ได้งานราชการตอนอายุ 44 ไม่มีเงินเก็บ มีภาระหนี้สินคำนวณแล้วต้องติดลบ แต่อนาคตมั่นคงควรทำมั้ย

เราได้งานราชการตอนอายุ 44 เคยสอบทิ้งไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (เรียกก่อนล้างบัญชีพอดี)
ตอนนี้ทำเอกชนเงินเดือนประมาณ 50k แต่ก็งานหนักและเหนื่อยพอสมควร ถ้าทำราชการ
เงินเดือนเริ่มที่ 15000 หักกบข.และค่าสวัสดิการ เหลือ 14000 นิดๆ แต่เรามีภาระผ่อนบ้าน
และหนี้เงินกู้เรียน ป.โท ประมาณ 16000 ต่อเดือน คำนวณค่าใช้จ่ายหนี้สิน ค่ากิน
ค่าเดินทางจะติดลบประมาณ 8000/เดือน ไปประมาณ 6 เดือน เพราะผ่าน 6 เดือนได้ค่า
ตอบแทนเพิ่ม 6000 แต่ก็ยังตอดลบอีก~2000 ไปอีกเกือบ 2 ปีกว่าเงินเดือนจะถูกปรับ
ให้พอกับค่าใช้จ่าย ถ้าเทียบกับความมั่นคง และมีสิทธิได้รับบำนาญในอนาคตเราควร
ทำราชการมั้ย เพราะเราไม่รู้เกี่ยวกับการเติบโต การปรับเงิน หรือวัฒนธรรมของราชการ

ปล. สวัสดิการเราได้ใช้คนเดียว เพราะไม่มีครอบครัว พ่อแม่ใช้สิทธิทหารของน้อง
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 63
ขอตอบเท่าที่รู้ รวมทั้งเดาในบางเรื่อง ยาวหน่อยนะ

1. เอกชน ทำงานจนถึงอายุ 44 แล้วยังไม่มีเงินเก็บ แถมยังมีหนี้ค้างอยู่อีก

แม้เงินจะมากพอสมควร แต่มีอะไรที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า จขกท. จะสามารถเก็บเงินเพื่อใช้ชีวิตต่อหลังเกษียณได้อย่างเพียงพอ หรือไม่ ถ้ามั่นใจว่าเก็บเงินทัน มีเงินพอจ่ายประกันสุขภาพและค่าใช้จ่ายต่างๆ การทำงานต่อในเอกชนก็เป็นทางเลือกที่ดี

2. ถ้าทำราชการ ในขณะอายุ 44 ปี

ประเด็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และความก้าวหน้าในอาชีพ

เงินเดือน ราชการจะปรับเงินเดือนเพิ่มให้ทุก 6 เดือน รอบเดือนเมษายน และเดือนตุลาคมของทุกปี อัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจะดูจากผลงาน และโควต้าของกลุ่มที่ได้เงินมา เช่น ถ้ามีคนเก่งกว่า (บางที่ก็คือคนที่หัวหน้าชอบ) เขาก็ได้เปอร์เซนต์เพิ่มเยอะ อาจได้ถึง 4-5% แล้วคนที่ไม่ได้เยอะ ก็จะได้ประมาณ 2กว่าๆ

หลักทั่วไปถ้าเข้าระดับปฏิบัติการ หากมี ป.โท สามารถปรับเป็นระดับชำนาญการได้ภายใน 4 ปี (ได้ยินว่าบางองค์กร ปรับเป็นชำนาญการได้ภายใน 3 ปีด้วย)

เมื่อเป็นชำนาญการแล้ว บางหน่วยงานจะขึ้นชำนาญการพิเศษได้ต้องมีตำแหน่งว่างก่อน แต่บางหน่วยงานสามารถยื่นผลงานเพื่อขึ้นชำนาญการพิเศษได้โดยไม่ต้องรอตำแหน่งว่าง ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี

เมื่อเป็นชำนาญการพิเศษ (เดาว่า จขกท.อย่างน้อยน่าจะถึงระดับนี้ได้ก่อนเกษียณ) น่าจะได้เงินประจำตำแหน่งอีก 3 พันกว่า

จากการที่บอกว่าพ้นหกเดือนแล้วจะได้เงินอีกหกพัน เดาว่าน่าจะเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง และเดาต่อว่ายิ่งอยู่นานกว่านั้นไปอีกระยะหนึ่งและตำแหน่งสูงขึ้น จะได้เรื่อยๆ รวมเป็นเงินประจำตำแหน่งในหลักหมื่น พอรวมกับเงินเดือน ก็อาจจะได้ซักสามถึงสี่หมื่นในเวลาไม่เกินสิบปี

แต่ทั้งนี้ การคำนวณเงินบำนาญ ด้วยเหตุสูงอายุคือทำงานเกิน 10 ปี และขณะออกจากราชการอายุเกิน 50 ปี จะใช้ฐานจากเงินเดือนเท่านั้น ไม่รวมเงินประจำตำแหน่ง เช่นสมมติตอนเกษียณ มีอายุราชการ 16 ปี เงินเดือนเฉลี่ยห้าปีสุดท้ายอยู่ที่สามหมื่น ใช้สูตร 30,000 คูณ 16 หาร 50 จะได้บำนาญเดือนละ 9,600 บาท

แต่เนื่องจากเงินบำนาญที่ได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ราชการจึงจ่ายเงิน ชคบ. เพิ่มเติมให้จนถึงเดือนละ 10,000 บาท (อนาคตอาจปรับยอดเงินให้สูงขึ้นอีก)

(อ้างอิง : พระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2562 แล้ว โดยปรับเพิ่มเงินให้กับผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดบำนาญรวมกันทุกประเภทและรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) แล้ว หากได้รับต่ำกว่าเดือนละ 10,000 บาท ปรับเป็นให้ได้รับเดือนละ 10,000 บาท ยกตัวอย่าง เดิมได้รับบำนาญและ ช.ค.บ. รวมกันในอัตราเดือนละ 9,360 บาท จะได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มอีกเดือนละ 640 บาท )

ดังนั้น สรุปประเด็นเรื่องเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งได้ว่า
แม้เงินเดือนน้อย แต่ได้รวมกับเงินประจำตำแหน่งพอสมควร ถึงจะน้อยกว่าเอกชนบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับลำบาก และมีสิทธิได้บำนาญแน่นอนถ้าอยู่ไปถึงเกษียณ

ส่วนเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพ จากที่เดาองค์กรของ จขกท. เป็นไปได้ว่า อาจสามารถสอบเปลี่ยนสายงานได้ด้วย (หากจบในสาขาที่กำหนด) ถ้าสามารถทำได้ จะได้เงินประจำตำแหน่งเพิ่มขึ้นไปอีก รวมทั้งเมื่อเป็นชำนาญการพิเศษและเข้าเงื่อนไข ยังมีสิทธิสอบระดับ...ได้ด้วย (ละไว้ในฐานะที่คนทำงานด้านนี้จะเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ แสดงว่าเราเดาผิด)

ประเด็นสวัสดิการ
สิทธิลา
6 เดือนแรกไม่มีสิทธิลาพักผ่อน
หลังจากนั้น ลาพักผ่อนได้ปีละ 10 วัน และถ้าใช้สิทธิไม่หมดสามารถทบไปปีถัดไปได้ (บางหน่วยงาน ยิ่งอยู่นาน ยิ่งทบได้หลายวัน)

สิทธิค่ารักษาพยาบาล
ข้าราชการเกษียณมีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาล แต่ถ้าเลือกรับบำเหน็จจะไม่ได้รับสิทธินี้

สิทธิในสหกรณ์ขององค์กร
ถ้าสมัครสมาชิก จะได้ปันผลทุกปี ฝากเงินจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่สูงกว่าธนาคาร หากกู้ไม่แน่ใจ ไม่มีประสบการณ์

สรุปทั้งหมด

ในแง่ประโยชน์ตอบแทนทั้งเงินและที่ไม่ใช่เงินของข้าราชการ ไม่ได้แย่ แม้ไม่มาก แต่มั่นใจได้ว่าไม่อดตาย ไม่ต้องกังวลในอนาคตว่าเงินที่เก็บไว้จะมีพอหรือไม่

ประเด็นการทำงาน
งานไม่ใช่เบา เครียด เหนื่อย ไม่ได้ต่างกับเอกชนเท่าไหร่นัก มีระเบียบเยอะแยะวุ่นวาย หากมีปัญหา จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน อาจไม่สามารถจบง่ายมากนัก แต่ความมั่นคงค่อนข้างสูงมาก มีการทำงานล่วงเวลาโดยไม่มีโอทีบ้าง ต้องเป็นกรรมการบ้าง มีเรื่องงานพิธี งานกิจกรรมต่างๆ นอกเวลาบ้าง แล้วแต่วัฒนธรรมองค์กร

ประเด็นรับราชการช่วงแรกเงินยังไม่พอ จขกท ต้องหาทางรับมือไว้ด้วย

ขอให้ จขกท มองในมุมต่างๆ ให้รอบคอบ และขอให้โชคดีกับทุกทางที่เลือกนะ

จากใจคนที่เคยทำเอกชนสามปี แล้วมาทำราชการสิบกว่าปี และตอนแรกรับราชการได้เงินเดือนน้อยกว่าตอนทำเอกชนครึ่งนึง
ความคิดเห็นที่ 5
ถ้าเป็นดิฉัน คงทำเอกชนต่อไป เอาส่วนต่างของเงินเดือนระหว่าง 15000 VS 50000 ไปออม/ลงทุนให้งอกเงยในรูปแบบต่างๆ ก็สามารถมีบำนาญใช้ได้เหมือนกันนะคะ
ความคิดเห็นที่ 2
50000 vs 15000
คิดสิ  สติ
ความคิดเห็นที่ 67
บางคน ดู แค่ 50000  กะ 15000

ถามว่า 50000  แต่มั่นคงไหม

อายุก็เยอะแล้ว ตกงานตอนนี้ จะหางานยาก

ดูบริษัท คุณนะคะ  ว่า สามารถ อยู่ ไปได้อีก 20 -30 ปี ไหม

แล้วธุรกิจ เขามี กำไร หรือ ขาดทุน

บางคนเป็นลูกจ้าง บริษัท ทำงาน รับเงินเดือน เฮฮาไปวันๆ

ไม่ได้คิด วิเคราะห์ บริษัท ที่ตัวเองทำอยู่เลย ว่า สถานะ เป็นอย่างไร

อย่าติด บ่วงชีวิต   แค่ คำว่า  เงินเดือน สูงกว่า

เพราะถ้า บริษัทล่ม  50000  ก้อ  คือ 0
ความคิดเห็นที่ 1
น่าคิด....
อนาคตหลังเกษียณจะสบายจริงหรือป่าวก็ไม่รู้
อายุราชการน้อย เงินหลังเกษียณจะพอกินหรือป่าว ยังไม่ต้องคิด
เอาปัจจุบันก่อนดีกว่า ภาระค่าใช้จ่ายตรงข้างหน้า เงินเดือนที่ใหม่จะ Cover อย่างไร
ถ้าที่เก่ายังมีแนวโน้มไม่ทรุด และไม่มีท่าที เอาคนออก หรือมีแนวโน้มเติบโตในสายงาน ทำต่อดีกว่า
รายได้ยัง ครอบคลุมรายจ่ายอยู่ เป็นหนี้ มันเครียดนะ จะกระทบกับสภาพจิตใจ และการทำงาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่