มาดูการบ้านปิดเทอมฤดูร้อนของเด็กป.1 ที่ญี่ปุ่นกันค่ะ

ปีนี้ลูกสาวคนโตขึ้นเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พอปลายเดือนก.ค. ก็เข้าช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ที่นี่ปิดเทอมฤดูร้อนประมาณ 5 สัปดาห์ค่ะ เพิ่งเปิดเทอมไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ช่วงปิดเทอมปกติจะพาลูกๆ กลับไทย ปีนี้ก็กลับ ก่อนกลับก็ต้องจัดการการบ้านของลูกก่อนเพราะเยอะมาก ก่อนปิดเทอมจะมีให้ผู้ปกครองไปพบครูประจำชั้นเพื่อพูดคุยถึงเด็กในช่วงเวลาหนึ่งเทอมที่ผ่านมา (นัดเวลาคุยตัวต่อตัวค่ะ) ก่อนจากกันครูก็จะยื่นการบ้านช่วงปิดเทอมฤดูร้อนมาให้หนึ่งซองเอกสารสีน้ำตาล

การบ้านมีทั้งหมด 11 ชิ้น



ลิสต์ตามเอกสารข้างบนเลย

ข้อ 1 และ 2 คือแบบฝึกหัดเลขและภาษาญี่ปุ่น (การเรียนการสอนของป.1 ที่นี่วิชาการคือเลขกับภาษาญี่ปุ่นค่ะ นอกนั้นจะเป็นดนตรี ศิลปะ ประดิษฐ์ ชีวิตประจำวัน กีฬา เป็นต้น)



ทำแล้วก็ให้ผู้ปกครองตรวจและให้คะแนนเองเลย จะมีคู่มือเฉลยมาให้ อันนี้รีบทำให้เสร็จก่อนกลับไทย เล่มไม่หนามาก มีประมาณเล่มละ 20-25 หน้า


ข้อ 3 คือบันทึกประจำวันของแต่ละวัน บันทึกแบบสั้นๆ ว่าอากาศในวันนี้เป็นอย่างไร ทำอะไรบ้าง (รูปตารางทางด้านขวามือ)




ข้อ 4 คือวาดภาพประกอบข้อความ มีสองชิ้น ชิ้นหนึ่งอยู่ในบันทึกประจำวันข้อ 3 (รูปข้างบนด้านซ้าย) สามารถเอาตั๋วต่างๆ ที่ไปมาติดได้ ลูกสาวเอาตั๋วเข้า space museum ที่ฮ่องกงกับตัวขึ้น cable car ที่นองปิงมาติดและวาดภาพประกอบ แต่ข้อความดันเขียนเกี่ยวกับอาหาร เพราะลูกสาวประทับใจกับผักคะน้าน้ำมันหอยที่ฮ่องกงมาก

ส่วนอีกภาพลูกสาววาดตอนนั่งเครื่องกลับไทยจากฮ่องกงหลังไปติดที่สนามบินมาหนึ่งคืนค่ะ




ข้อ 5 บันทึกต้นมอนิ่งกลอรี่ การปลูกต้นมอนิ่งกลอรี่ (หรืออะซะกะโอ) เป็นต้นไม้ที่เด็กประถมฯ ที่ญี่ปุ่นต้องปลูกทุกคน และปลูกมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี เพราะพ่อของลูกก็ทำเหมือนกัน ปิดเทอมต้องทำการบันทึกเรื่องเมล็ดต้นมอนิ่งกลอรี่โดยวาดภาพและบรรยาย 2 ภาพ รวมทั้งเก็บเมล็ดต้นมอนิ่งกลอรี่ด้วย เพื่อส่งต่อให้รุ่นน้องในปีต่อไปค่ะ



ด้านซ้ายคือฝักที่แก่แล้ว สีดำๆ ในกล่องไม้ตรงกลางคือเมล็ดที่เก็บเกี่ยวได้ ภาพด้านขวาคือฝักที่ยังอ่อนอยู่



ต้นมอนิ่งกลอรี่หรืออะซะกะโอค่ะ


ข้อ 6 บันทึกชื่อหนังสือที่อ่านตลอดปิดเทอมฤดูร้อน ลูกสาวชอบอ่านหนังสือมาก รวมๆ แล้วอ่านไปได้ 60 เล่มค่ะ (หนังสือสำหรับเด็กนะคะ) ดีที่มีห้องสมุดอยู่ไม่ไกลบ้านมากนัก ข้อนี้ไม่มีกำหนดนะคะว่าต้องอ่านให้ได้กี่เล่ม

ข้อ 7 อ่านหนังสือและท่องการ์ดบวกลบเลข ต้องอ่าน+ท่องทุกวันตามตารางยกเว้นวันอาทิตย์



ตารางอ่านหนังสือ+ท่องการ์ดบวกลบมีจับเวลาตอนท่องด้วย


ข้อ 8 และข้อ 9 เป็นการบ้านที่เด็กสามารถเลือกทำได้เองตามหัวข้อต่างๆ ข้อ 8 จะเป็นการวิจัยอิสระ (เขียนรายงานลง B4 ตัวอย่างเช่น ทำสบู่ ทำเทียน ฯลฯ) หรือเลือกเขียนเรื่องย่อหนังสือหนึ่งเล่มและเขียนรายงานความรู้สึกหลังอ่าน (ต้องเขียนอย่างน้อย 2 แผ่น แผ่นละ 400 คำ รวมเป็น 800 คำ ขาดเกินได้นิดหน่อย) สามารถเลือกทำทั้งหมดหรืออย่างน้อย 1 อย่างก็ได้ ลูกสาวเลือกทำเขียนรายงานเรื่องย่อหนังสือค่ะ




ส่วนข้อ 9 เป็นพวกทำโปสเตอร์ ประดิษฐ์ของ เพื่อนำไปคัดเลือกแล้วส่งไปประกวดตามงานต่างๆ อีกที มี 9 หัวข้อ ต้องทำอย่างน้อย 1 หัวข้อ ลูกสาวทำ 2 อย่างคือโปสเตอร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม



แม่เล่าเรื่องขยะในทะเลให้ฟังบ่อย ตัวเธอก็มีตุ๊กตาเต่าอยู่หนึ่งตัว เลยเอามาเป็นต้นแบบเขียนโปสเตอร์เลย

อีกอันที่เลือกทำคือประดิษฐ์กระปุกออมสิน เป็นอีเว้นท์ของทางไปรษณีย์ มีเขียนอธิบายคอนเซปต์และความรู้สึกตอนทำด้วย ลูกสาวตั้งชื่อว่ากระปุกออมสินที่สามารถเปิดดูว่าเก็บเงินได้เท่าไหร่แล้วแบบง่ายๆ



ใช้อุปกรณ์ที่มีที่บ้านทั้งหมด กล่องขนม มาร์กกิ้งเทป กระดาษสำหรับพับกระดาษ ฯลฯ แม่ช่วยแค่เจาะรู นอกนั้นเธอทำเองหมด แม่ช่วยออกไอเดียก็ไม่ได้ เพราะเธอไม่ยอมจะทำเอง


ข้อ 10 ประกวดการทำอาหารของแม่(พ่อ)ลูก อันนี้เหมือนการบ้านพ่อแม่มากกว่า เพราะแม้ลูกจะช่วยทำอาหาร แต่คนเขียนก็คือพ่อแม่ (แม่ร่างวัตุดิบวิธีทำ แล้วให้พ่อเขียนค่ะ)



ทำอาหารไทยผสมญี่ปุ่นแบบที่ลูกชอบ (เธอเป็นคนคิดเมนูเอง) มีปีกไก่ย่างแบบไทย น้ำแกงแตงกวายัดไส้หมูสับวุ้นเส้น ฟักทองต้มโชยุ สลัดแตงกวาแอปเปิ้ลใส่แฮม ลูกสาวช่วยทำตลอดรายการ


ข้อ 11 บันทึกหนึ่งวันที่เป็น non-media กำหนดช่วงเวลาหนึ่งวันที่ห้ามดูทีวี ฟังเพลง เล่นเกม หรือสมาร์ทโฟน บันทึกความรู้สึกทั้งลูกและผู้ปกครอง โดยให้บันทึกด้วยว่าเมื่อไม่ได้เล่นสื่ออิเลคโทรนิกแล้วใช้เวลาเหล่านั้นทำอะไรบ้าง แต่ปกติแล้วที่บ้านก็ไม่ได้ให้ลูกเล่นเกมหรือสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว เพราะตัวเองเป็นคนไม่เล่นเกม youtube ก็ไม่ค่อยได้ดู จะชอบอ่านหนังสือ(นิยาย)มากกว่าถ้ามีเวลาว่าง ส่วนเด็กๆ ดูทีวีโดยกำหนดเวลาค่ะ โดยมากจะดู E-tere ช่อง NHK เป็นรายการเด็กกับพวกความรู้รอบตัว เลยไม่ค่อยอะไรกับการบ้านข้อนี้นัก

อ้อ ลืมเล่า ช่วงปิดเทอมจะมีการออกกำลังกายตามวิทยุด้วยค่ะ เมื่อก่อนตอนสามียังเด็กต้องออกทุกวัน แต่สมัยนี้แบ่งตามกลุ่มเด็ก (ที่นี่จะมีสมาคมเด็กที่รวบรวมเด็กประถมในละแวกเดียวกัน <- เอาแค่นี้ก่อน ถ้าเล่าละเอียดจะยาวมาก) แล้วให้ออกกำลังกายแค่ 6 วัน ตอน 6:30 น. ออกแค่ 5 นาทีค่ะ แต่มันเช้ามาก ลูกที่เป็นคุณนายตื่นสายตื่นลำบากมาก อันนี้ไม่บังคับนะคะ แต่ส่วนใหญ่ถ้าใครไม่ติดธุระอะไรก็ไปค่ะ เด็กเล็กๆ ไปกับผู้ปกครอง ถ้าชั้นโตหน่อยก็ไปคนเดียวและไปเจอกับเพื่อนๆ กันที่นั่น สถานที่ออกกำลังกายของกลุ่มเราคือศาลเจ้าริมทะเลใกล้บ้านค่ะ พอวันสุดท้ายก็ช่วยกันถอนหญ้าให้ศาลเจ้าหนึ่งชั่วโมงก่อนแยกย้าย มีน้ำกับขนมปังแจกคนละชิ้นค่ะ

ก็จบแล้วค่ะกับการบ้านปิดเทอมฤดูร้อนของเด็กป.1 ที่ญี่ปุ่น เกือบทั้งหมดคือการบ้านที่เด็กต้องทำร่วมกับผู้ปกครองค่ะ และบางข้อต้องทำต่อเนื่องทุกวันด้วย ปีนี้เป็นปีแรกเลยยังงงๆ กันอยู่ทั้งพ่อทั้งแม่ ยิ่งเราที่ไม่เคยเจอแบบนี้เลยยิ่งงง แต่โชคดีที่ลูกสาวชอบเรียนชอบเขียนชอบทำการบ้านเลยไม่ต้องบังคับเลย นี่คิดถึงลูกชาย (ตอนนี้อยู่ อ.2) ก็เตรียมใจไว้สู้รบกับลูกชายได้เลย เพราะขานี้ชอบเล่นมากกว่าเรียน (อนุบาลที่ญี่ปุ่นไม่มีเรียนค่ะ เล่น+กิจกรรมอย่างเดียว เริ่มเรียนจริงจังคือขึ้นประถมฯ ไว้ว่างๆ จะเขียนเล่าเรื่องโรงเรียนอนุบาลที่ญี่ปุ่นให้อ่านค่ะ)

ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบนะคะ ไม่ได้เขียนกระทู้ยาวๆ มานานล่ะ ^^
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่