พบผู้ป่วยใช้ "กัญชา" จนวูบ คลื่นไส้อาเจียน เข้าห้องฉุกเฉิน รพ.มากขึ้น

พบผู้ป่วยใช้ "กัญชา" จนวูบ คลื่นไส้อาเจียน เข้าห้องฉุกเฉิน รพ.มากขึ้น

22 พ.ค. 2562 14:02

อย.ยังไม่สรุปคนแจ้งนิรโทษกัญชา คาดมีราว 20,000 คน เผยหลาย รพ.เจอคนวูบ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน มาห้องฉุกเฉินมากขึ้นจากการใช้กัญชา หมอมะเร็งย้ำกลุ่มหมดทางรักษาใช้น้ำมันกัญชาดูแลคุณภาพชีวิตได้ แต่กลุ่มรักษาได้ไม่ควรทิ้งแผนปัจจุบัน

วันนี้ (22 พ.ค.) นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการปิดรับแจ้งครอบครองกัญชาเพื่อไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ซึ่งเปิดบริการวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้าย ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน แต่คาดว่าจะมีผู้มายื่นรวมทั้งหมด 20,000 กว่าคน ซึ่งการครอบครองจะครอบครองต่อไปได้อีก 3 เดือน หรือ 90 วัน นับจากวันที่ 21 พ.ค. 2562 ก็จะพอดีกับการที่จะมีกัญชาในระบบขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) คือ ปลาย ก.ค.-ส.ค.

นพ.สุรโชค กล่าวว่า จากการสังเกตผู้ที่มาขอยื่นนิรโทษกัญชา ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งทาง อย.มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดว่า ผู้มายื่นขอนิรโทษต้องไม่ใช่เยาวชน หรือ ถ้าเป็นเยาวชนที่ป่วยต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง ขณะเดียวกันการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ในกฎหมายเขียนชัดว่า ต้องไม่ใช่ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะจะมีปัญหาทางสมอง และในใบสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ กำหนดให้ใช้กัญชาในผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปี เท่ากับประเทศออสเตรเลีย ยกเว้นโรคลมชักในเด็กที่กัญชาในประสิทธิผลดีในการรักษาเท่านั้น

นพ.สุรโชค กล่าวว่า จากการยื่นนิรโทษกัญชา ทำให้ขณะนี้ได้รับรายงานจากหลายโรงพยาบาล พบ ผู้ป่วยที่มีอาการ ปวดศีรษะ วูบ สลบ คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว มารับการรักษาในห้องฉุกเฉินมากขึ้น ซึ่งเมื่อสอบถามพบว่า เกิดการจากทดลองใช้กัญชา และคาดว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะพบผู้ป่วยในลักษณะอาการเช่นนี้มากขึ้น จึงเตรียมประสานให้มีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน ขณะเดียวกันประสานกรมการแพทย์ ให้มีการอบรมแพทย์ เภสัชกร ให้รู้ผลข้างเคียงหรือฤทธิ์จากการใช้กัญชา ซึ่งเชื่อว่าแต่ก่อนไม่พบผู้ป่วยมากขนาดนี้ เพราะเดิมกัญชายังไม่อนุญาตใช้ทางการแพทย์ และอยากให้เข้าใจว่า กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษรักษาได้ทุกโรค โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิต หรือหัวใจ รวมถึงอาการทางจิตเวช แต่อาจได้รับผลข้างเคียงจากกัญชา เพราะการใช้กัญชา ยังไม่มีการกำหนดขนาดที่เหมาะสม และสายพันธุ์ของกัญชาก็ให้สารและฤทธิ์ที่แตกต่างกัน บางตัวมีสารทีเอชซีสูง ทำให้เกิดอาการหลอนได้

นพ.เพชร อลิสานันท์ แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ยังไม่มียาจากน้ำมันกัญชาที่มีผลต่อการรักษาโรคมะเร็งโดยตรง แต่พบผู้ป่วยมะเร็งหาน้ำมันกัญชามาใช้เองทำให้ได้รับผลข้างเคียง เช่น เมา คลื่นไส้ นอนเยอะ คำว่าให้ได้หรือไม่ได้นั้นต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา และจริงๆ เราจะต้องแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคนไข้ที่ไม่มีแนวทางการรักษาโรคมะเร็งจำเพาะแล้ว กลุ่มนี้สามารถใช้ได้ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะอาจจะมีประโยชน์ และจริงๆ อาจจะช่วยให้คนไข้ พักผ่อนได้ นอนหลับ บรรเทาปวด แต่ก็ต้องดูที่ปริมาณที่ใช้ด้วย เพราะถ้าใช้มากเกินไปก็มีผลกระทบ กลุ่มที่ 2 คือ ยังมีแนวทางการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้ได้ แต่กลับทิ้งการรักษาเพื่อไปใช้น้ำมันกัญชาอย่างเดียว ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก ซึ่งพบว่ามีจำนวนหนึ่ง เนื่องจากว่าผู้ป่วยเข้าใจผิเดว่า กัญชาใช้รักษามะเร็งได้ ยิ่งคนที่สนับสนุนกัญชาบอกว่าให้ใช้ควบคู่กันไปก็เลยยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ตกลงแล้วการรักษาได้ผลเพราะอะไร

นพ.เพชร กล่าวว่า ยืนยันว่าเราไม่ได้ขวางเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะตนก็ยังมองว่ากัญชายังเป็นพืชที่มีโอกาสเอามาใช้ทางการแพทย์ได้ แต่ตอนนี้ยังดำเนินบนขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องบ้าง จึงอยากให้มีการทบทวนให้ดี อย่ามองว่ากัญชาคือยาวิเศษ แต่ต้องมองว่ามันคือยาตัวหนึ่ง ฉะนั้นถ้ามองแบบนี้ก็ต้องผลักดันให้ผ่านตามขั้นตอนปกติที่เป็นไปตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ และเป็นไปตามกฎหมาย บางคนบอกว่ารอไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าไม่จริง เพราะถ้าเร็วไปแล้วไม่ได้ผล หรือมีผลกระทบใครรับผิดชอบ ดังนั้นอยากให้สังคมคิดให้ช้าลงนิดหนึ่ง เราไม่ได้ปฏิเสธ แต่มันมีขั้นตอนของมันอยู่ สิ่งที่ตนกังวลทุกครั้งที่มีแพทย์ออกมาให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งมักถูกโจมตีรับเงินจากบริษัทยามาหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าไม่จริง แต่ที่แพทย์หลายคนออกมาพูดเพราะเป็นห่วงคนไข้

https://mgronline.com/qol/detail/9620000048746
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่