HarmonyOS: ไม่ใช่แค่คู่แข่งแอนดรอยด์ แต่เป็นความฝันถึงโลกที่อุปกรณ์ทุกชิ้นทำงานร่วมกันได้สมบูรณ์

หัวเว่ยประเทศไทยจัดแถลงข่าวอธิบายถึงแนวคิดการสร้างระบบปฎิบัติการ HarmonyOS หรือหงเมิง (แปลว่าจุดเริ่มต้นของโลก) โดยชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของ HarmonyOS จะไม่ใช่เพียงระบบปฎิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือแต่เป็นการออกแบบชุดซอฟต์แวร์เพื่อให้อุปกรณ์ทั้งบ้านทำงานร่วมกับได้เหมือนเป็นอุปกรณ์เดียวกัน

    

James Lu ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดกลุ่ม EMUI ระบุว่าแนวคิดของ HarmonyOS นั้นเริ่มมากจากวิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะนำทุกคนให้เข้าบริการดิจิตอลอย่างฉลาด และ HarmonyOS เป็นส่วนประกอบที่จะพาให้ผู้ใช้เข้าถึงบริการที่ทำงานร่วมกันได้ เขาเล่าถึงความฝันในอนาคตของหัวเว่ย เมื่อผู้ใช้ต้องการโทรศัพท์แบบวิดีโอจากในบ้าน แทนที่จะใช้โทรศัพท์ที่มีทั้งหน้าจอ, ไมโครโฟน, และกล้องในตัวเอง แต่เมื่ออยู่ในบ้านผู้ใช้จะสามารถนำภาพขึ้นจอโทรทัศน์ ใช้กล้องวงจรปิดเป็นกล้อง และใช้ smart speaker ในบ้านเป็นลำโพงและไมโครโฟน แล้วทำงานร่วมกันเหมือนเป็นอุปกรณ์เดียวกัน

ตอนนี้ HarmonyOS เปิดรายละเอียดมาเฉพาะตัวเคอร์เนล ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบ microkernel ที่แต่ละส่วนของเคอร์เนลทำงานแยกจากกัน และตัวเคอร์เนลเองก็สามารถคอนฟิกแยกส่วนได้ ทำให้สามารถย่อระบบปฎิบัติการไปได้ถึงระดับกิโลไบต์ทำหรับอุปกรณ์ IoT ขนาดเล็กมาก เช่น ล็อกประตูเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขึ้นมาจนถึงอุปกรณ์พลังประมวลผลสูง อย่างสมาร์ตโฟน แต่เพื่อให้ความฝันของหัวเว่ยที่จะให้อุปกรณ์ทั้งหมดทำงานร่วมกันได้จริง บริษัทก็รู้ว่าต้องเตรียมวางสถาปัตยกรรมกระจายตัว (distributed architecture) เอาไว้ โดยมองเป็น 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
Distributed Virtual Bus ข้อมูลจะเชื่อมต่อกับผ่านบัสกลาง เพื่อให้สื่อสารถึงกันได้ด้วยความเร็วสูง
Device Virtualization การทำอุปกรณ์ทั้งหมดให้เป็นอุปกรณ์เสมือน สามารถเรียกใช้งานอุปกรณ์ข้ามเครื่องกันได้
Distributed Data Management การอ่านเขียนข้อมูลข้ามเครื่องกันต้องมีระบบซิงก์ข้อมูลระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ
Distributed Task Scheduling ระบบจัดความสำคัญของงานต่างๆ ให้สามารถตอบสนองผู้ใช้ได้รวดเร็วเหมือนอยู่บนเครื่องเดียวกัน
สำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามเครื่องนั้น หัวเว่ยเสนอ โปรโตคอลเน็ตเวิร์คใหม่ในชื่อ Simplified protocol รวบเอา TCP/IP ไปจนถึงระดับการเข้ารหัสข้อมูลมาเป็นชั้นเดียวกัน

ฟีเจอร์ทั้งหมดของ HarmonyOS นั้นสามารถคอนฟิกได้ทุกระดับ โดยไล่มาจนถึงเฟรมเวิร์คระดับบน โดยสามารถคอนฟิกได้จนเหลือระดับ "กิโลไบต์" เท่านั้น

ฝันที่ยิ่งใหญ่แต่ยังไปไม่ถึง

แม้หัวเว่ยจะเสนอสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ แต่ถ้าใครคิดว่าจะได้เห็นซอร์สโค้ดพร้อมสำหรับพัฒนาซอฟต์แวร์และอุปกรณ์สำหรับ HarmonyOS เร็วๆ นี้อาจจะต้องอดทนรอนานกว่าที่คิด เพราะความฝันทั้งหมดของหัวเว่ยนั้นยังต้องรอกระบวนการพัฒนา

แม้หัวเว่ยจะระบุว่าพัฒนา Harmony มานานแล้ว แต่ที่จริงการพัฒนาก็โฟกัสอยู่ที่ตัวเคอร์เนลเป็นหลัก (Harmony kernel เป็นโครงการแยกส่วนจาก HarmonyOS) และเคอร์เนลที่ได้ก็เป็นเคอร์เนลสำหรับระบบปฎิบัติการขนาดเล็กที่ใช้งานใน Trusted Execution Environment (TEE) เท่านั้น


ตัว HarmonyOS เองทุกวันนี้ยังคงต้องอาศัยเคอร์เนลลินุกซ์และ LiteOS ไปพร้อมกัน โดยหัวเว่ยไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์ใดใช้เคอร์เนลใดบ้าง

ในงานแถลงข่าว คุณ Lu ได้แชร์แผนการพัฒนา HarmonyOS แสดงให้เห็นว่าส่วนประกอบสำคัญๆ เช่น ตัว IDE สำหรับการพัฒนา และตัวเคอร์เนลจะสมบูรณ์ในปี 2020 ส่วนระบบจัดการข้อมูล และการเชื่อมต่อระหว่างโปรเซสประสิทธิภาพสูงนั้นจะต้องรอถึงปี 2021 เลยทีเดียว

ยังเน้นอุปกรณ์ของหัวเว่ยเองก่อน

ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์นั้นประสบความสำเร็จมาได้ ไม่ใช่เพียงการโอเพนซอร์สให้นักพัฒนาภายนอกนำไปใช้งานได้เพียงอย่างเดียว แต่กูเกิลยังสามารถดึงผู้ผลิตทั้งหมดให้มาพัฒนาแอนดรอยด์ภายใต้ข้อกำหนดเดียวกัน ผู้ผลิตต้องส่งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้กูเกิลทดสอบเพื่อจะใช้ชื่อแบรนด์แอนดรอยด์ และเข้าถึง Google Play Services

ในการแถลงข่าววันนี้ คุณ James Lu ระบุว่า HarmonyOS ยังเน้นสำหรับอุปกรณ์ของหัวเว่ยเอง โทรทัศน์ HUAWEI Vision ยังไม่รับแอปจากนักพัฒนาภายนอก ขณะเดียวกันตัวเฟรมเวิร์คระดับสูงขึ้นไปก็ยังไม่มีกระบวนการตรวจสอบว่าหากมีผู้ผลิตนำไปใช้ผลิตอุปกรณ์แล้วจะทำงานด้วยกันได้ แนวทางนี้ทำให้ความฝันของหัวเว่ยที่อุปกรณ์จะทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ อุปกรณ์ในบ้านสามารถดึงความสามารถของอุปกรณ์อื่นๆ เข้ามาใช้งานได้นั้นกลายเป็นภาพที่อาจจะต้องรอการพัฒนาให้พร้อมกว่านี้แต่หากเทคโนโลยีเหล่านี้สำเร็จขึ้นมาจริง คุณ Lu ก็ยืนยันว่าหัวเว่ยจะโอเพนซอร์สเทคโนโลยีเหล่านี้ออกมาทั้งหมด โดยตอนนี้เรายังไม่เห็นโค้ดชุดแรกของ HarmonyOS ออกมา มีเพียงเคอร์เนล LiteOS ที่หัวเว่ยปล่อยออกก่อนหน้านี้

ยืนยันจะใช้แอนดรอยด์ต่อไปเท่าที่ทำได้

แม้ว่า HarmonyOS จะถูกมองว่าเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่ห้ามไม่ให้หัวเว่ยใช้แอนดรอยด์ แต่คุณ Lu ก็ยืนยันว่าหัวเว่ยจะใช้แอนดรอยด์ต่อไปเท่าที่เป็นไปได้ และแนวคิดการทำงานประสานกันข้ามอุปกรณ์นั้นก็สามารถใช้กับโทรศัพท์แอนดรอยด์ของหัวเว่ยได้เช่นกัน โดยหัวเว่ยจะนำปรับแต่ง EMUI ให้สามารถทำงานได้ตามที่หวังไว้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่