ผมมีเรื่องราวที่น่าสนใจมานำเสนอ เป็นการแนะนำการเขียน การสะกดคำ การทับศัพท์ ที่จะทำให้การเขียนหนังสือไม่ผิด ซึ่งผมถอดเทปมาจากการบรรยายในหัวข้อ “เขียนอย่างไรไม่ให้ผิด” โดย คุณเบญจวรรณ แก้วสว่าง นักพิสูจน์อักษรมืออาชีพ และมีคุณวิภว์ บูรพาเดชะ ช่วยบรรยายเสริมด้วย ซึ่งงานนี้จัดโดยอุทยานการเรียนรู้ TK park เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00-16.00 น. ห้อง Learning Auditorium อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
(จริงๆ แล้วงานบรรยายนี้จัดมานานกว่า 4 เดือนแล้ว แต่ผมคิดว่าหัวข้อในวันนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ ผมจึงอยากจะนำรายละเอียดจากการบรรยายในครั้งนี้มานำเสนอ โดยข้อความในกระทู้นี้ทั้งหมดผมเขียนเรียบเรียงขึ้นมาจากการถอดเทปคำบรรยาย ดังนั้นถ้ามีข้อมูลหรือรายละเอียดใดผิดเพี้ยนไปจากที่ท่านวิทยากรพูดไว้ ผมก็ขออภัยมาล่วงหน้า ณ ที่นี้ด้วยครับ)
เริ่มต้นโดยมีแบบฝึกหัดให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนได้ลองทำดู เพื่อทำความรู้จักเกี่ยวกับการตรวจหาคำผิดก่อน
@ หน้าที่ของงานพิสูจน์อักษรสำหรับการทำหนังสือคือ การตรวจคำผิดเป็นความสำคัญประการแรก นอกจากนั้นจะต้องตรวจสอบความถูกต้องในหนังสือด้วย ซึ่งความถูกต้องนี้ไม่ใช่มีแค่เขียนถูกหรือเขียนผิดเท่านั้น ในสำนักพิมพ์ใหญ่เขาจะแยกเป็นแผนกงานพิสูจน์อักษรอย่างเดียว ส่วนอีกแผนกจะเป็นงานตรวจสอบข้อมูล แต่ในบริษัทเล็กๆ จะไม่มีหลายแผนก ดังนั้นทุกอย่างจึงมาอยู่ที่งานพิสูจน์อักษรอย่างเดียว ซึ่งนอกจากจะดูเรื่องคำถูกคำผิดแล้ว ในส่วนของข้อมูลเราก็ต้องช่วยตรวจสอบให้นักเขียนด้วย
@ และเมื่อตรวจสอบทุกอย่างเสร็จจนกระทั่งออกมาเป็นงานอาร์ตเวิร์ค 1 เล่ม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คหรือแม็กกาซีนก็ตาม เราก็ต้องดูด้วยว่าเลขหน้าถูกต้องไหม? เพราะในบางครั้งก็ไม่ได้ตั้งให้รันเลขหน้าอัตโนมัติ , รูปภาพประกอบถูกต้องไหม? คอลัมน์นี้ใช้ภาพนี้ใช่ไหม? ตัวอย่างเช่น ในคอลัมน์บทสัมภาษณ์ ถ้าเขากำลังพูดถึงเรื่องงานฝีมืออยู่ ภาพประกอบก็ควรจะอยู่ในหน้าเดียวกัน แต่ถ้าในหน้านี้เขาพูดถึงเรื่องงานฝีมืออยู่แต่เราไปเอารูปที่เขาอยู่ในครัวมาลง ก็ถือว่าเป็นความผิดพลาดเช่นกัน คนจัดหน้าเขาอาจจะเอารูปมาวางแล้วลืมตรวจสอบก็เป็นได้ หน้าที่ของงานพิสูจน์อักษรจึงเป็นงานตรวจสอบที่ต้องอ่านและดูอย่างละเอียด
@ อาชีพของนักพิสูจน์อักษรไม่ใช่อาชีพของครูสอนภาษาไทย แต่หน้าที่ของงานพิสูจน์อักษรคือการทำให้งานเขียนถูกต้อง ซึ่งในระหว่างที่เราทำให้มันถูกเราก็ต้องไปเช็คข้อมูลตามแหล่งต่างๆ ด้วย อย่างเช่นการเขียนภาษาไทยเราก็เข้าไปเช็คดูว่าเขาเขียนอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่? เราต้องทั้งเช็คและอัพเดทข้อมูลความถูกต้องอยู่ตลอดเวลาด้วย
@ สำหรับคนที่ทำงานเขียนหรือว่าชอบเขียนเรื่องราวลงบล็อกหรือลงเพจของตัวเอง ที่จะต้องเขียนเองและอัพเอง (ทำงานเขียนอยู่คนเดียว) เพื่อให้ท่านรู้ว่านอกจากการเขียนที่ดีที่ถูกต้องแล้วเราควรจะต้องระวังในเรื่องใดบ้าง? โดยมีอยู่ 5 ข้อหลักๆ ที่ต้องคำนึงถึงเสมอก่อนที่จะให้งานของเราปล่อยออกไป
@ ข้อที่ 1. ให้สงสัยอยู่เสมอว่าเราเขียนถูกต้องหรือไม่? อย่ามองข้ามคำง่ายๆ อย่างเช่นคำว่า “ปรานี” คำที่ถูกต้องควรใช้ น หนู หรือ ณ เณร ? , คำว่า “เลิกรา” ใช้ ล ลิง+ล ลิง หรือใช้ ล ลิง+ร เรือ? ฯลฯ ถ้าเราไม่ใส่ใจในคำง่ายๆ พวกนี้ เราอาจจะเขียนผิดไปตลอดเลยก็ได้ บางคนกว่าจะมารู้ตัวว่าเขียนผิดก็ต้องตอนที่มาทำงานพิสูจน์อักษรนี้แล้ว และวิธีที่จะจำให้ได้โดยไม่สับสนคือให้จำคำที่ถูกไว้ เช่นคำว่า “ปรานี” ให้จำความหมายว่าเอ็นดู ให้ใช้ น หนู ส่วนคำว่า “ปราณี” ที่ใช้ ณ เณร ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อคน , คำว่า “ไย” กับ “ใย” หลายคนเขียนผิดใช้ไม้ม้วนตลอด ถ้าเป็นคำว่า “ไย” ที่เป็นคำถามจะต้องใช้ไม้มลาย ฯลฯ คำง่ายๆ พวกนี้เป็นคำที่เราได้ยินทุกวันแต่เราไม่เคยรู้เลยว่าที่เขียนถูกต้องเขียนอย่างไร? คำง่ายๆ พวกนี้ถ้าเราเขียนโดยไม่ผิดเลยจะดีมาก เพราะมันจะแสดงถึงความใส่ใจในการเขียนของเราเอง
@ ข้อที่ 2. ตรวจสอบคำที่ถูกต้องจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 โดยเฉพาะถ้าเราเขียนของเราอยู่คนเดียวโดยไม่รู้ว่าจะไปถามใครดี ให้เราต้องตรวจสอบคำที่ถูกต้องจากพจนานุกรมฯ เสมอ เพราะพจนานุกรมฯ นี้เป็นเสมือนผู้คุมกฎในการเขียนภาษาไทย ซึ่งปัจจุบันนี้พจนานุกรมฯ มีทั้งแบบที่เป็นเล่มและเป็นแอพพลิเคชัน โดยเฉพาะถ้าเราอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เข้าเว็บพจนานุกรมได้เลย หรือสามารถโหลดแอพพลิเคชันพจนานุกรมใส่มือถือของเราได้ด้วย ถ้าเราเป็นคนที่อยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ออกไปจากเราเป็นข้อเขียนที่ถูกต้อง เราควรต้องขวนขวายตรวจสอบด้วยตัวเองเสมอว่าคำนี้ที่เราเขียนนี้เราเขียนถูกหรือไม่?
@ ข้อที่ 3. ความถูกต้องของข้อมูลเฉพาะเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันนี้เวลาที่เราจะพูดถึงคนอื่นหรืออ้างอิงถึงคนอื่นในงานเขียนของเรา เราควรต้องตรวจสอบความถูกต้องของชื่อเฉพาะนั้นด้วย เช่น ถ้าเราจะพูดถึงหน่วยงานหนึ่ง เราต้องเขียนให้ถูก สะกดถูก ที่อยู่ที่ตั้งถูก ฯลฯ โดยเฉพาะถ้าคุณอยู่ในฐานะของสื่อมวลชน ถ้าไปสัมภาษณ์ใครสักคนมา การจะเขียนถึงชื่อของเขาหรือตำแหน่งของเขาควรต้องเขียนให้ถูกต้องเสมอ หรือชื่อสถานที่หรือคำศัพท์วิชาการต่างๆ เราต้องจดรายละเอียดมาให้ชัดเจน หรือขอนามบัตรของเขามา หรือเข้าไปเช็คดูในเว็บไซต์ของทำงานเขา ฯลฯ เพราะถ้าคุณเขียนผิดหรือตรวจสอบไม่ดี มันจะกลายเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดสู่สาธารณะชน
@ ถ้าเราเป็นคนที่ทำงานด้านคอนเทนต์แล้ว ชื่อคนนี้สำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่นชื่อของคุณวิภว์ บูรพาเดชะ มีคนเขียนผิดเยอะมาก ฯลฯ และถ้าคนๆ นั้นเขาเป็นผู้ใหญ่หรือมีตำแหน่งใหญ่โตหรือเป็นคนที่มีชื่อเสียงในสังคม เราก็ไม่ควรจะเขียนชื่อของเขาผิด สำหรับข้อมูลเรื่องชื่อคนนี้เริ่มต้นควรมาจากตัวนักเขียนก่อนที่จะต้องถามชื่อจริง นามสกุลของเขามาให้ถูกต้อง บางครั้งชื่อสถาบันการศึกษาที่เขาเคยเรียนเราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย เราต้องให้เขาจดให้เราเพราะมันเป็นข้อมูลชื่อเฉพาะ รวมทั้งคำศัพท์วิชาการต่างๆ ด้วย ถ้ามีคำที่เราไม่รู้จักหรือเขียนไม่ถูก เราต้องให้เขาจดมาให้เราด้วย ชื่อบริษัท ชื่อหน่วยงาน กรม กอง ฯลฯ ก็ต้องเขียนให้ถูกด้วยเช่นกัน
@ ข้อที่ 4. เห็นความสำคัญของการเว้นวรรค ตัดคำที่ไม่จำเป็น คำซ้ำ หรือคำฟุ่มเฟือย ในการเขียนงานโดยเฉพาะงานเขียนที่มาจากการถอดเทปคำสัมภาษณ์ต่างๆ มักจะเจอคำซ้ำเสมอ เช่น คำว่า “ประมาณนั้น ประมาณนี้” , “ประมาณว่า” , “คือแบบ” , “คือว่า” ฯลฯ เราต้องตัดคำซ้ำเหล่านี้ทิ้งไป ถ้าเราสามารถตัดคำอะไรออกไปแล้วพออ่านทวนอีกครั้งแล้วเรายังเข้าใจอยู่ มันจะทำให้ข้อความของเรามันดูน่าอ่านมากขึ้น
@ ข้อที่ 5 ในหนังสือทั้งเล่มควรมีหลักการในใช้คำแบบเดียวกัน หรือในหนึ่งชิ้นงานเขียนของเราควรจะมีหลักการใช้คำในแบบเดียวกัน เพราะว่าคำบางคำเขียนได้ 2 แบบ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “ปกติ” หรือ “ปรกติ” เขียนได้ทั้ง 2 แบบ ถ้าในบทความของเราที่มีอยู่ 5 หน้ามีคำว่า “ปกติ” อยู่ 4 แห่ง เราก็ควรเลือกเป็นหลักของตัวเองว่าจะใช้คำไหน แล้วใช้คำแบบนั้นให้เหมือนกันไปตลอดทั้ง 4 แห่ง
@ แต่ถ้าเป็นงานเขียนของหนังสือหรือแม็กกาซีนหรือนิตยสาร ก็ควรมีหลักใช้ให้เหมือนกันทั้งองค์กรว่าคำที่เขียนได้ทั้ง 2 แบบนั้น คำไหนทั้งองค์กรจะเขียนแบบไหน ยกตัวอย่างบางบริษัทที่มีหนังสือหลายหัว (นิตยสารหลายชื่อ) เขาก็จะมีวิธีการเขียนไว้ใช้ร่วมกันทั้งองค์กรให้ชัดเจนไปเลย อาทิเช่น เขียนคำทับศัพท์คำว่า Lock จะเขียนแบบไหน “ล็อค” หรือ “ล็อก” เลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งแล้วให้ใช้เหมือนกันทั้งองค์กรไปเลย
@ สำหรับเรื่องคำทับศัพท์นี้ ทางราชบัณฑิตยสภาได้กำหนดหลักการเขียนคำทับศัพท์ออกมา แต่ต้องยอมรับว่าในบางครั้งจะใช้ตามที่ราชบัณฑิตยสภากำหนดก็ไม่ได้ เพราะมันจะเขียนยากจนเกินไป (หรือเขียนออกมาแล้วแปลกจนเกินไป) เราก็สามารถเลือกใช้วิธีการเขียนคำทับศัพท์ที่นิยมใช้กันทั่วไปแทนได้ โดยแอบถามเพื่อนๆ ที่อยู่รอบตัวว่า คำทับศัพท์นี้เขาเขียนกันอย่างไร? แล้วเราก็มาวิเคราะห์ดูว่าเราจะเลือกเขียนอย่างไรดี
@ ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบเขียน การอ่านหนังสือเยอะๆ จะเป็นตัวช่วยที่ดีในการฝึกให้เป็นคนที่เขียนถูกเสมอ อ่านเยอะก็จะเจอทั้งคำที่เขียนถูกด้วยและเจอคำที่เขียนผิดด้วย มันจะทำให้เราต้องฉุกคิดว่าคำไหนเขียนถูกกันแน่ พอเราสงสัยก็จะมีการสืบค้นเพื่อหาคำที่เขียนถูกต้อง จึงเป็นการสร้างความมั่นใจในการเขียนในแก่ตัวเองด้วย
@ ควรอ่านเยอะๆ เพื่อเก็บสิ่งต่างๆ เอาไว้ใช้ในงานเขียนของเราในภายภาคหน้าด้วย
@ ขอแนะนำแอพพลิเคชันที่ควรมีติดมือถือเอาไว้ โหลดใส่มือถือหรือใส่แท็บเล็ตเอาไว้ใช้งานในยามที่จำเป็นได้ ทั้ง 4 แอพนี้เป็นของราชบัณฑิตยสภา
1. Royal Society (Thai Dictionary แอพนี้คือพจนานุกรมฯ นั้นเอง)
2. Read and Write (อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร)
3. ชื่อบ้านนามเมือง
4. ภาษาอาเซียน
ท้ายสุดนี้ผมหวังว่าบทความในกระทู้นี้น่าจะพอเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่รักการเขียน และผู้มีอาชีพที่สร้างคอนเทนต์เนื้อหาต่างๆ อยู่บ้างไม่มากก็น้อย ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ โดยเขียนเป็นตัวหนังสือนะครับ
ขอให้ทุกท่านมีความสุขมากๆ ขอบคุณครับ
เขียนอย่างไรไม่ให้ผิด