'ศาลปกครอง' ชี้ชะตาประมูลแหลมฉบังวันนี้

“เอ็นซีพี” ลุ้นคำพิพากษาศาลปกครองวันนี้  ชี้ชะตาประมูลแหลมฉบังเฟส 3 เผยตุลาการผู้แถลงคดีระบุคำสั่งตัดสิทธิประมูลมิชอบ ให้เพิกถอนคำสั่ง “เอ็นซีพี” ด้าน กทท.เผยเปิดซอง 4 แล้ว อยู่ขั้นตอนเจรจา “กัลฟ์-ปตท.” รอดูผลศาลก่อนเดินหน้า
การประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กกท.) มูลค่าการร่วมลงทุน 84,000 ล้านบาท กำหนดให้ยื่นซองประมูลตั้งวันที่ 29 มี.ค.2562 และระหว่างการประมูลเกิดข้อพิพาทระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กับกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี 

หลังจากมีการแจ้งตัดสิทธิเป็นผู้ประมูลเพราะลงนามในเอกสารไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเหตุให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพียื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า วานนี้ (26 ก.ย.) ศาลปกครองกลางนัดพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 1986/2562 ระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนของท่าเรือ F คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ผู้ถูกฟ้องคดี

ศาลปกครองกลางได้ออกพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงและประเด็นของคดีให้องค์คณะและคู่กรณีที่มาศาลได้รับทราบ ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงการณ์ด้วยวาจาต่อองค์คณะ 

โดยมีประเด็นที่สำคัญในคำแถลงว่า ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่าคำสั่งที่พิจารณาให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ นั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเห็นว่าควรพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบดังกล่าว โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีคำสั่ง

ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางจะประชุมปรึกษาเพื่อจัดทำคำพิพากษาในคดีนี้ต่อไป โดยกำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้ (27 ก.ย.) เวลา 10.00 น.
สำหรับ กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ประกอบด้วยบริษัทแอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัทนทลิน จำกัด บริษัทพริมา มารีน จำกัด (มหาชน) บริษัทพีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited

ในขณะที่ผู้ยื่นซองประมูลอีก 1 ราย คือ กิจการร่วมค้าจีพีซี ประกอบด้วย บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (กลุ่ม ปตท.) บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่