[CR] The Lion King ละครเวทีที่ควรไปดูให้ได้ซักครั้งในชีวิต

ปี1995 ตอนที่โธมัส ชูมัคเกอร์ จากดิสนีย์บอกว่าจะนำแอนิเมชั่นเรื่อง The Lion King มาสร้างเป็นละครเวทีทุกคนพูดตรงกันว่า ‘ยาก’ เพราะละครเวทีนั้นมีข้อจำกัดมากมายเกินกว่าที่จะนำสิงสาราสัตว์แห่งแอฟริกามาวิ่งเล่นเคลื่อนไหวได้ตามจินตนาการเหมือนกับที่สื่อภาพยนตร์ทำได้ แม้แต่ทิม ไรซ์ ผู้ประพันธ์บทเพลงต้นฉบับยังบอกว่า “มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำ The Lion King มาดัดแปลงเป็นละครเวที แต่’จูลี เทย์เมอร์’ กลับทำได้”

‘จูลี เทเมอร์’ ที่ทิม ไรซ์พูดถึงก็คือ ผู้กำกับ The Lion King ฉบับบอร์ดเวย์ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์กำกับละครเวทีมาก่อนด้วยซ้ำ แต่วิสัยทัศน์ของเธอ ที่ปรากฎให้เห็นผ่านงานกำกับหนังทีวีเรื่อง Fool's Fire(1992) และตอน Oedipus Rex ในทีวีซีรีย์เรื่อง Great Performances(1993) โดดเด่นซะจนดิสนีย์เชื่อมั่นว่าเธอจะสามารถสร้าง The Lion King ฉบับบอร์ดเวย์ ได้ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากต้นฉบับภาพยนตร์

อันที่จริง จูลี่ เทเมอร์ ก็คิดเหมือนคนอื่นๆว่า หากนำทุกอย่างในภาพยนตร์ มาก๊อปปี้/เพลส ลงไปในละครเวที คงดูไม่เข้าท่าแน่ๆ เธอจึงจัดการ สร้างสรรค์ The Lion King ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบที่เธอบอกว่า “มีเพียงละครเวทีเท่านั้น ที่จะทำอะไรแบบนี้ได้” และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเราจึงควรไปดูละครเวทีเรื่อง The Lion King ให้ได้ซักครั้ง ทั้งๆที่เรื่องราวการผจญภัยของซิมบ้านั้น ถูกหยิบมาดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทะลุปลุโปร่งไปหมดแล้ว

เมื่อคืนนี้ผมได้ไปชมละครเวทีเรื่อง The Lion King มา และเมื่อการแสดงจบลง ก็พบว่าคำพูดของ จูลี่ เทเมอร์ ไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย แม้เนื้อเรื่องจะเหมือนกันแทบจะ100% แต่The Lion King ฉบับละครเวทีนั้นให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากฉบับภาพยนตร์เป็นอย่างมาก

The Lion King ฉบับละครเวทีไม่ได้เอาคนมาสวมชุดสัตว์แล้วแสดงเป็นตัวละครตัวนั้นตัวนี้ แต่เป็นการนำนักแสดงมาเชิดหุ่นบ้าง ใช้วิธีแต่งองค์ทรงเครื่องบ้าง แล้วออกแบบโชว์โดยผสมผสานความเป็นมนุษย์ของนักแสดงกับความเป็นสัตว์ของตัวละครเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่ง จูลี่ เทเมอร์ เรียกวิธีการนี้ว่า “ดับเบิล อีเว้นท์” (เทียบกับของไทยเราก็คือหุ่นละครเล็กโจหลุยส์ ซึ่งบ้านเราทำมาก่อน The Lion King และผสมผสานคนเชิดกับตัวหุ่นได้อย่างยอดเยี่ยมมีชีวิตชีวาไม่แพ้กัน)

งานโปรดักชั่นและงานออกแบบคือที่สุดของที่สุดแล้วสำหรับความยอดเยี่ยม ทุกอย่างอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ของ จูลี่ เทเมอร์ (เธอเป็นคนร่างภาพต้นแบบตัวละครและคอสตูมทั้งหมด รวมไปถึงหลายๆฉากในละคร) ซึ่งสวยงามซะจนเหมือนกำลังดูภาพวาดที่เคลื่อนไหวได้จริง และเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยซึ่งล้วนแต่มีความหมายซุกซ่อนเอาไว้ทั้งหมด (อย่างเช่นหน้ากากมูฟาซา สะท้อนถึงความเป็นสัตว์ป่า และตั้งใจให้ดูเหมือนมงกุฎของพระราชา, แผงคอบ่งบอกถึงความเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง วงกลมของมันสื่อถึงวัฐจักรของชีวิต และดาบที่นักแสดงถือในมือก็เปรียบเสมือนขาคู่หน้าของสิงโต ยามเยื้องย่างไปมา)

องค์ประกอบทุกส่วนในละครผสมผสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวแอฟริกัน เข้ากับอัตลักษณ์ของสัตว์ชนิดต่างๆ เข้าไปได้อย่างครีเอทีฟสุดๆ ซึ่งบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการออกแบบท่าเต้นของ การ์ธ ฟากาน นั้นสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดงานออกแบบในทุกส่วนของละครเวทีเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เขาบอกว่าได้ออกแบบท่าเต้นโดยผสมผสานระหว่างการเคลื่อนไหวของสัตว์จริงๆ กับวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวแอฟริกันเข้าไว้ด้วยกัน โดยท่าทางการเต้นของสัตว์ต่างๆจะต้องช่วยเล่าเรื่องไปด้วยในตัว ทั้งความดุร้ายของสิงโต หรือการเคลื่อนไหวของต้นไม้ใบหญ้า “ผมต้องการให้การเต้นดูกลมกลืนราวกับว่าเป็นส่วนสำคัญในสังคมของตัวละครในเรื่อง และสะท้อนถึงความเป็นแอฟริกัน ความเคลื่อนไหวที่สื่อถึงความเป็นธรรมชาติ”

จึงไม่แปลกใจที่นับตั้งแต่ฉากเปิดซึ่งสัตว์ทุกตัวมารวมตัวกันที่ผาทรนง จนถึงฉากจบที่ซิมบ้าได้ขึ้นเป็นคิง ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงความมีชีวิตชีวาของทุกตัวละครบนเวทีการแสดง รวมถึงฉากทุกฉากที่สร้างสรรค์และสวยงาม ชวนตะลึงพรึงเพลิด โดยเฉพาะฉากที่ซิมบ้าวัยหนุ่มเจอกับวิญญาณของมูฟาซาบนท้องฟ้านั้น คือความมหัศจรรย์ที่มีเพียงละครเวทีเท่านั้นที่จะมอบความรู้สึกนี้ให้กับผู้ชมได้ (เสียงปรบมือกึกก้องและยาวนานของผู้ชมในฉากนี้คือสิ่งที่ยืนยันได้อย่างดี)

แม้รอบที่ไปดูมาอาจมีนักแสดงนำที่เสียงแกว่งๆไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะเราสัมผัสได้ถึงความสุดยอดและตั้งใจของนักแสดงทุกคน รวมถึงทีมงานเบื้องหลังที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นโฉมหน้าของพวกเขา แต่เราก็สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณที่โชนแสงออกมาอย่างชัดแจ้งในทุกๆฉาก ทุกๆบทเพลง และทุกๆองค์ประกอบตลอดระยะเวลาเกือบ 3ชั่วโมง ที่เราได้ชมละครเวทีเรื่อง The Lion King

CR : FB :The Movement Channel

ชื่อสินค้า:   The Lion King Bangkok 2019
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่