นำร่อง 500 ร้านขายยา จ่ายยาให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ช่วยลดแออัดในโรงพยาบาล

นำร่อง 500 ร้านขายยา จ่ายยาให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ช่วยลดแออัดในโรงพยาบาล

19 กันยายน 2019

กระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วม สปสช. สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ผู้ประกอบการร้านยา ชี้แจงแนวทางการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัด นำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง ร้านขายยาแผนปัจจุบัน 500 แห่ง ตามนโยบายลดความแออัดโรงพยาบาล

วันที่ 19 ก.ย. 62 นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ให้กับตัวแทนผู้ประกอบการร้านยา สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาล ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความสะดวกบริการประชาชน โดยให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยารับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ได้มาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีสภาวิชาชีพเป็นผู้กำกับคุณภาพบริการร้านยา นำร่อง 500 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มในโรงพยาบาลศูนย์ หรือ โรงพยาบาลทั่วไปที่มีความพร้อม 50 แห่ง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา และลดการครอบครองยาเกินความจำเป็น

“เงื่อนไขการรับบริการขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ป่วยเป็นหลัก ยาที่ผู้ป่วยได้รับจากร้านยาต้องเป็นตัวเดียวกันกับที่โรงพยาบาลจ่ายไว้เดิม เน้นผู้ป่วย 4 โรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่ม ในปี 2566 ตั้งเป้าร้านขายยาแผนปัจจุบัน ร่วมเป็นเครือข่าย 5,000 แห่ง และมีโรงพยาบาลที่จะดำเนินงาน 250 แห่งทั่วประเทศ” นพ.ประพนธ์ กล่าว

ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบการชดเชยและคุณภาพบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชี้แจงถึงวิธีการที่ให้ผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจุบันที่ใกล้บ้านว่า ร้านยาจะต้องจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์ โดยอาจจะมีการกำหนดจากแพทย์มาว่า ให้รับยาที่ร้านยาทุกๆ 2 เดือน พร้อมให้เภสัชกรช่วยวัดความดัน หรือ วัดน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยด้วย หรือหากพบผู้ป่วยมีความเสี่ยงให้ส่งตัวมาโรงพยาบาล พร้อมกับรายงานข้อมูลการเข้ารับยาของผู้ป่วยตามระบบของโรงพยาบาล โดยย้ำว่าเบื้องต้นจะจ่าย 4 กลุ่มโรคก่อน โดยที่ประชาชนจะไม่เสียค่าใช้จ่าย และยาที่ได้รับจะเหมือนกับยาของโรงพยาบาล

สำหรับรูปแบบในการจ่ายยามีหลักๆ 3 วิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลและร้านยาจะตกลงใช้แบบใด คือ

1. โรงพยาบาลเตรียมยาให้ผู้ป่วยแบบรายบุคคล และส่งไปที่ร้านยาที่ผู้ป่วยแสดงความจำนงว่าจะไปรับ

2. โรงพยาบาลจัดเตรียมยาสำรองไปไว้ที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ

3. ร้านขายยาดำเนินการจัดยาของร้านให้ได้เลย โดยโรงพยาบาลจะต้องจ่ายค่ายาให้ร้านยา หากเลือกรูปแบบนี้

ส่วนอัตราการจ่ายค่าบริการของนโยบายนี้ สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณให้กับโรงพยาบาลและร้านยาดังนี้

ร้านขายยา – สปสช.จ่ายให้ 70 บาท ต่อใบสั่งยาผู้ป่วยนอก 1 ใบ (ค่าบริการ เวชภัณฑ์ ค่าแนะนำการใช้ยา)

โรงพยาบาล – สปสช. จ่ายให้ 33,000 บาท ต่อปี ต่อร้านยา 1 แห่ง (ค่าจัดเตรียมยา ค่าขนส่งยา)

https://workpointnews.com/2019/09/19/heath-01/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่