เราเศร้า แต่อย่าจมปลัก

เราเศร้า แต่อย่าจมปลัก

คำว่าคำนี้ "ชื่นชม แต่อย่าหลงใหล" เป็นคำง่ายๆ เป็นคำสุดยอดของธรรม ทุกอย่าง ตรงนี้นะ สมมติว่าทางลบ "เราเศร้า แต่อย่าจมปลัก"

เศร้าได้ แต่อย่าจมปลัก ถ้าจมปลัก ซวยเลย ฉะนั้น เราเศร้าได้ เศร้าแล้วจบเลย อย่างเช่นคนภูมิปัญญาสูง เศร้า ๓ วัน เราก็ต้องเศร้า ๓ วัน แล้วก็จบ ถ้าไม่จบเราเดินต่อไม่ได้ เท่ากับเราติดแงก ติดลูกตุ้มแล้ว เราเป็นทาสล่ะ เราจมปลักไม่ได้ ความสวยงามเราชื่นชมได้ แต่อย่าหลงใหล

คำว่า "สังเวช" สมัยตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอรหันต์เกิดความสังเวช สลดใจ แต่ถ้าเป็นพระธรรมดา ก็จะพากันร้องไห้ คร่ำครวญ

คำว่า "สังเวช" คือ เศร้า แต่มีเวลา เศร้าในภาวะการณ์ แต่ยอมรับความจริงแห่งภาวะธรรม

เศร้าในภาวะการณ์นี้ แต่ยอมรับความจริงในภาวะธรรมนั้น ถ้าไม่คิดอย่างนี้ ก็จะจมปลัก ฉะนั้น เราอย่าไปจมปลัก

มันสวย งาม เราก็ชื่นชม แต่เราหลงใหลไม่ได้ เราหลงใหลเราก็ตาย ฉะนั้น เราชื่นชมไม่หลงใหล เศร้าไม่จมปลัก ชีวิตเราก็ปิติ เขาเรียกว่า ปิติในธรรม

คำว่า "ปิติในธรรม" คือ ยอมรับความจริงแห่งธรรมได้ เราก็มีความสุข ไม่ใช่ปิติในมารยา

ถ้าเราปิติในมารยา เราก็หลงใหล เราก็หลงใหลในสิ่งนั้น เวลานี้เราดูโทรทัศน์ เรามีความสุขมาก เราหลงใหลด้วย นี่แหละปิติในมารยา แต่เราต้องยอมรับความจริงแห่งธรรมว่า โทรทัศน์มันเสียได้ตลอด

ตรงนั้น ภาวะการณ์ เราดีใจในภาวะการณ์นี้ แต่ต้องยอมรับความจริงแห่งธรรม

เรามีเมียสวย เราชื่นชมเมียในภาวะการณ์นี้ เรามีความสุข แต่เราต้องเข้าใจว่า ภาวะแห่งธรรมนั้นไม่ใช่นะ จึงเป็นคำที่มาว่า "จริง" กับ "แท้"

สวยมั้ย สวยจริง แต่ไม่แท้

นี่ "ตาย" น่าเศร้า จริงแต่ไม่แท้

สวย ชื่นชม หลงรัก ในภาวะการณ์นั้น แต่ต้องยอมรับในภาวะธรรม

ถ้าเราคิดเป็นสรุปก็เป็นชั้นๆ คือ ชั้นมารยา กับ ชั้นในธรรม พอเราอยู่ในชั้นมารยา เราก็เป็นไปตามชั้นมารยา เพราะเรายังอยู่ในภูมินี้ แต่เราต้องมีภูมิปัญญาอีกภูมิหนึ่งด้วย ในธรรมด้วย ถ้าไม่เช่นนั้น เราก็หลงทาง ตกอยู่ในมารยาอย่างเดียว

เหมือนกับแสงตะวัน เหมือนกับดาวเหนือ ทำให้เราไม่หลงทาง พระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกตลอด พอเราเห็นพระอาทิตย์ขึ้นก็เป็นทางทิศตะวันออก

พอเรารู้ธรรม เราก็จะไม่หลง คือ เราอยู่ได้ เราสามารถอยู่ในภาวะการณ์นั้นได้ แต่เราจะไม่หลงติดในภาวะการณ์นั้น นี่แหละเขาเรียกว่า "หลุดพ้น"

^_^ ..._/\_... ^_^

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์

เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่