บุญ กุศล และบารมี เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

ทำบุญ ทำกุศล สร้างบารมี เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

คำว่า "บุญ" "กุศล" และ"บารมี" ทั้ง ๓ คำนี้ ไม่เหมือนกัน เป็นคนละเรื่อง

เหตุผลเพราะว่า

บางคนทำบุญไม่รู้จักกุศลก็ได้ ก็มี ซึ่งไม่เชื่อมโยงกัน แต่บางครั้งเวลาทำบุญ ก็จะมีกุศลด้วยกัน แต่ที่มาด้วยกันได้นั่นเพราะว่า บุคคลนั้นเขาจับบุญกับกุศลมาเชื่อมโยงกันแล้ว แต่บุญกุศลไม่ได้เชื่อมโดยธรรมชาติ

ยกตัวอย่าง

เวลาเราทำบุญ ถ้าเราไม่เข้าใจทำบุญ เราก็ไม่รู้ว่าเราได้สร้างกุศลอะไรบ้าง แต่ถ้าเราทำกุศลเราก็รู้ว่าเราทำบุญอะไร แต่เราต้องศึกษาเรียนรู้มาก่อนถึงจะเกิดกุศลได้

ความหมายของ "บุญ" ลักษณะทางรูป บุญ คือ การทำดีต่อกัน มีจิตมุฑิตาปรารถนาดีต่อกัน หมายถึง การทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น การให้ประโยชน์ผู้อื่นด้วยเราก็ได้ประโยชน์ด้วย แล้วได้ความปิติใจกลับมา เช่น ตักน้ำให้เพื่อน ๑ แก้ว ใส่บาตร (ได้ให้ทาน ได้ลงมือทำบุญ)

ความหมายของ "บุญ" ลักษณะทางนาม บุญ คือ จรรโลงจิตใจให้เกิดปิติยินดี, ความดี

กุศล แปลว่า ทำดีสร้างสิทธิ์เพื่อให้ได้รับปัญญา มาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนนั้น

แล้วเป็นปัญญาตัวไหน? เป็นปัญญาที่รู้ข้อที่ตนผิดพลาดและแก้ไขใหม่ให้ดีถูกต้องเจริญตามธรรม หมายถึง การที่เรารู้ข้อผิดพลาดของตน เช่น การกระทำ พฤติกรรมที่ไม่ดี นิสัยที่ไม่ดีของตน แล้วแก้ไขการกระทำ พฤติกรรม นิสัยของตนให้ดีถูกต้องตามครรลองครองธรรม ชื่อได้ว่าเป็นกุศล หรือพูดง่ายๆว่า เราทำผิด ยอมรับผิด แล้วแก้ไข ไม่ทำผิดอีกต่อไป ชื่อว่ากุศล (กรรมที่ทำให้เราเจริญ)

ถ้าเราทำบุญตักบาตร ได้แต่ใส่บาตรแล้วมีความสุข ก็เกิดแต่บุญ แต่ไม่เกิดกุศล คือ ตัวปัญญา แต่ถ้าเราคิดต่อว่าเราใส่บาตรเพื่ออะไร ทำไปทำไม ตัวนี่แหละที่จะเป็นกุศล

แล้วอยู่ดีๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นเองไม่ได้ เราต้องไปศึกษาเรียนรู้ ด้วยการ สุ.จิ.ปุ.ลิ (ฟัง คิด ถาม เขียน) หมั่นเจริญภาวนาทำบ่อยๆ จึงจะเกิดปัญญาได้

บางคนไหว้พระพุทธเจ้า ถวายข้าวน้ำ ผลไม้ ทุกวัน แล้วเกิดความสบายใจ นี่แหละ ได้บุญ แต่บางครอบครัวทำอย่างนี้แล้วเกิดทะเลาะกันก็มี ไปถกเถียงทะเลาะกันว่า จะใช้ถ้วยชามใบไหนดี มีปากเสียงขึ้นมา นี่แหละได้บุญแต่ไม่ได้กุศล คือ ปัญญา ในข้อที่ว่าไหว้พระพุทธเจ้า ถวายข้าวน้ำ ผลไม้ไปทำไม เพราะว่าไม่เกิดกุศล ไม่มีปัญญาจึงเกิดการทะเลาะกัน เพื่อจะเอาบุญ ได้บุญมาแล้วนำบุญมาทำร้ายกัน

สรุป ไม่เอาบุญอย่างนั้นดีกว่าถ้าทำแล้วทะเลาะกัน แต่จะเอาของมากินเอง เราก็อิ่ม คือได้ทั้งบุญ ได้ทั้งกุศล คือ เป็นอุทธาหรณ์ ไม่เอาบุญมาตีกัน

นี่แหละ บุญกับกุศล ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะมันเป็นคนละตอน เป็นคนละวาระกัน

ตอนนั้นเราได้บุญ แต่ตอนนี้เราไม่ไปทำต่อก็ดี ไปคิดต่อก็ดี ก็ไม่ได้กุศล ไม่ใช่ว่ากุศลจะเกิดโดยอัตโนมัติ

การทะเลาะกันนี้ได้อยู่ แต่ไม่ใช่มาตบตีกัน ทะเลาะกันด้วยเหตุและผล เรียกว่า "ขัดแย้งอย่างกลมกลืน" ถ้าเราสรุปด้วยเหตุผล อันนี้แหละเกิดบุญและกุศลแล้ว

เพราะเราไม่อวิชชา และนำสิ่งเหล่านั้นมาโยนิโสมนสิการ มาขบคิดตรงเหตุนั้น

และบารมีเกี่ยวข้องกับบุญกุศลหรือไม่

ถ้าจะถามว่าเกี่ยวข้องโดยธรรมมั้ย ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่เกี่ยวข้องโดยการจัดการ

"บารมี" แปลว่า ทำให้บ่อย ทำให้ดี ทำให้เยอะกับบุคคล สังคม ชุมชน ก็จะเกิดสะสมสิ่งที่ชื่นชอบ จึงเกิดความเชื่อ ความนับถือ พอเชื่อ นับถือมากขึ้นไปก็จะเริ่มมีบารมี เกิดคำร่ำลือกัน บารมีก็คือมีเครดิตดีๆนี่เอง

เกี่ยวกับบารมีนี้ ทางภาคเหนือพระที่ท่านเน้นและพูดบ่อย ทำบ่อย มีคนศรัทธากันมาได้แก่ พระครูบาศรีวิชัย

หัวใจของครูบาศรีวิชัย คือ "ตั้งใจทำสิ่งดี แล้วไม่หวั่นไหว มั่นคงในเหตุดี ที่ได้กระทำ"

ทำจนคนทั่วไปยอมรับนับถือ

แล้วที่ว่า บารมี ๓๐ ทัศนั้น ถ้าสรุปแล้วก็คือ "มั่นใจในเหตุดีที่เราได้กระทำ ไม่หวั่นไหว ทำจนสำเร็จ นั่นแหละคือบารมี"

ทำไมคนทั่วไปถึงต้องมาไหว้ครูบาศรีวิชัย ก็เพราะว่าครูบาศรีวิชัยมีหัวใจตามที่กล่าวมาข้างตน

บารมีไม่ว่ากี่ข้อๆ หรือ ๑,๐๐๐ ข้อ ก็อยู่ในข้อความดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้

ยกตัวอย่างบารมี ๑๐ ทัศ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก ว่า

๑. ทาน คือ การให้ การเสียสละ

๒. ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นปกติ, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย

๓. เนกขัมมะ คือ การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม

๔. ปัญญา คือ ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

๕. วิริยะ คือ ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่

๖. ขันติ คือ ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส

๗. สัจจะ คือ ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ

๘. อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่นอน

๙. เมตตา คือ ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ

๑๐. อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายหรือชอบฟัง

ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ สรุปอยู่ในคำพูดเดียวคือ หัวใจของบารมี ได้แก่ "มั่นใจในเหตุดีที่เราได้กระทำ ไม่หวั่นไหว ทำจนสำเร็จ" ฉะนั้นจะทำอะไรก็ได้ เพียงแต่เรามั่นใจกับสิ่งที่เราทำนั้นว่าถูกต้องตามครรลองครองธรรม ไม่หวั่นไหว ทำจนสำเร็จ ก็จะเกิดเป็นบารมีขึ้นมา

จะมีบารมีกี่ข้อก็ต้องมีหลักตรงนี้ จะมีร้อยข้อก็ต้องมีหลักตรงนี้ หรือมีพันข้อก็ต้องมีหลักตรงนี้เช่นกัน ถ้าไม่มีหลักตรงนี้บารมีข้อนั้นๆ ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน

ทีนี้จะวิเคราะห์บารมีทางสายลบ เช่น เสือใบกับเสือมเหศวรมีความต่างกัน

ทำไมเสือมเหศวรที่ยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบันนี้ อายุยืน และยังอยู่สุขสบาย เพราะท่านมีบารมี เพราะเวลาเสือมเหศวรเข้าปล้นจะไม่ทำร้ายผู้หญิงและเด็ก และเสือมเหศวรจะบอกให้นำทรัพย์สินเงินทองออกมาไว้หน้าบ้าน เขาไม่เข้าไปปล้น ชาวบ้านให้แค่ไหน เท่าไหร่ ก็จบแล้ว

เขากระทำด้วยคุณธรรม คือ ไม่ละโมบ มีความสันโดษ ท่านปล้นเอาไปช่วยคนยากคนจน เขาจึงมีบารมี

นี่แหละส่วนหนึ่งประวัติของท่านเสือมเหศวร เขาเป็นโจรแบบพระ คือ เป็นโจรที่ดี

พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง เสือมเหศวรยอมเข้าคุก เพื่อชดใช้วิบากกรรม

ถ้าจะจับท่านไม่มีทางจะจับได้ แต่ท่านมาฉุกคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดจากการเป็นโจร ท่านจะเข้าคุก และท่านตั้งปณิธานว่าจะบวช ท่านก็บวช นี่แหละท่านทำครบหมด

เดี๋ยวคนพูดถึงเสือมเหศวรคนยังยกมือไหว้

และยกอีกหนึ่งตัวอย่างเกี่ยวกับผู้มีบารมี เช่น พลเอกเปรม ท่านก็มีบารมี เพราะท่านถือแนวปฏิบัติแบบครูบาศรีชัย คือ มั่นใจในเหตุดีที่ได้กระทำ และท่านยังทำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ แม้แต่ ณ ปัจจุบันนี้ท่านก็ยังทำดีต่อไป นี่แหละกลายเป็นบารมีของท่านพลเอกเปรม จะมีอะไรมาลบล้างไม่ได้

แม้แต่เมื่อก่อนคนที่เคยเป็นศัตรูของพลเอกเปรม ปัจจุบันยังยอมรับท่านเลย นี่แหละ เป็นเพราะท่านปฏิบัติตามหัวใจของครูบาศรีวิชัย

แม้แต่อดีตนายกฯบางท่านก็ยังมีบารมีเช่นเดียวกัน แม้แต่ปัจจุบันคนทั่วไปก็ยังคิดถึงท่านอยู่ เพราะคนเราสิ่งไม่ดีก็มี สิ่งที่ดีก็มี เราจะบอกว่าท่านไม่มีความดีเลยนั้นไม่ได้ แม้แต่การรักษาโรค ๓๐ บาท ก็เพราะท่านเป็นผู้ริเริ่ม

สิ่งที่ทำลายตัวเองก็คือ ความอหังการ ไปสร้างความเป็นปรปักษ์ด้วยความไม่รู้ คือ อวิชชา

ฉะนั้น บุญ กุศล และบารมี มีความแตกต่างกัน ดังที่กล่าวมานี้

^_^ ..._/\_... ^_^

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่