สถานีอวกาศนานาชาติ ห้องปฏิบัติการลอยฟ้า

สถานีอวกาศซัลยูต (Salyut)

เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของโลก คำว่า “ซัลยูต” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Salute แปลว่า "ให้ความเคารพ"  โครงการสถานีอวกาศซัลยูต เป็นสถานีอวกาศแบบ Single Module คือมีเพียงยูนิตเดียว สถานีอวกาศซัลยูตในรุ่นแรกๆมีท่าเชื่อมต่อ (Docking Port) เพียงท่าเดียวสำหรับยานโซยุส (Soyuz) ยานลำเลียงและยานขนส่งแบบเดียวที่สหภาพโซเวียตใช้ในขณะนั้น ใช้สำหรับสับเปลี่ยนลูกเรือจากโลกและใช้เดินทางกลับสู่โลกครั้งละ 2 ถึง 3 คน

โครงการซัลยูตประกอบด้วยโครงการย่อยๆอีก 9 โครงการ ตลอดช่วงเวลา 11 ปีตั้งแต่ ปีพศ. 2514 ถึง 2528 บางโครงการก็ชื่อเรียกว่า DOS ( Orbital Spac Station ) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และบางโครงการก็ใช้ชื่อ OPS ( Orbital Pilots Station) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการทหาร

สถานีอวกาศซัลยูต 1 (DOS-1)
ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 19 เดือนเมษายน พศ.2514 ด้วยจรวดโปรตอน (Proton Rocket) ตัวสถานีอวกาศมีน้ำหนัก 18.5 ตัน ยาว 14.4 เมตร ขนาดกว้าง 4.15 เมตร อยู่บนวงโคจรรอบโลกที่ระดับ 200-210 กิโลเมตรจากพื้นดิน วันที่ 22 เมษายน มีการส่งยาน Soyuz10 พร้อมลูกเรือ 3 คนเพื่อจะเข้าไปปฏิบัติงานในสถานีแต่ไม่สามารถเข้าในสถานีได้ เนื่องจากความผิดผลาดในระบบ Docking หรือส่วนเชื่อมต่อ จนวันที่ 7 มิถุนายน ลูกเรือ 3 คนจากยาน Soyuz11 ก็สามารถเข้าไปทำงานในสถานีได้จนถึงวันที่ 29 มิถุนายน แต่ก็เกิดเรื่องเศร้าเมื่อวาวปรับแรงดันของยานกลับโลกทำให้อากาศรั่ว ลูกเรือยาน Soyuz11 ทั้ง 3 ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตเมื่อกลับมาถึงโลก
หลังโศกนาฎกรรมจากยาน Soyuz11 ก็ไม่มีการส่งลูกเรือขึ้นไปอีกเลย และปล่อยให้สถานีอวกาศตกสู่โลกที่มหาสมุทรแปซิกฟิค เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พศ.2514

สถานีอวกาศซัลยูต 2 (OPS-1)
ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 3 เมษายน พศ.2516 ตัวสถานีมีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงกับ Sulyut 1 แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันก็คือ Sulyut 2 ถูกใช้ในโปรแกรมเกี่ยวกับทางทหารมากกว่า ภายใต้ชื่อโปรแกรม Almaz ซึ่งแปลว่า เพชร โดยมีการติดตั้งกล้องแบบพิเศษเพื่อสำรวจลักษณะภูมิประเทศทางทหาร และ การสอดแนม Sulyut 2 ไม่มีลูกเรือประจำการบังคับและควบคุมจากภาคพื้นดิน และมีความผิดผลาดระหว่างการใช้งานโดยใช้งานโคจรรอบโลกได้เพียง 54 วันเท่านั้น ยุติโครงการเมื่อ 28 พค. 2516

สถานีอวกาศซัลยูต 3 (OPS-2)
เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมทางทหาร ส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พศ.2517 มีการทดสอบทำลายเป้าหมายดาวเทียมในอวกาศโดยลูกเรือจากยาน Soyus14 และมีความพยายามจะเปลี่ยนลูกเรือจากยาน Soyus15 แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ภาระกิจมีลูกเรือเพียงชุดเดียว และยุติโครงการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พศ.2518 รวมโคจรรอบโลกได้ 213 รอบ



สถานีอวกาศซัลยูต 4 (DOS-4)
ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พศ.2517 อยู่บนวงโคจรที่ระดับความสูง 350 กิโลเมตรจากพื้นดิน มีการส่งลูกเรือขึ้นไปสับเปลี่ยนครั้งละ 2 คนด้วยยาน Soyuz 17-18-20 อยู่ในวงโคจร 770 รอบจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พศ.2520 ก็ตกสู่มหาสมทุรแปซิกฟิคก์

สถานีอวกาศซัลยูต 5 (OPS-3)
ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พศ.2519 เป็นโปรแกรมทางการทหารครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้าย มีการส่งลูกเรือไปประจำสถานี 2 ครั้งจาก Soyuz 21 และ 24 โคจรรอบโลกอยู่ 412 รอบ และยุติโครงการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พศ.2520



สถานีอวกาศซัลยูต 6 (DOS-5)
ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 29 กันยายน พศ.2520 ตัวสถานีได้รับการออกแบบใหม่ให้มีท่าเชื่อมต่อ (Docking Port)ได้อีก 1 บริเวณท้ายสถานีสำหรับเป็นท่าเชื่อมต่อของยานขนส่งเสบียง Progress ซึ่งเป็นยานที่ไม่มีคนขับ สำหรับส่งเสบียงและน้ำสำหรับลูกเรือให้สามารถอยู่บนสถานีอวกาศได้นานขึ้น ซึ่งสามารถทำลายสถิติอยู่ได้นานถึง 186 วันเป็นครั้งแรก มีลูกเรือหมุนเวียนมาประจำสถานีจำนวน 33 คน โคจรรอบโลกจำนวน 1764 รอบ จนกระทั่งสถานีได้รับความเสียหายจากการชนของยาน Progress ทำให้ต้องยุติโครงการเมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม พศ. 2525

สถานีอวกาศซัลยูต 7 (DOS-6)
เป็นโครงการสถานีอวกาศซัลยูตสุดท้าย ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 19 เมษายน พศ.2525 ซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์ไจโรบนสถานีอวกาศเป็นครั้งแรก เพื่อสร้างสมดุลให้กับสถานี และเป็นเทคโนโลยี่ที่ใช้กับสถานีอวกาศรุ่นต่อๆมา
ซัลยูต 7 ใช้งานอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พศ.2528 เมื่อสถานีควบคุมบนภาคพื้นดินตัดการติดต่อกับสถานีโดยบังเอิญ ทำให้สถานีอวกาศหายไปและติดต่อไม่ได้เป็นเวลานาน แม้ภายหลังจะสามารถติดตามกลับมาได้และส่งลูกเรือเข้าไปในสถานีได้ แต่ก็พบว่าสถานีเสียหายและใช้งานไม่ได้อีก ประกอบกับสหภาพโซเวียตเองก็มีโครงการจะสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่คือ สถานีอวกาศเมียร์ จึงได้ยุติโครงการนี้ไป
Cr.http://www.darasart.com/spacestation/salyut/main.html

สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab)

สถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา มีขนาดประมาณ 25×17 เมตร น้ำหนักรวมทั้งหมดประมาณ 77 ตัน ใช้เวลาโคจรรอบโลกครั้งล่ะ 93 นาที โคจรเหนือพื้นโลกประมาณ 434 กิโลเมตร ยานอวกาศลำนี้ถูกปรับแต่งให้สามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้ถึง 5 คน

มันโคจรอยู่ในห้วงอวกาศช่วงปี 1973 - 1979 และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายอยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นห้องทำงาน ที่สังเกตการณ์ระบบการทำงานของดวงอาทิตย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยมันถูกส่งขึ้นไปสู่อวกาศผ่านจรวด  Saturn V ในขณะที่มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์สนับสนุนภารกิจ ก่อนจะพังทลายลงอย่างน่าเสียดาย เมื่อเกราะไมโครมีเตอรอยด์หลุดออก ทำให้ห้องสังเกตการณ์ระบบการทำงานของดวงอาทิตย์และส่วนอื่น ๆ เสียหาย รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการป้องกันตัวเองจากการถูกแสงอาทิตย์แผดเผาตามไปด้วย

รวมระยะเวลาที่สถานีอวกาศสกายแล็บโคจรอยู่บนอวกาศนานประมาณ 7 ปี และในวันที่ 11 กรกฏาคม 1979 สถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab) ก็ได้ปลดประจำการและโคจรตกลงบนพื้นโลกบริเวณเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย
Cr.https://men.kapook.com/view61685.html

สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station - ISS) 

400 กิโลเมตรเหนือขึ้นไปจากพื้นดินที่เรายืนอยู่ มีผู้คนอย่างน้อย 3 คนกำลังประจำการอยู่บนห้องปฏิบัติการลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุด และแพงที่สุดเท่าที่เราเคยมีมา นี่คือสถานีอวกาศนานาชาติ ห้องทดลองนอกโลกเพื่อทุกคนบนโลก
สถานีอวกาศนานาชาตินั้นเรียกได้อย่างย่อ ๆ ว่า ISS และเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอวกาศยักษ์ใหญ่อย่าง NASA ของสหรัฐ Roscosmos ของรัสเซีย และ ESA ของยุโรปเป็นหลัก รวมทั้งพาร์ทเนอร์อย่าง JAXA ของญี่ปุ่นและ CSA ของแคนาดา โดย ISS ได้ทำการต้อนรับผู้มาเยือนแล้วทั้งสิ้น 232 คนจาก 18 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2018) โดยประเทศที่มีประชากรของตนเองเคยเดินทางขึ้นไปสู่ ISS นั้นมีเช่นมาเลเซีย เกาหลีใต้ บราซิล และแอฟริกาใต้เป็นต้น


 ISS นั้นจะมีความยาวถึง 100 เมตร และพื้นที่ใช้สอยพอ ๆ กับพื้นที่โดยสารบนเครื่องบินโบอิ้ง 747 ตัวสถานีจึงไม่สามารถถูกส่งขึ้นไปในการปล่อยจรวดครั้งเดียวได้ นั่นจึงทำให้การก่อสร้าง ISS นั้นต้องแยกสร้างแต่ละโมดูลขึ้นมาบนโลก ยัดใส่จรวด ปล่อยขึ้นสู่วงโคจร และนำไปประกอบร่างกันในอวกาศ
ชิ้นส่วนแรกของ ISS ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศนั้นคือโมดูล Zarya ที่เป็นของอเมริกา แต่ดันมีชื่อที่รัสเซียมาก ๆ (แปลว่ารุ่งอรุณในภาษารัสเซีย) แถมยังสร้างและปล่อยโดยรัสเซียอีกด้วย ซึ่งมันได้เดินทางสู่อวกาศในวันที่ 20 พฤศจิกายน 1998 สองอาทิตย์ให้หลังจากการปล่อย กระสวยอวกาศในภารกิจ STS-88 ได้นำโมดูล Unity/Node 1 มาเชื่อมต่อกับ Zarya และภารกิจหลัง ๆ ก็ได้นำพาชิ้นส่วนสำคัญมาประกอบเข้าหากันในอวกาศ ทั้งโครงสร้าง แผงโซล่าร์เซลล์ แขนกล และโมดูลต่าง ๆ การก่อสร้างหลักนั้นสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2011 พร้อมกับการสิ้นสุดของโครงการกระสวยอวกาศไปพร้อม ๆ กัน ในทุกวันนี้ก็ยังมีการต่อเติมและซ่อมแซมตัวสถานีอยู่เป็นระยะ


เรื่องน่ารู้ของ ISS

- ISS เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 7.5 กิโลเมตรต่อวินาที และลูกเรือจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตก 16 ครั้งต่อวัน
- ใช้งบไปทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโครงการที่แพงที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างมา
- ฉี่ของนักบินอวกาศจะถูกนำกลับมากรองและกลับมาใช้ในสถานีอวกาศใหม่อีกครั้ง
- คอมพิวเตอร์บนนั้นเคยโดนไวรัสมาแล้ว แต่มันเป็นไวรัสที่คอยขโมยรหัสเกม จึงไม่ใช่ปัญหาอะไรมากมาย
- มีลูกเรืออาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2000 แล้ว
- ที่ไม่มีจีนร่วมด้วยเพราะสหรัฐแบนจีนอยู่ จนจีนไปทำสถานีอวกาศของตัวเอง
- สว่างเป็นอันดับที่ 3 บนท้องฟ้ายามค่ำคืน รองจากดวงจันทร์และดาวศุกร์ 

อนาคตของสถานีอวกาศนานาชาตินั้นก็จะไม่ต่างจากสถานีอวกาศอื่น ๆ นั่นก็คือการจบภารกิจด้วยการตกกลับเข้าสู่โลก โดยคาดการณ์กันว่า ISS จะอยู่ได้ถึงปี 2024 ก่อนจะจบภารกิจ
Cr.https://spaceth.co/iss/

สถานีอวกาศเทียนกง-1

เป็นสถานีอวกาศของจีน เป็นสถานีขนาดเล็ก หนัก 8,500 กิโลกรัม ยาว 10.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.4 เมตร เทียนกง-1 เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน ใช้เป็นสถานีนำร่องในการฝึกฝนและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศต่าง ๆ เพื่อปูทางไปสู่การสร้างสถานีที่ใหญ่กว่าต่อไป  เทียนกง เขียนเป็นอักษรจีนว่า 天宫 แปลตรงตัวว่า วิมานสวรรค์  ในภาวะปกติ เทียนกงจะอยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 390 กิโลเมตร รองรับลูกเรือคราวละ2- 3 คน 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 ทางการจีนได้ประกาศว่า สถานีภาคพื้นดินติดต่อกับสถานีเทียนกง-1 ไม่ได้ หมายความว่าเทียนกง-1 ลอยอยู่ในวงโคจรอย่างไร้การควบคุม  และย่อมหมายความว่าจะตกสู่โลกโดยที่กำหนดเวลาและตำแหน่งตกไม่ได้ และได้ตกลงสู่โลกแล้วเมื่อเวลา 07:16 น. วันที่ 2 เมษายน 2561 ตามเวลาประเทศไทยที่ตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้ฝั่งชิลี **
Cr.http://thaiastro.nectec.or.th/library/article/332/

สถานีอวกาศเมียร์ ( MIR Space Station )

นับจากวันที่ชิ้นส่วนแรกของเมียร์ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี คศ.1986 จนถึงปัจจุบัน เมียร์มีอายุเกือบ 15 ปีแล้ว โคจรรอบโลกมาแล้ว 83,500 รอบ ประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมียร์ ที่ให้ประโยชน์แก่วงการวิทยาศาสตร์ อย่างมากมาย มีมนุษย์ได้ขึ้นไปอยู่แล้ว 104 คน จากอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นของรัสเซียเอง 42 คน มีการทำสถิติให้มนุษย์ อยู่ในอวกาศได้นานที่สุด 747 วัน โดยนักบินอวกาศ Sergei Avdeyev ระหว่างปีคศ.1997-1999 และการเดินในอวกาศของมนุษย์อวกาศ 78 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 352 ชั่วโมง โดยสถิติเป็นของ Anatoly Solovyov เดินในอวกาศ 16 ครั้ง รวมเวลา 77 ชั่วโมง

     ในปี คศ. 1999 ทางการรัสเซียประกาศจะทำลายสถานีอวกาศเมียร์ทิ้ง โดยให้เหตุผลว่า แบกรับภาระ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสถานีไม่ไหว อีกทั้งต้องร่วมโครงการสถานีอวกาศนานาชาติด้วย ทำให้ขาดเงินทุน ปรับปรุง และอายุของสถานีก็นานมากทรุดโทรม และเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงบนสถานีอวกาศในปี 1997 ติดต่อกัน

โดยมีการวางเป้าหมายจะให้สถานีอวกาศตกบริเวณ มหาสมุทรแปซิฟิค ทางตะวันออกของทวีปออสเตเลีย ราววันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2001 แต่ก็มีการเลื่อนไปเป็นวันที่ 20 มีนาคม 2001 มีนาคม คาดว่า จะมีชิ้นส่วนเมียร์แตกออกราว 1,500 ชิ้น บางส่วนจะเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ คงมีบ้างที่เหลือน้ำหนัก มากสุด 40 ตันจะถึงผิวโลก ซึ่งในงานนี้รัสเซียได้ทำวงเงินประกันไว้ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าหากชิ้นส่วนของเมียร์ ทำความเสียหายกับประชาชน 

(มีรายงานการตกของสถานีอวกาศเมียร์ เมื่อวันที่ 23 มีค.2544)
Cr.http://www.rmutphysics.com/charud/naturemystery/sci3/mir/mir4.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่