ตปกขาวที่ถูกฆ่าตายไปพร้อมๆ กับที่มองผ่านคนตัวเล็กตัวน้อยที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมในสังคมรายวัน ครึ่งหลังของเรื่องจึงเต็มไปด้วยแรงระเบิดที่น่าตระหนกมากๆ ความรุนแรงที่อยู่ในรูปแบบการชกต่อยกองขยะเพื่อระบายอารมณ์เปลี่ยนแปลงหันเหไปสู่การทำลายอย่างอื่น

ท่ามกลางบรรยากาศรายการโทรทัศน์ต้นยุค 80 ที่สแตนด์อัพคอมิดี้เฟื่องฟู พิธีกรรายการปรากฏตัวพร้อมจังหวะตบมุกเฉียบคม มัวร์เรย์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) คือหนึ่งในพิธีกรชื่อดังที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง และเป็นเสมือนชายที่อาเธอร์เทิดทูนบูชามาตั้งแต่ต้น การเผชิญหน้าของทั้งสองจึงเป็นช่วงเวลาน่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะการยืนยันสถานะ 'ทางการเมือง' ของตัวตลกโจ๊กเกอร์ในห้วงเวลาความระส่ำระสายภายนอก
รักการแสดงของฮัวคิน ฟีนิกซ์มากๆ ทั้งการทนทรมานกับโรคประสาท การรับบทดูแลแม่ที่ป่วยไข้ภายใต้การสวมหน้ากากปกติสุขที่สังคมคาดหวังว่าทุกคนต้องเป็น ("ฉันไม่เคยเห็นเขาร้องไห้เลย" เพนนี เฟล็ค) ตัวละครเขียนหนังสือสองมือและสะท้อนภาวะเปราะบางสุดขีดผ่านตัวหนังสือจากมือซ้ายบิดเบี้ยว จุดสำคัญที่เรารู้สึกเป็นแรงระเบิดของตัวละครคือมันหวนกลับไปสู่การเป็นคน 'ไร้ราก' และหลุดพ้นออกจากพันธนาการอันฟอนเฟะไม่ว่าจะเชิงศีลธรรมหรือเชิงสังคมก็ตามที

ทั้งหมดนี้ชวนให้นึกถึงวลีของโจ๊กเกอร์เวอร์ชั่นของคริสโตเฟอร์ โนแลนที่ว่า "Madness is a lot like gravity, all it takes is a little push. -ความบ้าคลั่งมันก็เหมือนแรงโน้มถ่วงว่ะ เราแค่ต้องผลักมันเบาๆ เท่านั้น" โจ๊กเกอร์ - The Dark Knight (2008)

ฝากเพจหนังด้วยนะคะ  https://www.facebook.com/llkhimll/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่