เวลาที่คุณมีปัญหาความรัก ควรจะแก้ปัญหาด้วยการทำบุญเข้าวัด หรือแก้ด้วยหลักคู่บุญ ฆราวาสธรรม

  ในทีนี้ขอแสดงความเห็นว่าจะแก้ด้วยวิธีไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จำเพาะตัวบุคคล แล้วแต่ระดับจิตวิญญาณตัวบุคคล

   คนบางคนผิดหวังความรักมา ก็เข้าวัดทำบุญใส่บาตรด้วยหวังว่าบุญกุศลคุณงามความดีที่สร้างไว้จะช่วยให้ได้พบความรักที่สมหวัง แต่จริงๆแล้วการเข้าวัดทำทาน ใส่บาตรเพื่ออะไร เพื่อละความโลภไม่ใช่หรือ
  ทานละความโลภ ศีลละความโกรธ ภาวนาละความหลง

   หากการทำบุญทำทานแล้วสามารถแก้ปัญหาความรักได้ ก็คงเป็นในกรณีที่ว่าทำทานแล้วส่งผลให้ละคลายโลภะได้ ละคลายความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ทำให้จิตใจลดคลายจากการอยากได้คู่ที่หล่อ สวย รวย เก่ง หรือลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่ผู้ต้องการจะมีคู่พึงพอใจ เมื่อไม่ได้อยากมีคู่หรือความต้องการมีคู่น้อยลง ก็ส่งผลให้ความทุกข์เรื่องคู่น้อยลงหรือไม่ทุกข์เรื่องคู่ เพราะไม่ได้ต้องการชีวิตคู่อยู่แล้ว อยู่อย่างไม่มีคู่ก็ได้ ทานบารมีส่งผลดีในเรื่องความรักโดยตรงเช่นนี้

แต่หากผู้ทำทานนั้น ยังมีความต้องการมีชีวิตคู่ที่อยู่ดีมีความสุข ก็ต้องมีคู่ชีวิตตามหลักคู่บุญ 4 ประการและประพฤติตามหลักฆราวาสธรรมให้ได้ด้วย ซึ่งหลักธรรมทั้ง 2 นี้ เป็นหลักธรรมเกี่ยวเนื่องโดยตรงของการใช้ชีวิตคู่ ผู้ที่ทำทานหรือไม่ทำทานเมื่อได้ประพฤติตามหลักคู่บุญและฆราวาสธรรมย่อมพบความสุขในการใช้ชีวิตคู่ได้หมด

   ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาที่ว่ากันด้วยเหตุและผล วิถีทางแห่งความสุขความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมย่อมมีวิธีการที่ถูกต้อง และดำเนินอย่างนักปราชญ์ผู้มีปัญญา เช่น ในสมัยพุทธกาล มีผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์อยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ที่แสวงหาแต่กิเลสกาม อยู่แต่ในราคะ โทสะ โมหะ หาความสุขกับวัตถุภายนอก ด้วยเชื่อว่าการหาความสุขจากวัตถุภายนอก กิเลสกามราคะทั้งหลายคือ หนทางแห่งการพ้นทุกข์ กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่บำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานร่างกายอย่างถึงที่สุด ด้วยเชื่อว่าการต้องประสบกับความทุกข์ทรมานทางกายมากๆ นำไปสู่การหลุดพ้นได้

   แต่ศาสนาพุทธสอนให้คนพ้นทุกข์ด้วยวิธีการของนักปราชญ์ผู้มีปัญญา คือ ปฏิบัติอยู่บนทางสายกลาง ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางจิต จึงจะหลุดพ้นความทุกข์ เข้าถึงสุขชั่วนิรันดร์ได้

   เรื่องอื่นๆก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน ความรัก ศาสนาพุทธก็ให้แนวทางในการปฏิบัติด้านต่างๆอย่างนักปราชญ์ผู้มีปัญญา ซึ่งพระองค์ท่านก็ได้มอบหลักธรรมวิธีการมเฉพาะในแต่ละเรื่อง
-เรื่องการงาน ก็ใช้วิธีการอย่างผู้มีปัญญา คือ ปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท 4 ไม่ใช่ขี้เกียจคร้านทำงานแล้วโทษเวร โทษกรรม
-เรื่องการเงิน ก็ปฏิบัติตนอย่างผู้มีปัญญา ด้วยหลักหัวใจเศรษฐี ไม่ใช่อยู่เฉยๆแล้วหวังรวย คบเพื่อนชั่วพาหมดตัว ไม่รู้จักประมาณตนในการใช้จ่าย แล้วโทษฟ้าโทษดิน โทษว่าตัวเองมีบุญน้อย ไม่รวยซักที
-เรื่องความรัก ก็รักอย่างมีสติ รักอย่างมีปัญญา อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เลือกคู่ตามหลักคู่บุญ เมื่อได้คู่มาแล้วก็ปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรม ไม่ใช่เอารวยๆ มีตังค์ แต่พื้นฐานอย่างอื่นเข้ากันไม่ได้ และพอมาอยู่ด้วยกันก็ประพฤติปฏิบัติใส่กันตามอำเภอใจ อยากทำอะไรก็ทำ แต่ในที่นี้ไม่ได้ห้ามเลือกคนหล่อ สวย รวย เก่ง มาเป็นคู่ชีวิตนะ อยากเลือกก็เลือกได้ แต่ต้องดูพื้นฐานอย่างๆอื่นด้วย และได้มาก็ต้องประพฤติปฏิบัติต่อคู่ตัวเองให้ดีตามหลักฆราวาสธรรมด้วย

   ว่ากันด้วยหลักคู่บุญและหลักฆราวาสธรรมเป็นหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องความรักทั้ง 2 ข้อ แต่มีน้อยคนมากที่สนใจและจะนำไปใช้จริง
   หลักคู่บุญใช้สำหรับการเลือกคู่ที่เหมาะสมในชีวิต
   ฆราวาสธรรมใชัปฏิบัติตนเมื่อเราเลือกคู่มาได้แล้ว ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคู่แล้ว และไม่ว่าคู่ที่เราได้มาจะเป็นคู่บุญหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเราได้คู่มาแล้ว เราก็ควรปฏิบัติตามหลักฆราวาสธรรมเพื่อให้ชีวิตคู่เต็มไปด้วยกุศลธรรมและเกิดความผาสุขอย่างดีที่สุด

หลักคู่บุญ 4 ประการ
-ศรัทธาสมกัน ย่อมส่งผลให้ มองอะไรๆไปในทิศทางเดียวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
-ศีลสมกัน ย่อมส่งผลให้ เชื่อมั่นในกันและกัน สนิทใจ ไว้วางใจกันเป็นอย่างดี
-จาคะ(การให้แบ่งปัน)สมกัน ย่อมส่งผลให้ทั้งคู่เป็นที่พึ่งพาให้กันและกัน พบความสุขความเจริญไปด้วยกัน
-ปัญญาสมกัน ย่อมส่งผลให้ การเจรจาสนทนาพูดคุยเกิดความรื่นเริง พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่างๆไปด้วยกัน

หลักฆราวาสธรรม 4
1. สัจจะ
แปลว่า จริง ตรง แท้ เป็นหลักความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อคนที่เรารัก ซึ่งธรรมชาติของคนเรานั้นก็ย่อมต้องการความจริงใจ
อานิสงส์ของการมีสัจจะได้แก่ เป็นคนมีความรับผิดชอบ เป็นคนหนักแน่นมั่นคง ชีวิตและหน้าที่การงานมีความเจริญก้าวหน้า มีคนเคารพยกย่อง มีคนเชื่อถือและเกรงใจ มีคนรักใคร่นิยม พบเจอกับรักแท้ มีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นต้น

2. ทมะ
แปลว่า การข่ม ใจ การปรับตัว ฝึกตน ข่มจิต และรักษาใจ มีความหมายไปในทางการรู้จักบังคับควบคุมอารมณ์ของตนเอง โดยเฉพาะในเวลาที่มีเรื่องไม่สบายใจ ไม่พึงพอใจเกิดขึ้น
   เราต้องปรับตัวเข้าหาเขาและเขาต้องปรับตัวเข้าหาเรา ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแข็งขืน ไม่ยอมเข้าใจและปรับตัวเข้าหากัน ก็จะทำให้ชีวิตรักหรือชีวิตคู่ไม่สมหวังดั่งตั้งใจ
อานิสงส์ของการมีทมะ ได้แก่ ทำให้เป็นคนรักการฝึกฝนตนเอง มีความสามารถในการทำงาน ไม่มีศัตรู ไม่มีความแค้นกับใคร สมารถยับยั้งตนเองไม่ให้หลงไปทำผิด หรือหลงไปในทางที่ผิดได้ สามารถตั้งตัวได้ มีสมองดี มีปัญญาเป็นเลิศ มีใจที่สงบสุขเพราะควบคุมอารมณ์ได้ เป็นต้น
 3. ขันติ
แปลว่า ความอดทน อดกลั้น เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนอกจากจะมีข้อขัดแย้งแตกต่างทางด้านอุปนิสัย การอบรม ประสบการณ์เดิม บางครั้งก็อาจมีอุปสรรคมาให้ร่วมเผชิญ หรือบางครั้งอาจมีการทะเลาะเบาะแว้ง บาดหมางกัน ซึ่งไม่ว่าจะโดยคำพูดหรือการกระทำ จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรู้จักอดกลั้นระงับใจ ไม่ก่อเหตุให้เรื่องลุกลามกว้างขยายต่อไป เรื่องร้ายที่น่าจะลุกลามจึงจะระงับ สงบลงไป แต่ถ้าระงับห้ามใจไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ก็จะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ในที่สุดก็ต้องเลิกรากันไป
อานิสงส์ของการมีขันติ ได้แก่ ทำให้อดทนต่ออุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้ ทำงานได้ดี เป็นที่พึ่งและหลักในครอบครัวได้ เป็นที่พึงให้คนอื่นที่เดือดร้อนได้ ทำให้ไม่มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับคนอื่น ไม่หลงผิดไปทำความชั่ว และทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้ เป็นต้น
4. จาคะ
แปลว่า ความเสียสละ ความเผื่อแผ่ แบ่งปัน หรือคือการให้นั่นเอง จาคะนั้นมีความหมายรวมถึงรู้จักสละสิ่งของช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ซึ่งโดยปกติของชีวิตคู่นั้น เราต้องช่วยเหลือเกื้อกูลคนรักของเราตลอดเวลา เรียกว่าต้องแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 
อานิสงส์ของการมีจาคะ ได้แก่ ทำให้มีอารมณ์ผ่องใสติดตัว มีนิสัยเสียสละแก่ผู้อื่น รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง ทำให้ตนเองปลอดภัย คนอื่นนับหน้าถือตา ครอบครัวและสังคมเป็นสุข มีเพื่อนดีๆ รอบตัว จิตใจมีความสุข ช่วยชำระล้างจิตใจที่สกปรกเห็นแก่ตัว ทำให้คนรักรักเรามากขึ้น เป็นต้น

   สรุปว่า หากเราเป็นชาวพุทธและต้องการประสบความสุขในชีวิตรัก ก็ควรรักแบบวิถีพุทธจริงๆ รักอย่างนักปราชญ์ อย่างผู้มีปัญญา อย่างมีเหตุมีผล ด้วยหลักคู่บุญและฆราวาสธรรม จึงจะพบความสุขความเจริญในชีวิตรักได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่