ขุมทรัพย์จากพระไตรปิฎก เรื่อง สิ้นแผ่นดิน ไม่สิ้นแค้น ตอน ปฐมบทสิ้นแผ่นดิน


  เล่ากันมาว่า ที่วัดโฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุผู้ใหญ่ สองรูป คือ พระวินัยธร และพระธรรมกถึก ซึ่งต่างก็มีบริวารรูปละ ๕๐๐  วันหนึ่งพระธรรมกถึก ไปห้องน้ำค้างน้ำชำระที่เหลือไว้ในภาชนะแล้วออกไป พระวินัยธรมาทีหลัง เห็นน้ำนั้น ออกมาถามพระธรรมกถึกว่า ผู้มีอายุ ท่านเหลือน้ำไว้หรือ
ขอรับ ผู้มีอายุ
ท่านไม่รู้หรือว่า เป็นอาบัติเพราะเหลือน้ำไว้
ขอรับ ผมไม่รู้
ไม่รู้ก็ช่างเถิด เป็นอาบัติเพราะเหตุนี้
ถ้าอย่างนั้น ผมจะแสดงอาบัติ(ปลงอาบัติ)
แต่ถ้าท่านไม่เจตนา ทำไปเพราะไม่มีสติ ก็ไม่เป็นอาบัติ
พระธรรมกถึก ได้เป็นผู้มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ จึงมิได้แสดง
ฝ่ายพระวินัยธร ได้บอกแก่ศิษย์ทั้งหลายของตนว่า พระธรรมกถึก แม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้
พวกศิษย์ของพระวินัยธรเมื่อเห็นเหล่าศิษย์ของพระธรรมกถึก ก็กล่าวว่า อาจารย์ของพวกท่าน แม้ต้องอาบัติแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ พวกศิษย์ของพระธรรมกถึกนำเรื่องนั้นไปแจ้งแก่พระอาจารย์ของตน
พระธรรมกถึกกล่าวกับศิษย์ของตนว่า พระวินัยธรรูปนั้น เมื่อก่อนพูดว่า ไม่เป็นอาบัติ แต่บัดนี้กลับกล่าวว่า เป็นอาบัติ  พระวินัยธรนั้น พูดปด
ศิษย์ของพระธรรมกถึก นำความนั้นไปโต้แย้งกับศิษย์ของพระวินัยธร ว่า อาจารย์ของพวกท่าน พูดปด พวกศิษย์ของพระวินัยธรและของพระธรรมกถึก ทำความทะเลาะกันและกันให้ขยายวงกว้างออกไปอย่างนี้
ภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาส จึงได้ทำอุกเขปนียกรรม(กรรมที่สงฆ์จะพึงทำแก่ภิกษุที่สมควรจะยกเสีย)แก่พระธรรมกถึก เพราะโทษที่ไม่เห็นอาบัติ ตั้งแต่นั้น แม้พวกอุปัฏฐากของภิกษุสองรูปนั้น ก็เป็นแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย พวกภิกษุณีผู้รับโอวาท พวกอารักขเทวดา ของภิกษุ ๒ รูปนั้น พวกอากาสเทวา ทั้งพวกปุถุชนทั้งปวง ก็แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย เทวดาจนถึงพรหมโลกก็โกลาหลกึกก้องเป็นเสียงเดียว
คราวนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระตถาคตเจ้า กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทราบ พระผู้มีพระภาคทรงส่งโอวาท ไปถึง ๒ ครั้งว่า ภิกษุทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกัน แต่ก็ไม่อาจให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอมได้ พระองค์จึงเสด็จไปด้วยพระองค์เอง ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปหากลุ่มของพระวินัยธรผู้ยกวัตรก่อน แล้วประทานโอวาทว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าสำคัญภิกษุอันตนพึงยกเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยนึกว่า พวกเราเฉลียวฉลาด  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้วมีความเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในว่าเป็นอาบัติ ถ้าพวกเธอรู้จักภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้แลเป็นพหูสูต... ผู้ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราจักยกภิกษุรูปนี้ เพราะไม่เห็นอาบัติ จักทำอุโบสถร่วมกับภิกษุรูปนี้ ไม่ได้ จักต้องทำอุโบสถแยกจากภิกษุรูปนี้ จักปวารณาร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
      จักทำสังฆกรรมร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
      จักนั่งบนอาสนะร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
      จักนั่งในสถานที่ดื่มยาคูร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
      จักนั่งในโรงภัตร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
      จักอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวกันร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
      จักทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมตามลำดับผู้แก่พรรษาร่วมกับภิกษุรูปนี้ไม่ได้
ความบาดหมาง ความทะเลาะความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ การกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์  ภิกษุทั้งหลายผู้เกรงแต่ความแตกนั้น ไม่พึงยกภิกษุนั้น เพราะไม่เห็นอาบัติ.
ครั้นพระผู้มีพระภาคตรัสข้อความนั้นแก่ภิกษุพวกยกวัตรแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับเสด็จไปหากลุ่มของพระธรรมกถึก แล้วตรัสประทานโอวาทว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติแล้ว อย่าสำคัญอาบัติว่าไม่ต้องทำคืน ด้วยเข้าใจว่า พวกเราไม่ต้องอาบัติ พวกเราไม่ต้องอาบัติ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ ถ้าเธอรู้จักภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่าท่านเหล่านี้แลเป็นพหูสูต... ผู้ใคร่ต่อสิกขา คงจะไม่ถึงฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ ภยาคติ เพราะเหตุแห่งเรา หรือเพราะเหตุแห่งภิกษุเหล่าอื่น ถ้าภิกษุเหล่านี้จักยกเรา เพราะไม่เห็นอาบัติ พวกเธอจักทำอุโบสถร่วมกับเราไม่ได้
จักปวารณาร่วมกับเราไม่ได้  
จักทำสังฆกรรมร่วมกับเราไม่ได้
จักนั่งเหนืออาสนะร่วมกับเราไม่ได้
จักนั่งในสถานที่ดื่มยาคูร่วมกับเราไม่ได้
จักนั่งในโรงภัตร่วมกับเราไม่ได้      
จักอยู่ในที่มุงที่บังอันเดียวร่วมกับเราไม่ได้      
จักทำอภิวาท ต้อนรับอัญชลีกรรม สามีจิกรรม ตามลำดับผู้แก่พรรษากับเราไม่ได้  ความบาดหมาง ความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาท ความแตกแยกแห่งสงฆ์ ความร้าวรานแห่งสงฆ์ ความกำหนดแห่งสงฆ์ การกระทำต่างแห่งสงฆ์ ซึ่งมีข้อนั้นเป็นเหตุ จักมีแก่สงฆ์ ภิกษุผู้เกรงแต่ความแตกกัน พึงยอมแสดงอาบัตินั้นเสีย แม้ด้วยความเชื่อผู้อื่น.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงประทานโอวาทถึงเพียงนี้ก็ไม่อาจทำให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอมได้ จึงตรัสประชุมสงฆ์ทั้งฝ่ายพระวินัยธร และฝ่ายพระธรรมกถึก แล้วทรงประทานโอวาทว่า อย่าเลย ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าบาดหมาง อย่าทะเลาะ อย่าแก่งแย่ง อย่าวิวาทกันเลย ขึ้นชื่อว่าการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาทนั้น ทำความยิ้มให้ แท้จริง แม้นางนกลฏุกิกา(นกไส้) อาศัยการทะเลาะกัน ยังอาจทำพระยาช้างให้ถึงความสิ้นชีวิต ดังนี้แล้ว ตรัสลฏุกิกชาดก  จากนั้น ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายขอพวกเธอจงพร้อมเพรียงกันเถิด อย่าวิวาทกันเลย เพราะว่า แม้นกกระจาบตั้งหลายพัน อาศัยความวิวาทกัน ได้ถึงความสิ้นชีวิต ดังนี้แล้วจึงตรัสวัฏฏกชาดก.
แม้กระนั้น พวกภิกษุนั้นก็ไม่เชื่อถือถ้อยคำ  ภิกษุผู้เป็นธรรมวาทีรูปหนึ่ง ไม่พอใจให้พระตถาคตเจ้าทรงลำบาก กราบทูลว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เจ้าของแห่งธรรมทรงรอก่อน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีความขวนขวายน้อย หมั่นประกอบธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมอยู่เถิด พวกข้าพระองค์จักปรากฏ เพราะการแตกร้าว การทะเลาะ การแก่งแย่งและการวิวาทนั่นเอง
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว ในพระนครพาราณสี ได้มีพระเจ้ากาสีพระนามว่าพรหมทัต ทรงเป็นกษัตริย์มั่งคั่ง มีพระราชทรัพย์มาก
มีพระราชสมบัติมาก มีรี้พลมาก มีพระราชพาหนะมาก มีพระราชอาณาจักรใหญ่ มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ และคลังธัญญาหารสมบูรณ์ ส่วนพระเจ้าโกศลพระนามทีฆีติ ทรงเป็นกษัตริย์ขัดสน มีพระราชทรัพย์น้อยมีพระราชสมบัติน้อย มีรี้พลน้อย มีพระราชพาหนะน้อย มีพระราชอาณาจักรเล็ก มีคลังศัสตราวุธยุทธภัณฑ์และคลังธัญญาหารไม่สู้จะบริบูรณ์.
                                                    
จบตอน ปฐมบท สิ้นแผ่นดิน

ประเด็นน่าสนใจ
๑ ฆราวาสวิวาทกันเพราะผลประโยชน์ บรรพชิตวิวาทกันเพราะทิฏฐิ เมื่อผลประโยชน์ลงตัว ความขัดแย้งก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ได้ไม่เท่ากันหรือ ได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น การทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อความเห็นไม่ลงรอยกัน ไม่ยินยอมกัน ไม่สละทิฏฐิ  ความแตกร้าวก็เกิดขึ้น เหมือนเรื่องพระวินัยธร กับพระธรรมกถึก
๒ โอวาทที่พระผู้มีพระภาคทรงประทานแก่พระวินัยธร และพระธรรมกถึก เป็นแม่แบบของการประนีประนอมกัน ไม่ว่าฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์โดยรวม คำนึงหมู่คณะ คำนึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น  ก็ยอมสละทิฏฐินั้นเสีย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่