ปรินิพฺพุตกถาวณฺณนา มหาปรินิพพานสูตรหน้าต่างที่ ๕ / ๕.

มหาปรินิพพานสูตรหน้าต่างที่ ๕ / ๕.

               ตถาคตปจฺฉิมวาจาวณฺณนา                            
  บัดนี้ เพื่อจะแสดงการประทานพระโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์
ที่ทรงเริ่มไว้นั้น จึงกล่าวคำว่า 
อถ โข ภควา เป็นต้น. 
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า
 เทสิโต ปญฺญตฺโต ความว่า
ทั้งธรรมก็ทรงแสดงแล้วบัญญัติแล้ว
ทั้งวินัยก็ทรงแสดงบัญญัติแล้ว.
อธิบายว่า ชื่อว่าทรงบัญญัติ ได้แก่ทรงแต่งตั้งแล้ว. 

               บทว่า 
โส โว มมจฺจเยน ได้แก่
ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายโดยที่เราล่วงไป. 

               จริงอยู่ เรายังเป็นอยู่นี้แลแสดงอุภโตวิภังควินัย
พร้อมทั้งขันธกบริวารแก่เธอทั้งหลาย
ในวัตถุที่จัดไว้ด้วยอำนาจกองอาบัติทั้ง ๗ ว่า
นี้อาบัติเบา นี้อาบัติหนัก นี้อาบัติที่แก้ไขได้
นี้อาบัติที่แก้ไขไม่ได้ นี้อาบัติที่เป็นโลกวัชชะ
นี้เป็นบัณณัติวัชชะ นี้อาบัติออกได้ในสำนักบุคคล
นี้อาบัติออกได้ในสำนักคณะ
นี้อาบัติออกได้ในสำนักสงฆ์.
วินัยปิฏกแม้ทั้งสิ้นนั้น
เมื่อเราปรินิพพานแล้ว
จักทำกิจของศาสดาของพวกท่านให้สำเร็จ. 

               อนึ่ง เรายังเป็นอยู่นี้แหละ
ก็จำแนกแยกแยะธรรมเหล่านี้
แสดงสุตตันตปิฏกด้วยอาการนั้นว่าเหล่านี้
สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
สุตตันตปิฏกแม้ทั้งสิ้นนั้นจักทำกิจแห่งศาสดาของท่านทั้งหลายให้สำเร็จ. 

               อนึ่ง เรายังดำรงอยู่นี้แหละ
จำแนกแยกแยะธรรมเหล่านี้ คือ
ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ สัจจะ ๔ อินทรีย์ ๒๒ เหตุ ๙
อาหาร ๔ ผัสสะ ๗ เวทนา ๗ สัญญา ๗ สัญเจตนา ๗ จิตต์ ๗
แม้ในจิตต์นั้น ธรรมเท่านี้เป็นกามาวจร
เท่านี้เป็นรูปาวจร เท่านี้เป็นอรูปาวจร
เท่านี้เป็นธรรมเนื่องกัน เท่านี้เป็นธรรมไม่เนื่องกัน
เท่านี้เป็นโลกิยะ เท่านี้เป็นโลกุตตระ

แล้วแสดงอภิธรรมปิฏก
เป็นสมันตปัฏฐาน ๒๔ ประดับมหาปัฏฐานอนันตนัย
อภิธรรมปิฏกแม้ทั้งสิ้น เมื่อเราปรินิพพานแล้ว
จักทำกิจแห่งศาสดาของเธอทั้งหลายให้สำเร็จ.

อนึ่ง พระพุทธวจนะนี้ทั้งหมดที่เราภาษิตแล้ว
กล่าวแล้ว ตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงปรินิพพานมีมากประเภทอย่างนี้ คือ
ปิฏก ๓ นิกาย ๕ องค์ ๙ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์.
พระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พันเหล่านี้ดำรงอยู่ด้วยประการฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อทรงแสดงเหตุเป็นอันมากอย่างนี้ว่า
เราจักปรินิพพานผู้เดียว
อนึ่ง เราบัดนี้ก็โอวาทสั่งสอนผู้เดียวเหมือนกัน
เมื่อเราปรินิพพานแล้ว
พระธรรมขันธ์แปดหมื่นสี่พันเหล่านี้
ก็จักโอวาทสั่งสอนท่านทั้งหลาย
ทรงโอวาทว่า ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย
เมื่อเราล่วงไป แล้วเมื่อทรงย้ำแสดงจารีตในอนาคตกาล
จึงตรัสว่า ยถา โข ปนเป็นต้น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่