เตรียมตัวอย่างไร เมื่อคิดจะเรียนต่อป.โท

ต่อจากโพสที่เรารีวิวทุนป.โทของคิงพาวเวอร์ ก็มีคนถามเข้ามาเยอะมากเรื่องการเตรียมตัวต่างๆ เราเลยรวบรวมเรียบเรียงมาเป็นข้อสรุปให้ทุกๆคน ไม่เฉพาะสำหรับทุนคิงพาวเวอร์ แต่สามารถนำไปปรับใช้กับทุนอื่นๆ (รวมถึงทุนพ่อแม่ด้วย) ทุกข้อที่เราจะพูดถึง ไม่จำเป็นจะต้องทำตามลำดับขั้นทุกอัน เพราะบางครั้งเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ของทุนต่างๆ บางครั้งอาจจะต้องทำทั้ง 3 ข้อไปพร้อมๆกันก็มี ถ้าเรามัวแต่หาข้อมูลทุน รอจนกว่าจะเจอทุนที่ถูกใจ แล้วถึงจะไปสอบภาษาอังกฤษ บางครั้งอาจจะสายเกินไป โดยเราสามารถหาข้อมูลทุน เตรียมตัวสอบภาษา และติดต่ออาจารย์ให้เขียน Recommendation Letter ไปได้ในเวลาเดียวกันเนอะ
เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วก็มาเริ่มกันเลย!

.
📚 เลือกสาขาวิชาที่จะไปเรียน
แน่นอนว่าก่อนจะไปเรียนต่อ เราจะต้องรู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร อาจจะเริ่มจากการลองหาตัวเองแบบคร่าวๆก่อนก็ได้ เพราะบางครั้งคอร์สที่เราอยากเรียนจริงๆอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักในประเทศมากนัก การค่อยๆเสิร์ชดูคอร์สของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะช่วยให้เรามองเห็นภาพมากขึ้น
การตัดสินใจจะไปเรียนต่อของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าจะถามว่าควรทำงานก่อนเรียนมั้ย หรือเมื่อไรควรจะไปเรียน อันนี้เราตอบแทนทุกคนไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป แค่เรามีคำตอบให้กับตัวเอง มีความมุ่งมั่นที่จะไปเรียน ก็น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้วล่ะ

.
📚 เลือกประเทศและมหาวิทยาลัยที่อยากจะไปเรียน
ประเด็นนี้หลายคนอาจจะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป บางคนเลือกจาก Ranking ของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก บางคนเลือกจากเมืองที่ชอบหรืออยากไป บางคนเลือกจาก Lifestyle ซึ่งไม่มีผิดถูก หรือบางคนอาจจะเลือกจากมหาวิทยาลัยที่มีทุนค่าเล่าเรียนให้ ส่วนตัวเรามองว่าควรพิจารณาทุกๆเงื่อนไขให้ละเอียดก่อนจะตัดสินใจ
การไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ เราเชื่อว่าทุกคนมองหาสิ่งที่มากกว่าใบปริญญา ซึ่งเราจะต้องบาลานซ์แต่ละเงื่อนไขที่เราต้องการให้ดี อาจจะลองปรึกษาเพื่อนที่เคยไปเรียนมาก่อน คนรู้จักที่เคยไปอยู่เมืองนั้นมาก่อน เสิร์ชอินเทอร์เน็ต หรือจะทักมาถามเราคร่าวๆก็ได้นะ
ถ้าเกิดมีข้อสงสัยในคอร์สที่สนใจ สามารถติดต่อไปทางมหาวิทยาลัยเพื่อถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยปกติแล้วก็จะใช้อีเมล์ในการติดต่อสื่อสารกัน บางทีคอร์สที่เราสนใจมีข้อมูลในเว็บไซต์แต่พอถามไปทางมหาวิทยาลัยแล้ว เขาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือ อาจจะไม่เปิดรับนักศึกษาในปีนั้นๆก็เป็นได้ หรือบางคนอาจจะใช้บริการจากเอเจนซี่ก็จะทำให้เราได้รับข้อมูลได้ง่ายขึ้นเพราะเอเจนซี่ก็จะติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

.
📚 หาข้อมูลทุนต่างๆ
ข้อนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และแนะนำให้หาข้อมูลแต่เนิ่นๆ เพราะช่วงเวลาเปิดรับทุนต่างๆไม่เหมือนกัน และมีทุนอีกมากมายที่เราอาจจะไม่เคยได้ยิน ทุนที่ทุกคนคุ้นเคยส่วนมากจะเป็นทุนรัฐบาลต่างๆ ควรศึกษาข้อดีข้อเสียให้ดีก่อนจะสมัครและรับทุน เราเองไม่เคยได้ยินชื่อทุนคิงพาวเวอร์มาก่อน พอมีประกาศออกมาปุ้บก็ต้องยื่นเลย โชคดีที่มีทุกอย่างในมือพร้อม ทั้งเกรดและคะแนนภาษาอังกฤษที่ถึงเกณฑ์ ทำให้เราไม่เสียโอกาสที่เข้ามา
อย่างที่บอกว่าทุนมีมากมายหลายประเภท แต่บางครั้งหลายคนก็เลือกที่จะไม่รับทุน เนื่องจากเงื่อนไขบางอย่าง การจะไปเรียนต่อด้วยทุนตัวเองหรือทุนพ่อแม่นั้น ก็สามารถหาข้อมูลค่าเล่าเรียน ค่าหอ ค่าครองชีพคร่าวๆ ได้จากทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆเลย

.
📚 เตรียมคะแนนภาษาอังกฤษ
เป็นอีกข้อที่ควรเตรียมแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่คุ้นเคยกับข้อสอบประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็น IELTS TOEFL หรืออื่นๆ คนที่มีพื้นฐานอยู่แล้วอาจจะได้เปรียบ แต่ก็อย่าลืมฝึกฝนก่อนไปสอบจริง ไม่ควรประมาท เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายจะไม่น้อยแล้วยังทำให้เราเสียเวลาอีกด้วย
เราเคยเขียนบทความเรื่องการเตรียมตัวภาษาอังกฤษ (IELTS) ไว้ค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะประสบการณ์ตรง ท้ังข้อมูลเบื้องต้นของข้อสอบ IELTS การเตรียมตัวในช่วงเวลา3เดือน และการสอบจริง ลองเข้าไปอ่านกันได้ตามนี้เลย
IELTS 101 : https://bit.ly/2K8d0li 
PLAN FOR IELTS IN 3 MONTHS : https://bit.ly/2GEjkyO 
ON IELTS TEST DAY: https://bit.ly/2OvB4Df 

.
📚 เขียน Statement of Purpose (SOP)
เราสามารถเริ่มเขียนได้ตั้งแต่ช่วงที่เราเลือกสาขาวิชาที่อยากเรียนได้แล้ว แนะนำให้เขียนแต่เนิ่นๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องปรับเยอะมาก โดยเฉพาะ SOP สำหรับยื่นทุน เราแนะนำให้ลองลิสสิ่งที่อยากเขียนและสิ่งที่คิดว่าคนอ่านควรรู้ไว้เป็นข้อๆ แล้วเอามาร้อยเรียงกัน รวมถึงอ่านคอร์สที่เราเลือกให้แตกฉาน การเขียน SOP ก็เหมือนการโฆษณาตัวเอง ว่าทำไมเราถึงควรจะเรียนคอร์สนี้ และทำไมเค้าถึงควรให้ทุนกับเรา
SOP สำหรับทุน เรายังไม่เก่งพอที่จะให้คำตอบได้ว่าต้องเขียนยังไงถึงจะมัดใจและได้ทุน เพราะเราเองก็พลาดไปหลายทุนเช่นกัน บางครั้งมันอาจจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ SOP เพียงอย่างเดียว เกรด และประสบการณ์การทำงานก็มีผลเช่นกัน
ฉะนั้นน้องๆคนไหนที่ยังเรียนอยู่ อย่าคิดว่าเกรดไม่สำคัญ เพราะจบมาแล้วเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขตัวเลขนั้นได้อีก อย่างทุนคิงพาวเวอร์เมื่อปีที่แล้ว คุณสมบัติอย่างแรกที่ต้องมีคือ เกรดที่ไม่ต่ำกว่า 3.5 ซึ่งถ้าเกรดไม่ถึง เราก็จะไม่ได้รับพิจารณาทุนเลย

.
📚 ติดต่ออาจารย์หรือเจ้านายให้เขียน Recommendation Letter
โดยส่วนมากทางมหาวิทยาลัยจะใช้อย่างน้อย 2 ฉบับ ลองเช็คดูให้ดีว่าคอร์สที่เราเลือกต้องการเป็น Academic Referee (จดหมายจากอาจารย์) อย่างเดียวรึเปล่า หรือสามารถเป็นจดหมายจากเจ้านายก็ได้ การติดต่อหาอาจารย์ก็ควรทำแต่เนิ่นๆเพราะอาจารย์ไม่ได้เขียนให้เราคนเดียว แนะนำให้อธิบายให้อาจารย์ฟังว่าเราจะไปเรียนอะไร แนบคอร์สไปให้อาจารย์ดูด้วยก็ยิ่งดี และอย่าลืมติดตามจากอาจารย์อย่างใกล้ชิดด้วยล่ะ

.
📚 ยื่นเอกสาร
ยื่นเอกสารกับทางมหาวิทยาลัย ตอนนี้น่าจะเป็นแบบ online หมดแล้ว แต่ก็อย่าชะล่าใจไป เพราะยิ่งเป็นระบบ online เมื่อเกิดเหตุผิดพลาด การแก้ไขอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด
มีประสบการณ์ตรงจากการยื่นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สหราชอาณาจักร เรายื่นไปก่อนวันปิดรับสมัครเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตอนที่ attach file ขึ้นไป มีติดขัดนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี เราเองก็ไม่ได้เข้าไปเช็คในระบบอีกเลย จนกระทั่งมีอีเมล์จากทางมหาวิทยาลัยส่งมาว่าเอกสารไม่ครบ และเลยวันปิดรับสมัครไปแล้ว เสียใจด้วย ให้ลองใหม่ปีหน้านะ.. ตอนนั้นตกใจและงงมาก เพราะเรามั่นใจมากว่ายื่นเอกสารทุกอย่างไปครบแล้ว และแฟนก็อยู่ช่วยเช็คไปด้วยตอนที่ดำเนินการทุกอย่าง เพียงแต่เราไม่มีหลักฐาน และไม่ได้ capture หน้าจอไว้เลย เราก็รีบส่งอีเมล์ไปอธิบายกับทางมหาวิทยาลัยและขอให้เค้าช่วยพิจารณาใหม่ แต่ก็ไม่เป็นผล ในขณะเดียวกันแฟนเราได้ตั้งข้อสงสัยเบื้องต้น และพบว่าไฟล์ที่มีปัญหาคือไฟล์ที่มีสกุล .PDF (ตัวพิมพ์ใหญ่) ส่วนไฟล์ที่เป็น .pdf (พิมพ์เล็ก) ไม่เกิดปัญหาใดใด จึงคาดว่าเป็นการที่ระบบดักไว้ว่ารับเฉพาะไฟล์ .pdf ทั้งๆที่ .PDF กับ .pdf คือไฟล์เดียวกัน เราจึงอีเมล์ทั้งหมดนี้ไปอีกรอบและขอให้ทางฝ่าย IT ช่วยพิจารณา และในที่สุดทางมหาวิทยาลัยก็ตอบกลับมาว่าเป็นอย่างที่เราอธิบายไปทั้งหมด และจะพิจารณาเอกสารให้
จากประสบการณ์ที่เล่าไป อยากจะบอกว่าการยื่นเอกสารออนไลน์เป็นสิ่งที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องมีสติ และควรมีเพื่อนช่วยดู ที่สำคัญควร capture หน้าจอไว้ในจุดที่สำคัญๆ หลายๆมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดในการยื่นเอกสารออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นชื่อไฟล์ สกุลไฟล์ ขนาดไฟล์ แนะนำให้เช็คให้ดี ทำตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด และถ้าเกิดเหตุการณ์คล้ายๆกับที่เราเจอ อย่ากลัวที่จะอีเมล์กลับไปถามและอธิบาย หรือโทรไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยเลยก็ได้เช่นกัน

.
📚 ได้รับ Offer จากทางมหาวิทยาลัย
หลังจากเรายื่นเอกสารทุกอย่างเรียบร้อย ก็จะใช้เวลาสักพัก ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย เราก็จะได้รับอีเมล์ Offer มา ซึ่งจะมีทั้ง
- Conditional Offer อันนี้เป็นการรับเข้าเรียนโดยอาจจะติดเงื่อนไขบางอย่าง เช่น คะแนนภาษา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็จะแจ้งรายละเอียดมา
- Unconditional Offer อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ ก็คือเป็นการรับเข้าเรียนแบบไม่มีเงื่อนไข

.
📚 ติดต่อทำวีซ่านักเรียน
การติดต่อทำวีซ่านักเรียน แต่ละประเทศอาจจะแตกต่างกันออกไป จะไม่ขอลงรายละเอียดตรงนี้มาก เพราะสามารถไปหาข้อมูลได้ตามเว็บไซต์ของสถานทูตแต่ละประเทศกันเลย หลักๆก็จะต้องมีพาสปอร์ต เอกสารตอบรับจากทางมหาวิทยาลัย เอกสารยืนยันการเงิน เอกสารตรวจสุขภาพ เป็นต้น ถ้าใครมีคำถามสำหรับการยื่นวีซ่านักเรียนของสหราชอาณาจักร สามารถทักมาคุยกันส่วนตัวได้เลย

.
📚 เตรียมตัวก่อนเดินทาง
เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เราก็พร้อมที่จะออกไปพบเจอโลกกว้าง แน่นอนเราจะต้องเตรียมตัวเรื่องการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน ชำระค่าเล่าเรียน และหาข้อมูลความเป็นอยู่ของเมืองที่เราจะไป เพื่อเป็นการเตรียมตัวทั้งการจัดกระเป๋า และเตรียมตัวเตรียมใจกับการปรับตัวครั้งใหญ่ มันอาจจะไม่ได้สวยงามอย่างที่ฝัน หรือมันอาจจะตื่นเต้นกว่าที่คิดก็ได้ ใครจะไปรู้ เพราะมันมีปัจจัยมากมายที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่ตรงหน้า ฉะนั้นเตรียมตัวเตรียมใจเราให้พร้อม แล้วก็ไปลุยกับมัน เก็บเกี่ยวทุกอย่างให้มากที่สุด ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต ต่อให้เราอ่านเรื่องราวของคนอื่นมาทั้งชีวิต แต่มันก็ไม่มีทางเหมือนกับประสบการณ์ตรงที่เราจะได้พบเจอตรงหน้า ใครมีประสบการณ์ดีๆเด็ดๆ มาเล่ามาแชร์ให้ฟังกันได้ คงสนุกไม่น้อยเลย

.
หวังว่ากระทู้นี้จะเป็นประโยชน์กับหลายๆคน ถ้าสงสัยเพิ่มเติมทักเข้ามาคุยมาถามกันได้ อย่าลืมติดตามเพจเราสำหรับเรื่องอื่นๆต่อไปด้วยนะค้า ยิ้ม
https://www.facebook.com/hareung/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่