คำสาบแห่งวงแหวนไฟ – ภูเขาไฟรินจานี อินโดนีเซีย EP1
ข่าวใหญ่พาดหัวเมื่อวันที่ 24มิย 2562 ที่ผ่านมา: “แผ่นดินไหวรุนแรง 7.3 เขย่ากลางทะเลอินโดฯ สะเทือนไกลถึงออสเตรเลีย...”
ทำให้ฉันนึกย้อนกลับไป เกิดแผ่นดินไหวในแดนอิเหนามาอย่างต่อเนื่อง นับแต่กรกฏาคม 2561 สร้างความสูญเสียมากมาย
นี่มันจะครบปีแล้ว..ยังไหวอยู่อีกหรือ?? หรือมันจะเป็นดังคำที่เคยมีคนกล่าวไว้ 'อินโดนีเซีย..ดินแดนต้องคำสาบ มันคือคำสาบแห่งวงแหวนไฟ!!..'
ทุกครั้งที่อ่านข่าวแผ่นดินไหว ฉันมักจินตนาการถึงนิทานปรำปราที่คนโบราณเคยเล่าไว้ ผู้เฒ่าเคยเล่าว่า.. เมื่อใดที่ปลาอานนท์พลิกตัว เมื่อนั้นจะเกิดแผ่นดินไหว เกิดภัยพิบัติเหนือผิวโลก สมัยเด็กๆ เราฟังแล้วก็ได้แต่ตื่นเต้นตาโต ภาวนาให้ปลาอานนท์นอนหลับใต้ภิภพนานๆ อย่าตื่นมาบิดขี้เกียจบ่อยนัก ไม่อยากประสบหายนะ กลัวแผ่นดินยุบ ถูกสูบลงธรณีหายไปดื้อๆ จนเราโตขึ้น วิทยาศาสตร์สอนให้เข้าใจถึงสาเหตุของแผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิดมากขึ้น อ้อ..ภัยพิบัติธรรมชาติ มันมีที่มาที่ไปอย่างนี้นี่เอง มันก็ไม่ได้คุกคามชีวิตเราเท่าไร ปราบใดที่ไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในเขตสุ่มเสี่ยง คิดได้แล้วก็เบาใจ ชีวิตปลอดซึ่งพิบัติภัย..ชัวร์!!!
แต่ระยะหลังๆ ข่าวด้านภัยธรรมชาติใกล้ตัวเหลือเกิน กลายเป็นสมบัติสาธารณะของคนทั้งโลก ปัจจัยหนึ่งคือการเติบโตของเมือง ที่ขยายเข้าไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงมากขึ้น เราจึงได้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์มากมาย ที่แสดงให้เห็นว่า ความน่ากลัวของธรรมชาติ ไม่ใช่เรืองไกลตัวอีกต่อไป และไม่มีใครบอกได้ว่า มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร สาหัสแค่ไหน และไปจบลงที่ใด
สำหรับฉัน.. ข่าวแผ่นดินไหวในประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้ยินต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว มันช่างไม่ต่างจากหนังซีรีส์เรื่องหนึ่ง
ทีมีภาคต่อออกฉายครั้งแล้วครั้งเล่า และทุกๆ episode ต่างจบลงที่ความสูญเสีย
ฉันยังจำเช้าวันนั้นได้ดี.. ปฐมบท ”คำสาบแห่งวงแหวนไฟ” ในความทรงจำ มันเริ่มขึ้นในเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฏาคม 2561 ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.4 ริกเตอร์ ความลึกเพียง 10 กิโลเมตร ทางตอนเหนือของเกาะลอมบอก เป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในรอบ100ปีบนเกาะแห่งนี้ ยังผลให้เกิดความเสียหายรุนแรง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ระยะศูนย์กลางแผ่นดินไหวห่างจากภูเขาไฟรินจานี (Mt. Rinjani) แหล่งท่องเที่ยวติดอันดับท๊อปชาร์ตของประเทศอินโดนีเซียไปเพียง 15กิโลเมตร ความรุนแรงของการสั่นสะเทือน บวกกับความลาดชันของพื้นที่ รวมกับพื้นผิวหน้าดินหินกรวดที่ร่วนซุย ต่างเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ความเสียหายในหุบเขารินจานีขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังทำให้เกิดดินถล่มตามมาอย่างต่อเนื่อง
VDO เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรง Mt.Rinjani เกาะลอมบอก 29 กรกฏาคม 2561
โดยปกติแล้ว ช่วงคึกคักที่สุดของรินจานี คือช่วงหัวเช้าของทุกวัน นักท่องเที่ยวหลายร้อยชีวิตต่างมุ่งหน้าพิชิตยอดรินจานี (Mt. Rinjani Summit) กันตั้งแต่ตีหนึ่งตีสอง เพื่อให้ทันแสงแรกในช่วงรุ่งสาง การรับมือกับแรงสั่นสะเทือนขนาด 6.4ริกเตอร์ ขณะไต่อยู่บนสันเขากว้างเพียงเมตรกว่าๆ มันหมายถึงวินาทีชีวิตอย่างแท้จริง แรงสะเทือนแปรเปลี่ยนเป็นแรงกระแทกในความรู้สึก ผู้ประสบภัยแต่ละคนไม่สามารถยืนทรงตัวได้เลย หลายคนมอบคลาน หลายคนวิ่งล้มลุกคลุกคลานลงเขา เป็นฉากหนีตายที่โกลาหลมาก ฝุ่นควันปกคลุมยอดรินจานี มองไม่เห็นแสงอาทิตย์ของรุ่งสางเลย ได้ยินเพียงเสียงครืนๆของดินถล่ม กึกก้องกัมปนาทไปทั่วสารทิศ
ยอดรินจานีมีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายกรวยวงรีหงาย แอ่งทะเลสาบตั้งกลาง โอบล้อมด้วยทิวเขาน้อยใหญ่ แผ่นดินไหวทำให้เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์เป็นวงกว้างโดยรอบหุบเขา ดินถล่มปิดทับเส้นทางเข้าออกหลายจุด นักท่องเที่ยวที่ค้างแรมในจุดอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
------
วิกฤติหนักอีกจุด คือบริเวณแคมป์ปิ้งในแอ่งทะเลสาบเซการาอานัก ที่พวกเราและนักท่องเที่ยวท่านอื่นๆติดอยู่ แรงสะเทือนทำให้หินใหญ่ถล่มลงหลายจุดบริเวณน้ำตกใหญ่ใกล้ทะเลสาบ นักท่องเที่ยวและลูกหาบวิ่งกระเจิงไปคนละทิศทาง ขวัญหนีดีฝ่อกันไปหมด ทันทีที่รับรู้ถึงแรงเขย่าของผิวโลก ทุกคนทิ้งเต็นท์และสัมภาระทุกอย่างทันที เสียงตะโกนอื้ออึงให้วิ่งขึ้นไปรวมตัวกันบนลานกว้าง ทุกคนยืนตะลึงงงกับภาพหินถล่มบนเขาสูงเบื้องหน้า เสียงถล่มกึกก้องรอบทิศทาง ไกด์วิ่งไปเช็คระดับน้ำในทะเลสาบเป็นระยะ เกรงว่าน้ำจะสูงจนปิดทางเข้าออก และหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงต่อเนื่อง อาจเกิดสินามิเล็กๆตีซัดเข้าแค้มป์พักพวกเราได้
เจ้าหน้าที่ระดมกำลังเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เพื่ออพยพนักท่องเที่ยวตามจุดต่างๆออกมาให้เร็วและมากที่สุด แต่ด้วยแลนด์สเคปลักษณะทิวเขาสูงสลับแอ่งกะทะ จึงไม่สามารถลำเลียงผู้คนได้ทั้งหมด เหลือเพียงกลุ่มผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในแอ่งทะเลสาบเซการาอานักเท่านั้น นอกจากนี้..อาร์เตอร์ชอตที่เกิดต่อเนื่องอีกหลายสิบครั้ง ทำให้เส้นทางที่พวกเราต้องปีนกลับออกไป ถูกตัดขาดจนสุ่มเสี่ยงเกินไป ดินถล่มต่อเนื่องกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการปีนกลับกันออกมาด้วยเช่นกัน พวกเราและผู้ประสบภัยอีกหลายร้อยชีวิตจึงติดอยู่ในหุบเขายาวนานกว่าคนอื่นๆ
บ่ายวันที่ 29: เมื่อปีนกลับออกไปไม่ได้ กลุ่มผู้ประสบภัยคนไทยเกือบสามร้อยชีวิตจึงรวมตัวกัน ตัดสินใจตั้งแคมป์อพยพบนที่ลาดกว้างเชิงเขา เพื่อเฝ้าสังเกตุการณ์ ดูแลช่วยเหลือกันและกัน แผ่นดินไหวต่อเนื่องตลอดวัน หลายคนกระอักกระอ่วนสับสนกับการรับมือเหตุการณ์แบบนี้ การถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ทำให้ข่าวสารที่ได้รับไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงยากต่อการประเมินสถานการณ์ในแต่ละช่วงนาที แผ่นดินไหวเป็นภัยที่ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า คาดเดายาก ความไม่แน่ใจว่าแรงสั่นทะเทือนจะเกิดต่อเนื่องนานและหนักแค่ไหน ทำให้พวกเราตัดสินใจนอนสังเกตการณ์กันอีกหนึ่งคืน แม้บรรยากาศของศูนย์อพยพ(จำเป็น)จะตึงเครียด แต่ก็เต็มไปด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันทั้งอาหารและน้ำดื่ม การพูดคุยหยอกล้อในกลุ่ม ช่วยคลายกังวลเพื่อนๆได้มาก ถ้าจะมองมุมบวก แม้ภัยพิบัติจะนำพาความสูญเสียมาสู่มนุษย์ แต่ก็ถือบททดสอบอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงขีดความสามารถของตัวเอง และการช่วยเหลือเกิ้อกูลระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
-----
[CR] คำสาบแห่งวงแหวนไฟ – ภูเขาไฟรินจานี อินโดนีเซีย EP1
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น